ไฟเขียวรื้อระบบจัดซื้อจัดจ้าง 'ราชการ-รัฐวิสาหกิจ’

ไฟเขียวรื้อระบบจัดซื้อจัดจ้าง 'ราชการ-รัฐวิสาหกิจ’

ครม.ไฟเขียวปรับระบบจัดซื้อจัดจ้างทั้งหน่วยงานราชการ-รัฐวิสาหกิจ หวังเป็นเครื่องมือสร้างความโปร่งใสในระยะ 6 เดือน

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (28 ก.พ.) เห็นชอบแนวทางการปรับระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐทั้งในส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจเพื่อป้องกันปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันซึ่งแนวทางที่ประกาศใช้นี้สอดคล้อง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐปี 2560 ที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้วเมื่อวันที่ 4 ก.พ.ที่ผ่านมา แต่ต้องใช้เวลาอีก 180 วันหรือในเดือน ส.ค.จึงจะมีผลบังคับใช้

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การปรับระบบดังกล่าวเพื่อให้การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถแก้ไขปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างได้ก่อนที่ พ.ร.บ.ดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ จึงให้ใช้แนวทางที่ประกาศครั้งนี้มีผลตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.2560 เป็นต้นไป

สำหรับแนวทางการปรับระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่ประกาศใช้ครั้งนี้ประกอบด้วยแนวทางดังนี้คือ ปัญหาเกี่ยวกับการกำหนดขอบเขตของงาน (ทีโออาร์) ไม่ชัดเจน หรือกำหนดคุณลักษณะเฉพาะเป็นการล็อกสเปค และกำหนดราคากลางสูงเกินความเป็นจริงไม่สมเหตุผลเป็นการกีดกันทำให้ไม่เกิดการแข่งขัน จะแก้ไขโดย ให้คณะกรรมการความร่วมมือป้องกันการทุจริต กำหนดหลักเกณฑ์ให้มีผู้สังเกตการณ์ เป็นบุคลากรผู้มีความรู้ความสามารถเข้ามาสังเกตการณ์ตั้งแต่จุดเริ่มต้นโครงการ การกำหนดราคากลาง การจัดทำทีโออาร์ จะทำให้โครงการมีความโปร่งใสตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ

นอกจากนี้ ให้มีการจัดตั้งอนุกรรมการเพื่อสอบทานราคากลางงานก่อสร้าง โดยมีองค์ประกอบจากหน่วยงานภาครัฐ องค์กรวิชาชีพ นักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการก่อสร้าง โดยให้กรมบัญชีกลางนำข้อมูลการจัดซื้อครุภัณฑ์ในระบบe-GP มากำหนดเป็นราคากลางครุภัณฑ์และปรับปรุงข้อมูลราคากลางให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ และทำหน้าที่ตรวจสอบราคากลางของการก่อสร้างต่างๆ เมื่อมีโครงการใหม่ออกมาจะมีคณะอนุกรรมการชุดนี้ เข้ามาตรวจสอบราคากลางโครงการของภาครัฐว่าสมเหตุสมผลหรือไม่

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า ให้กรมบัญชีกลางจัดทำฐานราคากลางของสิ่งของต่างๆหรือครุภัณฑ์ที่ภาครัฐต้องใช้ เพื่อให้เป็นมาตรฐานแทนที่จะให้หน่วยงานเป็นผู้กำหนดเอง

ประเมินผลผู้ประกอบการป้องกันฮั้ว

สำหรับการแก้ปัญหาเรื่องการฮั้วประมูลนั้น จะมีแนวทางแก้ไขดังนี้คือ จะเพิ่มกรอบอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับหลักเกณฑ์และตรวจสอบราคากลางงานก่อสร้าง โดยให้มีอำนาจกำหนดรายชื่อผู้ประกอบการงานก่อสร้างที่มีสิทธิเป็นผู้ยื่นข้อเสนอต่อหน่วยงานของรัฐ จากเดิมในอดีตให้หน่วยงานต่างๆกำหนดรายชื่อเอง ซึ่งบางครั้งเหลือแค่3รายชื่อจึงมีโอกาสเกิดการฮั้วกันได้มากและให้กรมบัญชีกลางกำหนดแนวทางการประเมินผลของผู้ประกอบการ

โดยพิจารณาจากความสามารถของคู่สัญญาในการปฏิบัติงานตามสัญญา หากมีผู้ประกอบการรายใดรับงานแล้วมีปัญหาเป็นประจำ ทำงานไม่เสร็จตามสัญญา จะมีการประเมินผลไว้ และจะมีผลต่อความสามารถในการเข้ามาประมูลงานของรัฐ

เกิน5พันล้านใช้'อินเตอร์เนชั่นแนล บิดดิ้ง'

นอกจากนี้ ในการแก้ไขการฮั้วประมูล จะมีการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันมากขึ้น

