ปิดตำรา เปิดความรู้ นอกห้องเรียน

ปิดตำรา เปิดความรู้ นอกห้องเรียน

จากทัศนคติด้านการศึกษาแบบเดิมที่ พ่อ-แม่ ผู้ปกครอง และครูส่วนใหญ่ยังมีความเชื่อที่ว่า การเรียนที่อยู่ในห้องเรียนเป็นเรื่องสำคัญ

 เพราะอยากให้บุตรหลานได้ “ใบเบิกทาง” สู่เส้นทางการทำงานมั่นคง และรายได้ที่ดี

แต่ในมุมมองของยังมีผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชน ได้ชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญที่ผู้ปกครองอาจตกหล่นไป นั่นก็คือ “การเรียนรู้นอกห้องเรียน” ซึ่งถือว่ามีความสำคัญกับคนในศตวรรษที่ 21 เป็นอย่างมาก

ชิษณุวัฒน์ มณีศรีขำ ผู้บริหารโครงการศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า “จากประสบการณ์การทำงานในโครงการ Active Citizen เป็นระยะเวลากว่าสองปี พบว่า กระบวนการเรียนรู้โดยพาเด็กเรียนรู้วิถีชุมชนของตนเอง หรือการทำ Community Project นั้นไปช่วยเสริมการเรียนรู้ของเด็กในห้องเรียน ไม่ว่าจะในระดับมหาวิทยาลัย มัธยม รวมถึงประถม ส่งให้ผลการเรียนโดยรวมดีขึ้น เพราะเด็กเหล่านี้ได้ฝึกทักษะเรื่องการฟัง พูด คิด ถาม เขียน”

ในมุมมองของเขา เห็นว่า คนรุ่นใหม่ในยุคต่อไปจะต้องเท่าทันกับสถานการณ์ และสามารถที่จะนำเทคโนโลยี การวิจัย และนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ เพื่อที่เราจะก้าวไปสู่การยกระดับประเทศไทยให้เป็นประเทศไทย 4.0 

“อย่างเยาวชนในโครงการฯ ที่ทำเรื่องของการฟื้นฟูหรือการยกระดับการทำนาเกลือ เดิมทีเขาก็ไม่อยากที่จะทำนาเกลือ แต่พอน้องเข้ามาร่วมโครงการกับเรา เขากลับเห็นคุณค่าของอาชีพนาเกลือ รู้ที่จะดึงเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ไปใช้ในการที่จะพัฒนาตัวผลิตภัณฑ์จากเกลือ ไปทำเป็นเกลือสปา ไปทำเกลือสำหรับการแปรรูปเกลือที่มีคุณภาพมากขึ้น ในขณะเดียวกันเขาก็ไปชักชวนเพื่อนๆ ในมหาวิทยาลัยและอาจารย์มาเรียนรู้คุณค่าของนาเกลือในพื้นที่ ซึ่งอันนี้เขาคงไม่ได้แค่พัฒนาได้กับตัวเอง แต่ว่ามันจะนำไปสู่การยกระดับของการใช้วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีทำให้เกิดนวัตกรรม ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเกลือ ซึ่งในอนาคตอาจจะพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเกลือ ให้ไปเชื่อมโยงสู่การรักษาอาชีพการทำนาเกลือ ซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิมของคนที่นี่ได้ เป็นต้น”

.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “ในสังคมไทยขณะนี้มีอยู่ 2 มิติ อันแรก คือ เด็กเรียนรู้ในห้องเรียนแล้วไปเรียนรู้นอกห้องเรียน นั่นคือ การไปติววิชา นี่คือ ความคิดของคนส่วนใหญ่เพื่อหวังให้ลูกตัวเองเก่งกว่าคนอื่น รู้เทคนิคการสอบ แล้วสามารถเรียนต่อได้ แต่อีกกระบวนการหนึ่งที่ผมคิดว่าตอบโจทย์ทั้ง 2 ส่วน ทั้งเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงและดิจิทัลอีโคโนมี (Digtial Economy) คือ กระบวนการเรียนรู้ลงสู่ชุมชน ไปพัฒนาโจทย์วิจัย ไปร่วมออกแบบพูดคุยกับครูภูมิปัญญา ปราชญ์ท้องถิ่น สิ่งเหล่านี้จะทำให้เด็กแล้วเริ่มคิดวิเคราะห์ มองหาข้อมูลเป็น สรุป แล้วก็เพิ่มทักษะ” 

การเพิ่มทักษะนอกตำราเรียนนั้น สามารถช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เด็กได้จริง โดยจะถูกพัฒนาขึ้นมาตามลำดับ ผ่านกระบวนการ และกิจกรรม

