ส่งออกเดือนม.ค.พุ่ง8.8% ตลาดหลักฟื้น-จีนโต30%

ส่งออกเดือนม.ค.พุ่ง8.8% ตลาดหลักฟื้น-จีนโต30%

ส่งออกเดือนแรกเป็นบวกต่อเนื่องเดือนที่ 3 ขยายตัวแรง 8.8% รับอานิสงส์ราคาน้ำมันขยับขึ้น ขณะตลาดหลักขยายตัวทุกตลาด สะท้อนการค้าโลกเริ่มปกติ

กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่าในเดือน ม.ค. 2560 มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 17,099 ล้านดอลลาร์ หรือ 6.09 แสนล้านบาท ขยายตัวอยู่ที่ 8.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 มาจากตลาดหลักขยายตัวและราคาสินค้าเกษตรขยับสูงขึ้น

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่าส่งออกได้รับปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะสหรัฐ ที่ขยายตัว 9.5% จีนขยายตัว 30.8% และสหภาพยุโรป 10.4% ประกอบกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวดีขึ้นเฉลี่ย 53.4 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็นผลให้ราคาสินค้าเกษตรสำคัญ และสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมันเริ่มปรับตัวดี

ทั้งนี้ เมื่อหักสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันและทองคำ การส่งออกของไทยยังขยายตัวอยู่ที่ 4.8%

ภาพรวมส่งออกในเดือน ม.ค.ที่ผ่านมาเป็นบวกต่อเนื่องในเดือนที่ 3 มีปัจจัยบวกมาจากปริมาณการค้าโลกกลับมาเป็นปกติ การค้ากลับมามีเสถียรภาพมากขึ้น โดยเฉพาะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญ อย่างสหรัฐ จีน ยุโรป เริ่มมีทิศทางเป็นบวก ซึ่งจากการประเมินสถานการณ์การค้าโลกแล้วพบว่า แนวโน้มการส่งออกในปีนี้จะขยายตัวต่อเนื่อง ราคาน้ำมันและทองคำยังคงส่งสัญญาณปรับตัวดี สินค้าเกษตรราคาดี อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ในเกณฑ์เหมาะสม ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในปีนี้กำลังฟื้นตัวอย่างช้าๆ

แต่ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตาเป็นพิเศษคือการเลือกตั้งในสหภาพยุโรปเพราะหากมีนโยบายกีดกันการค้าอาจทำให้ยุโรปขาดเสถียรภาพ

สินค้าเกษตรโต9.7%-อุตฯขายตัว4.7%

อย่างไรก็ดี สำหรับปัจจัยหนุนสำคัญจากการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร พบว่าในเดือน ม.ค.2560 มีมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรขยายตัวอยู่ที่ 9.7% และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรขยายตัว 4.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

การส่งออกสินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ ยางพาราขยายตัวถึง 62.5% ด้วยมูลค่าส่งออก 515 ล้านดอลลาร์ เป็นผลจากราคาตลาดโลกสูงสุดในรอบ 3 ปี ขณะที่ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ขยายตัวอยู่ที่ 48.8% มูลค่า 160 ล้านดอลลาร์ เช่นเดียวกับไก่แปรรูป ขยายตัวอยู่ที่ 8.6% มูลค่าส่งออก 165 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ สินค้าเกษตรสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ข้าว ลดลง 20.2% มันสำปะหลัง 11.% รวมทั้งกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ลดลง 26.3%

ขณะที่ มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวอยู่ที่ 7.6%เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัวสูง ได้แก่ ทองคำ ขยายตัว 157.6%เครื่องคอมพิวเตอร์ และส่วนประกอบขยายตัว 30.1% แผงวงจรไฟฟ้า ขยายตัว 8.6% น้ำมันสำเร็จรูป ขยายตัว 48.3%ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 1.5% และผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัว 28.2% ในขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัวมากได้แก่ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ ลดลง 5.9% เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ลดลง 6.4% และอัญมณีเครื่องประดับไม่รวมทอง ลดลง 4.7%

สำหรับตลาดส่งออกสำคัญในภาพรวมเดือน ม.ค.ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ 80% เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปี 2559 โดยตลาดหลักเพิ่มขึ้น 8.8% เช่น สหภาพยุโรป (15 ประเทศ) เพิ่ม 10.4% สหรัฐ เพิ่ม 9.5% ญี่ปุ่น เพิ่ม 6.4%ตลาดศักยภาพสูงเพิ่ม 14.7% เช่น จีน เพิ่ม 30.8% เอเชียใต้ เพิ่ม 24.0% เกาหลีใต้ เพิ่ม 28.1%อาเซียน (9 ประเทศ) เพิ่ม 10.3% และซีแอลเอ็มวี เพิ่ม 6.4%

ขณะที่ ตลาดที่หดตัวลง พบว่ามีตลาดตะวันออกกลาง แอฟริกา และทวีปออสเตรเลีย โดยลดลงในระดับ 19.2% 1.6% และ 0.3% ตามลำดับ

