ค่ายรถยันเดินหน้าอีโคคาร์เฟส 2

ค่ายรถยันเดินหน้าอีโคคาร์เฟส 2

ค่ายรถยันเดินหน้าต่อ “อีโคคาร์เฟส2” เผยรอตลาดฟื้นตัวเต็มที่ รับเงื่อนไขเข้ม ระบุการออกนโยบายภาครัฐ เบรกเพื่อนบ้านคิดโครงการดึงลงทุนต่างชาติ

หลังจากภาครัฐกำหนดเงื่อนไขส่งเสริมการลงทุนรถยนต์ “อีโค คาร์ เฟส 2” ในปี 2557 เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนใหม่ๆ และมีสินค้าที่จะเป็นโปรดักท์ แชมเปี้ยน สำหรับการส่งออกเพิ่มขึ้นจากสินค้าหลัก คือ รถปิกอัพ 1 ตัน และรถอีโค คาร์ เฟส 1 โดยเบื้องต้นมีผู้ที่แสดงความสนใจเข้าร่วมโครงการ 10 ค่าย คือ มิตซูบิชิ โตโยต้า ทาทา ฟอร์ด เจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) นิสสัน มิตซูบิชิ ซูซูกิ ฮอนด้า และโฟล์คสวาเก้น

ทั้งนี้เงื่อนไขของอีโค คาร์ ผู้ได้รับการอนุมัติจะต้องเริ่มลงทุนภายในปี 2562 แต่ถึงปัจจุบัน มีเพียงแต่มาสด้าเพียงค่ายเดียวเท่านั้นที่ผลิตและจำหน่ายรถอีโค คาร์ เฟส 2 ขณะที่ค่ายอื่นยังไม่มีความเคลื่อนไหว อย่างไรก็ตามผู้บริหารหลายค่าย ยืนยันว่ายังไม่ทิ้งโครงการนี้

โตโยต้าเผยยังมีเวลาเตรียมตัว

นายวุฒิกร สุริยะฉันทนานนท์ รองผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า โตโยต้ามองว่า อีโค คาร์ เป็นโครงการที่จะช่วยสร้างโอกาสทางการตลาดได้มาก เพราะเชื่อว่าทิศทางความต้องการรถเล็กในอนาคตจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหลังจากที่รถในโครงการรถคันแรกครบกำหนดถือครอง 5 ปี ทำให้สามารถซื้อขาย ทำธุรกิจได้ ซึ่งจะทำให้มีผู้บริโภคที่ขายรถคันเก่า และซื้อรถคันใหม่เพิ่มขึ้น และรถที่ซื้อในโครงการรถคันแรก ก็เป็นรถในกลุ่มอีโค คาร์ จำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม โตโยต้า ต้องการรอความพร้อมของตลาดจริงๆ เพราะอีโค คาร์ 2 ต้องใช้เงินลงทุน และมีเงื่อนไขที่เข้มข้น ขณะที่ตลาดรถยนต์ไทยเพิ่งจะเข้าสู่ช่วงของการฟื้นตัวหลังจากติดลบมาต่อเนื่องหลายปี

“เราศึกษาตลาดไทย พบว่าผู้จะเปลี่ยนรถคันใหม่อยู่ในช่วง 5-7 ปี แต่ส่วนใหญ่เลยจะอยู่ในช่วง 6 ปี และปลายปี 2559 เป็นช่วงที่ผู้ที่ซื้อรถในโครงการรถคันแรกถือครองครบ 5 ปี”

นายเคียวอิจิ ทานาดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ตลาดรถยนต์ไทยปี 2559 เชื่อว่าเป็นจุดต่ำสุดด้วยยอดขาย 7.68 แสนคัน ติดลบ 3.9% จากปีก่อนหน้า และเชื่อว่าปีนี้จะปรับตัวดีขึ้น แต่ไม่มากนัก ในระดับประมาณ 4% หรือมียอดขายประมาณ 8 แสนคัน

นิสสันชี้สัดส่วนอีโคคาร์พุ่ง15%

นายอันตวน บาร์เตส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ทั้งนี้ตลาดรถยนต์ไทย แม้จะลดลงในปีที่ผ่านมา แต่หากดูในรายละเอียดนอกจากรถเพื่อการพาณิชย์ที่มีสถานการณ์ที่ดีแล้ว กลุ่มรถเล็ก เช่น อีโค คาร์ และ บี เซ็กเมนต์ ก็มีทิศทางที่ดีเช่นกัน โดยอีโค คาร์ มีสัดส่วนตลาดที่เพิ่มขึ้นมาโดยตลาด และล่าสุดปี 2559 ขึ้นมาอยู่ในระดับ 15% ดังนั้นนิสสันจึงให้ความสำคัญกับตลาดนี้เป็นอย่างมาก ล่าสุดเสริมตลาดด้วย นิสสัน โน๊ต เครื่องยนต์เบนซิน 1.2 ลิตร ให้กำลังสูงสุด 79 แรงม้า ทำให้ปัจจุบัน นิสสัน มีอีโค คาร์ ทำตลาดแล้วรวม 3 รุ่น คือ มาร์ช ซึ่งเป็นอีโค คาร์ เฟส 1 รุ่นแรกของประเทศไทย เปิดตัวในเดือน มี.ค.2553 นิสสัน มาร์ช และนิสสัน โน๊ต อย่างไรก็ตาม นิสสัน โน๊ต ยังอยู่ในเงื่อนไข อีโค คาร์ เฟส 1