“งานก่อสร้างที่มีวงเงินตั้งแต่ 5,000 ล้านบาทขึ้นไป มีรายละเอียดซับซ้อน มีเทคนิคเฉพาะ จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ต้องใช้บุคลากรในสาขาวิชาชีพการก่อสร้างขั้นสูงหรือช่างผู้มีฝีมือโดยเฉพาะ หรือมีความชำนาญเป็นพิเศษ เช่น ทางยกระดับ อุโมงค์ใต้ดิน ท่าเรือขนส่ง ท่าอากาศยานจะต้องประกาศประกวดราคานานาชาติ หรือ อินเตอร์เนชั่นแนล บิดดิ้ง จะทำเฉพาะคนไทยไม่ได้ ต้องเปิดประมูลให้นานาชาติเข้าร่วม สำหรับงานอื่นที่ไม่ใช่งานก่อสร้างและมีมูลค่าตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ที่มีความซับซ้อน มีเทคนิคเฉพาะ และใช้เทคโนโลยีขั้นสูง จะต้องเปิดโอกาสให้มีผู้ประกอบการต่างประเทศเข้าร่วมได้เช่นกัน จะใช้เฉพาะผู้ประกอบการที่จดทะเบียนในประเทศไทยอย่างเดียวไม่ได้” นายกอบศักดิ์ กล่าว

ตัดเอเย่นต์คนกลางสินค้าไฮเทค

ส่วนปัญหาเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างผ่านคนกลางหรือเอเย่นต์โดยราคาไม่สมเหตุสมผล ทั้งที่รู้ว่ามีผู้ผลิตและรู้ราคาผลิตภัณฑ์ แต่เมื่อจัดซื้อจัดจ้างต้องไปซื้อผ่านคนกลางในราคาที่สูงนั้น มีแนวทางแก้ไขปัญหาดังนี้คือ ในการจัดซื้อพัสดุที่มีรายละเอียดของสินค้าที่ซับซ้อน มีเทคนิคเฉพาะและจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง โดยมีผู้ผลิตน้อยราย

ส่วนนี้ต้องซื้อสินค้ากับผู้ผลิตสินค้าโดยตรง ไม่ซื้อผ่านผู้แทนจำหน่าย นอกจากจะมีความจำเป็นแต่ต้องชี้แจงได้

เปิดเผยข้อมูลทุกปี-ห้ามรับของเกิน3พันบาท

นอกจากนี้ ยังมีแนวทางอื่นๆอีก ทั้งเรื่องการกำหนดแนวทางการกำกับดูแลบริษัทในเครือรัฐวิสาหกิจให้มีการบริหารจัดการที่โปร่งใส รวมถึงแนวทางการเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างอย่างเป็นระบบเป็นประจำทุกปี โดยหน่วยงานต้องประกาศว่าแต่ละปีจัดซื้อจัดจ้างเรื่องอะไรไป และมีบริษัทใดได้งานบ้าง เพื่อให้เห็นว่าไม่ได้มีปัญหาเรื่องเจ้าประจำ ถ้ามีการผูกขาดเจ้าเดียวจะเห็นได้จากรายงานประจำปีที่ทำมา

ให้หน่วยงานภาครัฐกำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อกำกับไม่ให้ข้าราชการและพนักงานของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ รับทรัพย์สิน สิ่งของ หรือประโยชน์อื่นใดที่มีมูลค่าเกินกว่า 3,000 บาท ซึ่งเป็นไปตามประกาศของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีโดยเคร่งครัด

“ทั้งหมดนี้จะเป็นแนวทางช่วยแก้ปัญหาความไม่โปร่งใส และลดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทย รวมถึง คณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างหรือซูเปอร์บอร์ดที่เพิ่งประกาศไป จะมีอำนาจในการจัดการดูแลโครงการที่มีมูลค่ามากกว่า 5,000 ล้านบาทขึ้นไป หรือเป็นโครงการที่สังคมสนใจ จะทำหน้าที่กำกับ ติดตาม เร่งรัดการจัดซื้อจัดจ้างตั้งแต่เริ่มทำแผนจนกระทั่งสิ้นสุดสัญญา พร้อมทั้งมีอำนาจสั่งแก้ไขและรับเรื่องร้องเรียน สิ่งที่รัฐบาลดำเนินการเหล่านี้ จะทำเรื่องชี้แจงส่งให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่ประเมินความโปร่งใสของประเทศไทยรับทราบต่อไป”

นอกจากนี้ ครม.มีมติรับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 9/2560 เรื่อง แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจัดจ้างตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรื่องการกำกับการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐ ประกอบไปด้วย นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการ นายกานต์ ตระกูลฮุน นายมนัส แจ่มเวหา นายสมพล เกียรติไพบูลย์ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