จ่าเฉยอัจฉริยะ 4.0 ติดกล้องตรวจจับหมวกกันน็อค

จ่าเฉยอัจฉริยะ 4.0 ติดกล้องตรวจจับหมวกกันน็อค

ระบบตรวจจับผู้ไม่สวมหมวกนิรภัยอัตโนมัติเป็นกิมมิคช่วยตำรวจจราจรล่าสุดของ “จ่าเฉย” ผลงานนักวิจัยสถาบันเอไอที เล็งดีเดย์ใช้สงกรานต์นี้

บุษกร ภู่แส-เรื่อง

ระบบตรวจจับผู้ไม่สวมหมวกนิรภัยอัตโนมัติเป็นกิมมิคช่วยตำรวจจราจรล่าสุดของ “จ่าเฉย” ผลงานนักวิจัยสถาบันเอไอที เล็งดีเดย์ใช้จับปรับรับเทศกาลสงกรานต์ ปี 60 หวังลดการสูญเสียจากอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์ ขณะที่ภาคธุรกิจสนใจซื้อไลเซนส์นำไปใช้ในงานรักษาความปลอดภัยที่ภูเก็ต ลพบุรีและฉะเชิงเทรา


จ่าเฉย เป็นชื่อเรียกหุ่นตำรวจจราจรถือกำเนิดเมื่อปี 2550 กระทั่ง 8 ปีถัดมาได้รับการติดตั้งเทคโนโลยีให้ทำหน้าที่มากกว่าหุ่นเชิงสัญลักษณ์ เริ่มจากจ่าเฉย 1.0 ตรวจจับการเหยียบเส้นทึบ จ่าเฉย 2.0 การออกใบสั่งอัตโนมัติ จ่ายเฉย 3.0 ตรวจจับความเร็ว ฝ่าฝืนกฎจราจร ล่าสุดจ่ายเฉย 4.0 ระบบตรวจจับผู้ไม่สวมหมวกนิรภัยอัตโนมัติ


กระตุ้นสวมหมวกกันน็อค


ปัญหาการเสียชีวิตของคนไทย 1 ใน 5 เกิดจากอุบัติเหตุโดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ปี 2558 จำนวนผู้ขับขี่ที่เสียชีวิตจากการไม่สวมหมวกนิรภัยสูงถึง 2,040 คน ขณะที่ผู้ที่สวมเสียชีวิต 145 คน สะท้อนให้เห็นว่า การสวมหมวกนิรภัยช่วยลดความสูญเสียทั้งร่ายกายและชีวิตได้ ขณะที่ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ระบุว่า การสวมหมวกนิรภัยสามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุได้ถึง 40% และลดความเสี่ยงในการบาดเจ็บสาหัสได้ประมาณ 70% นอกจากนี้ถ้ามีการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพจะสามารถบังคับการสวมหมวกนิรภัยของผู้ขับขี่และผู้โดยสารรถจักรยานยนต์ได้ถึง 90%


ดร.มงคล เอกปัญญาพงศ์ นักวิจัยภาควิชาไมโครอิเล็กทรอนิกส์และระบบสมองกลฝังตัว คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย หัวหน้าโครงการตรวจสอบการสวมหมวกนิรภัยอัตโนมัติเพื่อความปลอดภัยของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ ได้พัฒนาเทคโนโลยีสำหรับจ่าเฉยมาตั้งแต่แรกเวอร์ชันแรก กล่าวว่า โครงการนี้เป็นการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อช่วยการทำงานของตำรวจจราจร


“พฤติกรรมผู้ขับขี่ส่วนใหญ่ขาดวินัย ไม่สวมหมวกนิรภัย ทำให้เกิดความสูญเสียเวลาที่เกิดอุบัติเหตุ รวมทั้งเป็นการทำผิดกฎหมาย ดังนั้น เทคโนโลยีดังกล่าวเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ โดยได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย”


ระบบตรวจสอบการสวมหมวกนิรภัยอัตโนมัติใช้หลักการของคอมพิวเตอร์วิชันและแมชชีนเลิร์นนิ่ง ติดตั้งตามเสาไฟฟ้า หรือไฟสัญญาณจราจรที่ระดับความสูง 5 เมตรขึ้นไป ทำหน้าที่เลือกยานพาหนะที่เป็นจักรยานยนต์แล้วตรวจสอบว่า ผู้ขับขี่สวมหมวกนิรภัยถูกต้องหรือไม่ โดยสำรวจบริเวณศีรษะของผู้ขับขี่ ถ้าระบบไม่พบการสวมใส่หมวกนิรภัยจะถ่ายภาพทั้งบริเวณด้านหน้า/ด้านข้าง และด้านหลังของจักรยานยนต์พร้อมกัน โดยทำการระบุภาพของผู้ที่กระทำผิด ซึ่งจะเชื่อมข้อมูลระหว่างกล้องทั้งด้านหน้า/ด้านข้างและด้านหลัง เพื่อเตรียมสู่ขั้นตอนการออกใบสั่ง 

ลดสูญเสียชีวิต-ทรัพย์สิน


"6 เดือนที่ผ่านมา บริเวณแยกโบสถ์แม่พระ ทิศทางจากถนนจตุรทิศมุ่งหน้าถนนประชาสงเคราะห์ ผลการวิจัยโดยใช้อัลกอริทึมต่างๆ กับระบบการค้นหาจักรยานยนต์ในภาพ ได้ค่าความถูกต้องในการทำนาย 89% การหาตำแหน่งศีรษะของผู้ขับขี่และผู้โดยสาร และการตรวจสอบการสวมหมวกนิรภัย ได้ค่า 85% การค้นหาตำแหน่งป้ายทะเบียนรถจักรยานยนต์ได้ค่า 97% การทำงานของระบบจดจำป้ายทะเบียน 70% ส่วนการตรวจจับภาพด้านหน้าหลัง ได้ภาพที่จับได้ถูกต้อง 96.58% ถือเป็นตัวเลขที่ยอมรับได้และจะเกิดความแม่นสูงขึ้นจากการใช้งาน


พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก ผู้บังคับการตำรวจจราจร กล่าวว่า อยู่ระหว่างการพิจารณาที่จะนำระบบดังกล่าวมาใช้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ แต่ต้องพิจารณาเรื่องการจัดซื้ออุปกรณ์ดังกล่าวอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ระบบที่ผู้วิจัยได้คิดค้นนี้อยู่ในรูปแบบของซอฟต์แวร์และใช้เพียงข้อมูลภาพทำให้สามารถนำไปใช้งานได้ในวงกว้าง ซึ่งจะช่วยให้การบังคับใช้กฎหมายจราจรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ท่ามกลางข้อจำกัดเรื่องกำลังพลที่ต้องปฏิบัติหน้าที่มีเพียง 3,000 นาย เทียบกับจำนวนจักรยานยนต์ที่จดทะเบียนมีมากกว่า 3 ล้านคันในเขตกรุงเทพฯ