นางสาวสุรีทิพย์ ละอองทอง โฉมทองดี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด กล่าวว่า การที่โน๊ตยังเป็นอีโค คาร์ เฟส 1 เนื่องจากนิสสันได้สัญญากับภาครัฐว่าจะมีรถในตลาดนี้ 3 รุ่น แต่หลังจากนี้จะเดินหน้าเตรียมความพร้อมสำหรับ อีโค คาร์ เฟส 2 ต่อไป ซึ่งมั่นใจว่าจะเกิดขึ้นได้ทันกับเงื่อนไขเวลา

ทั้งนี้นิสสัน เป็นค่ายที่ผลิตรถอีโค คาร์ เฟส 2 ได้ตามเงื่อนไข 1 แสนคันใน 5 ปีแล้ว ดังนั้นจึงไม่ต้องกังวลกับเงื่อนไขข้อนี้ จึงสามารถเดินหน้าพัฒนาเฟส 2 ได้ง่ายขึ้น

ฟอร์ดชี้เงื่อนไขเข้มดันต้นทุนพุ่ง

นายณรงค์ สีตลายนต์ รองกรรมการผู้จัดการฟอร์ด ประเทศไทย กล่าวว่า ฟอร์ด ยังอยู่ในช่วงการวางแผนสำหรับอีโค คาร์ เฟส 2 ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบัน ยังไม่จำเป็นต้องรีบร้อนเปิดตัว เพราะตลาดรถนต์ไทยโดยรวมยังไม่ดีนัก เพิ่งจะเริ่มฟื้นตัวหลังจากที่ติดลบมาต่อเนื่องหลายปี

นอกจากนี้ก็ต้องพัฒนาอย่างระมัดระวัง เนื่องจากเงื่อนไขทางเทคนิคค่อนข้างเข้มข้น เช่น อัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงที่ต้องดีกว่า เฟส 1 และการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลดลง ซึ่งปัจจุบันมีเครื่องยนต์ที่สามารถทำได้ แต่มีต้นทุนสูง ทำให้ยากต่อการแข่งขันในตลาด จึงต้องพยายามหาจุดลงตัวยของเทคโนโลยี กับราคาให้ได้ก่อน

ด้านแหล่งข่าวจากวงการรถยนต์กล่าวว่า การที่ผู้ผลิตรถยนต์ยังไม่ความเคลื่อนไหวกับอีโค คาร์ เฟส 2 มากนัก มาจาก 2 ส่วน คือ รอตลาดมีความพร้อมทั้งตลาดในประเทศที่กำลังฟื้นตัว และตลาดต่างประเทศ ซึ่งปีที่ผ่านมาก็อยู่ในภาวะที่ไม่ดีนัก เนื่องจากเศรษฐกิจหลายประเทศชะลอตัว ซึ่งการต้องรอความพร้อมของทั้ง 2 ตลาด เนื่องจากเงื่อนไขจำนวนการผลิตที่เข้มข้นขึ้นคือ ยอดผลิต 1 แสนคัน ภายในปีที่ 4 ขณะที่เฟส 1 กำหนดปีที่ 5 ดังนั้นการพึ่งตลาดใดตลาดหนึ่งจะไม่เพียงพอ

และอีกส่วนหนึ่งคือต้นทุนการผลิตที่ยังสูงจากเงื่อนไขด้านอัตราสิ้นเปลือง และการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์

ชี้นโยบายป้องกันเพื่อนบ้านแข่งขัน

แหล่งข่าวกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโครงการนี้ยังไม่มีผู้ดำเนินการมากนัก แต่เชื่อว่าจะเป็นผลดีกับไทย เนื่องจากปัจจุบันมีหลายประเทศที่ต้องการดึงดูดการลงทุนของค่ายรถยนต์ โดยเฉพาะรถขนาดเล็ก และรถที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามกระแสโลก และการไทยเริ่มนโยบายนี้ก่อน ทำให้ค่ายรถต่างชาติต้องตัดสินใจเลือกว่าจะลงทุนที่ใด และจะไม่แบ่งการลงทุนไปยังหลายประเทศ