มั่นใจตามเป้าเดิมโตในกรอบ2.5-3.5%

นางสาวพิมพ์ชนก ยังกล่าวอีกว่า เป้าหมายการส่งออกในปีนี้ในกรอบ 2.5-3.5% ยังมั่นใจว่าสามารถดำเนินได้ตามเป้าหมาย ส่วนเป้าขยายตัว 5% ตามที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีมอบหมายไว้ก็มีความเป็นไปได้ จากการประเมินปัจจัยบวกสำคัญที่ส่งผลดีต่อการส่งออกทั้งเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจคู่ค้า ที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นและมีสัญญาณฟื้นตัว รวมถึงราคาน้ำมันที่คาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ในกรอบ 50-60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งจะทำให้ราคาสินค้าเกษตรรวมถึงสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันราคาสูงขึ้นตามไปด้วย

อย่างไรก็ดี จากการประเมินมูลค่าการส่งออกของไทยตามเป้าหมายที่กำหนดไว้นั้น พบว่าหากการส่งออกขยายตัวอยู่ในกรอบ 3.5%จะมีมูลค่า 222,863 ล้านดอลลาร์ โดยจะต้องส่งออกให้ได้เฉลี่ยเดือนละ 18,572 ล้านดอลลาร์ และหากมีการผลักดันภาคส่งออกขยายตัวในกรอบ 5% จะมีมูลค่าอยู่ที่ 226,093 ล้านดอลลาร์ โดยจะต้องส่งออกให้ได้เฉลี่ยเดือนละ 18,841 ล้านดอลลาร์

สินค้าเกษตรขยับตามราคาน้ำมัน

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้อำนวยการศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี) กล่าวว่า การส่งออกเดือนม.ค.ที่เติบโตค่อนข้างดี สาเหตุหลักมาจากปัจจัยเรื่องราคาสินค้าเกษตรและราคาสินค้าที่เกี่ยวข้องกับพลังงานปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งสินค้าอุปโภคบริโภคเหล่านี้มีสัดส่วนของการส่งออกรวมอยู่ที่ 15% เมื่อราคาสินค้าเหล่านี้ปรับตัวเพิ่มขึ้น จึงทำให้มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นตามด้วย

ส่วนเป้าหมายการส่งออกที่รัฐบาลตั้งเอาไว้ 5% ในปีนี้ ทางทีเอ็มบีมองว่าเป็นเป้าหมายที่ท้าทายพอสมควร เพราะแม้การส่งออกเดือน ม.ค.จะขยายตัวได้ดี แต่ถ้ามองไปข้างหน้ายังมีปัจจัยที่ท้าทายการส่งออกของไทยค่อนข้างมาก โดยในส่วนของทีเอ็มบีมองว่า การส่งออกไทยปีนี้น่าจะขยายตัวได้ราว 1.5-2%

จับตาการค้าสหรัฐ-จีนกระทบไทย

“ปีนี้ดูจะยังมี headwind (ลมต้าน) ค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นมาตรการกีดกันการค้าของสหรัฐ ที่อาจนำมาใช้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายสหรัฐให้อำนาจประธานาธิบดีสหรัฐ ที่จะใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าจากประเทศนั้นอีก 15% เป็นเวลา 150 วัน ซึ่งถ้าจีนโดนมาตรการนี้ ก็คงส่งผลกระทบกับการส่งออกของไทยพอสมควร เนื่องจากไทยส่งสินค้าไปจีนเพื่อผลิตและส่งต่อไปยังสหรัฐพอสมควร ซึ่งเรามองว่าการส่งออกไปสหรัฐปีนี้อาจหดตัว 1.5%”

นายนริศ กล่าวว่า นอกจากสหรัฐแล้ว ตลาดหลักอย่างยุโรปที่อยู่ในช่วงฟื้นตัวก็ยังมีความเสี่ยงอยู่พอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของอังกฤษ (เบร็กซิท) ยังมีความเสี่ยงที่ฝรั่งเศสอาจจะเดินตามรอยดังกล่าวด้วย ทำให้ตลาดยุโรปอาจเติบโตได้ไม่ดีนัก ซึ่งทีเอ็มบีมองว่า ปีนี้การส่งออกไปยุโรปมีโอกาสหดตัวด้วยราว 2%

ส่วนปัจจัยที่เป็นลมหนุนหรือ Tail Wind เป็นเรื่องราคาสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งราคาสินค้าเกษตรและราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็นแรงหนุน ขณะเดียวกันการส่งออกไปยังกลุ่มซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) มีแนวโน้มเติบโตได้ถึง 6.5% และการส่งออกไปยังอาเซียน5 (อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บูไน) ก็น่าจะเติบโตได้ราว 3.7%

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่า อาจเป็นปัจจัยกดดันการส่งออกของไทยที่เพิ่มเติมเข้ามา แต่คงมีผลกับบางสินค้าและบางตลาดเท่านั้น เช่น ยางรถยนต์ ซึ่งมาเลเซียถือเป็นคู่แข่งไทยโดยตรง ในขณะที่ค่าเงินมาเลเซียอ่อนค่าลงถึง 10% สวนทางค่าเงินบาทไทยที่แข็งค่าขึ้น 1% ทำให้การส่งออกในส่วนนี้ได้รับผลกระทบบ้างพอสมควร