“เด็กที่ผ่านกิจกรรม เขาจะมีสิ่งที่แตกต่างจากเด็กที่ไปกวดวิชา คือ เขารู้จักคุณค่า รักท้องถิ่นตัวเอง แล้วมีความภาคภูมิใจในสิ่งที่เขาฝัน เขาจินตนาการ เขามุ่งมั่นแล้วเขาทำสำเร็จ ในขณะที่เด็กอีกกลุ่มหนึ่งมันเป็นความสำเร็จเชิงปัจเจก มันไม่ได้คิดเพื่อส่วนรวม ไม่ได้คิดเพื่อท้องถิ่น ไม่ได้คิดเพื่อคนอื่น เพราะฉะนั้นคน 2 กลุ่ม ในอนาคตผมคิดว่าเราจะมีความขัดแย้งกันในระดับที่มีวิธีการคิดแตกต่าง ผมจึงอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ตระหนักถึงการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับไทยแลนด์ 4.0 มาคุยกันว่า ทั้งสองเรื่องนี้ เราสามารถทำให้ไปในทิศทางเดียวกันได้หรือไม่ หรือมีความต่างกันอย่างไร 

เพราะถ้าเราจะดึงเด็กไปทางดิจิทัลอีโคโนมี (Digtial Economy) เพียงอย่างเดียวโดยไม่มีรากฐานของชุมชน สังคมเลย จะทำให้เราสูญเสียพลเมืองที่ดี (active citizen) และมีแต่พลเมืองที่คิดแต่เรื่องประโยชน์ของตนเอง แต่ถ้าเราสามารถสร้างความเข้าใจหลักการที่ถูกต้อง ทำให้ทั้งสองส่วนสอดคล้องกลมกลืนอย่างชัดเจน แล้วออกแบบกระบวนการเรียนรู้ผ่านครู ผ่านโรงเรียนที่ดีๆ แล้วพาเด็กออกไปเรียนรู้ชุมชน สังคม ตั้งโจทย์ไปสร้างแรงบันดาลใจ ก็จะทำให้ประเทศไทยมีเยาวชนที่มีคุณภาพดีที่สุดในโลกแน่นอน” ศ.ดร.สมพงษ์ เอ่ย

เสริมโดย ปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ที่เห็นว่า ปัจจุบันยังมีผู้ปกครองที่มีค่านิยมของการที่บอกว่า “เด็กเก่งต้องเรียนเก่ง” หรือจะต้องสอบโอเน็ตได้ดี สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ 

“อยากให้ผู้ปกครองมองว่า เมื่อบุตรหลานของเราจบจากมหาวิทยาลัย เขาจะไปทำอะไร และเมื่อจบมา ลูกเราหลานเราซึ่งเป็นหนึ่งในจำนวนหลักหมื่นที่มีการแข่งขันเข้าสู่ตลาดแรงงาน เข้าสู่บริษัทใหญ่ๆ พวกเขาจะมีโอกาสถึง 1% หรือไม่ เพราะฉะนั้นพ่อ แม่ ผู้ปกครองต้องคิดใหม่ว่า เด็กเองนอกจากเรียนรู้จากตำราแล้ว ต้องเรียนรู้จากชีวิต ที่มาจากโจทย์จริง ยิ่งเขาเรียนรู้โจทย์จริง ในชีวิต หรือในชุมชนเร็วเท่าไหร่ เขาจะพัฒนาความเข้าใจชุมชน พัฒนาศักยภาพ วิธีทำงาน แล้วก็มีจิตใจที่ยิ่งใหญ่ ที่ไม่ใช่คิดถึงตัวเอง ถ้าเด็กมีคุณลักษณะแบบนี้ ทำงานเป็น รู้จักสังคม เข้าใจเพื่อน ทำงานเป็นทีมได้ นี่แหละคือคุณสมบัติที่ผู้ประกอบการทั้งหลายมองหา และรู้จักเอาความรู้ไปปรับใช้ แล้วการทำงานเป็นทีมเวิร์คได้นั้นมันก็ยิ่งส่งผลให้เขาเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าและเป็นที่ต้องการของสังคมต่อไป”

อย่างไรก็ตาม ในความเห็นของทั้ง 3 กูรู ยังมองว่า ความรู้ในห้องเรียนก็ยังคงมีความสำคัญอยู่ เพียงแต่การเรียนรู้นอกห้องเรียน จะสามารถเข้ามาช่วยพัฒนาศักยภาพของเยาวชน ด้านการเรียนรู้ คิดวิเคราะห์ พัฒนาทักษะ จากการที่เขาค้นหาคำตอบด้วยตนเอง ซึ่งจะช่วยให้เยาวชนได้เรียนรู้และเกิดความเข้าใจในเรื่องนั้นๆ ได้อย่างลึกซึ้ง

นี่อาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้คุณครูยุคใหม่ พ่อ-แม่ ผู้ปกครอง เปลี่ยนความเชื่อเดิมๆ จากการหาความรู้ที่อยู่มีในตำราเรียน สู่การเรียนรู้ในรูปแบบการเสริมสร้างประสบการณ์ชีวิตของคนในยุคศตวรรษที่ 21