'คสช.'จวกป้าย'We need food'บิดเบือน ม.44

'คสช.'จวกป้าย'We need food'บิดเบือน ม.44

“คสช.” จวกป้าย “We need food” หวังบิดเบือน ม.44 ถามอนาคตหากไม่มี “คสช.-ม.44 ” จะอยู่กันอย่างไร หากการใช้กฎหมู่เหนือกฎหมายยังคงอยู่

ที่กองบัญชาการกองทัพบก พ.อ.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีที่คสช.ได้มีคำสั่งที่ 5 / 60 เมื่อ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ให้อำนาจและ กำหนดพื้นที่ควบคุม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ในการบังคับใช้กฎหมาย บริเวณวัดพระธรรมกายและพื้นที่โดยรอบ ว่า ในห้วงที่ผ่านมา ประชาชนได้รับทราบข้อมูลข่าวสาร จากการนำเสนอ ของสื่อทุกประเภท ที่เป็นกลางตรงไปตรงมา ด้วยความจริง ในขณะเดียวกันจะได้เห็นเหตุการณ์ ต่าง ๆ ตั้งแต่การปลุกระดมมวลชนมาต่อต้าน การเคลื่อนไหว ของแกนนำมวลชน ที่เคยใช้ความรุนแรง และอดีตนักการเมือง เข้ามาในพื้นที่ การบิดเบือนข้อมูล สร้างภาพอันเป็นเท็จเพื่อปลุกกระแส ในสังคมออนไลน์ เช่นการปล่อยข่าวเจ้าหน้าที่จะยึดหรือนำพระทองคำของทางวัดไป เจ้าหน้าที่มีอาวุธและใช้ความรุนแรงกับพระและมีการขัดขวางการตรวจสอบใบสุทธิของพระ มีการแขวนป้าย We need food เพื่อเจตนาบิดเบือน ว่าเจ้าหน้าที่ห้ามนำอาหารเข้าไปภายในวัด เหล่านี้เป็นต้น โดยพยายามจุดกระแสว่า คำสั่งตามมาตรา44  คือประเด็นปัญหา   

พ.อ.ปิยพงศ์ กล่าวต่อว่า สิ่งเหล่านี้คสช.ต้องการชี้ให้เห็นว่า นี่คือปัญหาร่วมกันของคนในประเทศ ที่กฎหมายอะไรก็ยุติคนไม่ดีไม่ได้ และวันข้างหน้าถ้าไม่มีม.44 ไม่มีคสช.เราจะอยู่กันอย่างไรและอนาคตจะเป็นอย่างไร การใช้กฎหมู่ไม่เคารพกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม อันจะนำไปสู่ความเดือดร้อนวุ่นวาย  โดยก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ได้ปฎิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย ตั้งแต่การเจรจา และขอเข้าตรวจค้น ตามคำสั่งของศาล ซึ่งนอกจากจะไม่ได้รับความร่วมมือแล้ว ยังถูกขัดขวางทุกวิถีทาง การแถลงข่าวการป่วยไม่สามารถไปไหนได้ การกดดันและต้องการให้เกิด ภาพการกระทบกระทั่ง จนสุ่มเสี่ยงต่อการ ที่จะนำไปสู่ความรุนแรงขึ้น คสช.จึงจำเป็น ต้องใช้กฎหมายพิเศษ เข้าควบคุมพื้นที่ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม คำสั่งที่ 5/60 ไม่ได้กระทบกระเทือน ริดรอนสิทธิ หรือสร้างผลกระทบ ต่อประชาชนโดยทั่วไป แต่อย่างใด ในทางตรงข้ามจะเป็นเครื่องมือให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งกฎหมายปกติ ไม่สามารถทำได้                                 

“คสช.ขอเรียนยืนยันที่จะดำรงไว้ซึ่งความมั่นคงของประเทศชาติ บังคับใช้กฎหมายอย่าง เป็นธรรมและเสมอภาค มีมาตรการต่างๆ ที่เหมาะสมตามขั้นตอน เพื่อให้เกิดความสงบสุข เรียบร้อยของบ้านเมือง และยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องคง คำสั่งดังกล่าวไปอีกระยะหนึ่ง จนเป็นที่มั่นใจได้ว่าการบังคับใช้กฎหมายได้ดำเนินไปตามกรอบและคำสั่งของศาล และกระบวนการยุติธรรม ที่ถูกต้องสมบูรณ์ แม้ว่าอาจต้องใช้เวลา หรือพบกับอุปสรรคขัดขวาง ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ผู้ปฎิบัติงานทุกฝ่าย จะดำรงความมุ่งหมายให้เกิดความเรียบร้อยโดยเร็วที่สุด กับทั้งขอความร่วมมือสนับสนุนจาก สื่อมวลชน ได้เสนอข้อมูลที่ถูกต้องตามความเป็นจริง เพื่อความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย อย่างต่อเนื่องต่อไป” พ.อ ปิยพงศ์  กล่าว