คลังสั่ง 3 กรมภาษีทำแผนเพิ่มการจัดเก็บรายได้

คลังสั่ง 3 กรมภาษีทำแผนเพิ่มการจัดเก็บรายได้

คลังสั่ง 3 กรมภาษีทำแผนเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ หลังไตรมาสแรกวูบ 1.1% ด้านสรรพสามิตงัดแผนรีดภาษีเครื่องดื่มน้ำหวาน - สิ่งแวดล้อม

การจัดเก็บรายได้ไตรมาสแรกปีงบประมาณ 2560 (ต.ค.-ธ.ค.2559) ของ 3 กรมภาษี มีรายได้รวม 5.24 แสนล้านบาท ซึ่งต่ำเป้าหมาย 1.1% โดยสรรพากรจัดเก็บรายได้ 3.66 แสนล้านบาท เกินเป้าหมาย 0.5% สรรพสามิต เก็บรายได้ 1.32 แสนล้านบาท ต่ำเป้าหมาย 1.6% และ ศุลกากร 2.56 หมื่นล้านบาท ต่ำเป้าหมาย 18% แต่ในภาพรวมรัฐบาลมีรายได้ 5.52 แสนล้านบาท เกินเป้าหมาย 5.2% เนื่องจากการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่น

อย่างไรก็ดี ในช่วงเดือนม.ค.ที่ผ่านมา การจัดเก็บรายได้เริ่มกลับมาเป็นบวกบ้างแล้ว แต่กระทรวงการคลัง ยังไม่พ้นความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การจัดเก็บรายได้ดังกล่าว นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง จึงสั่งการให้ 3 กรมภาษี เร่งจัดทำแผนเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้นำไปปฏิบัติให้เกิดผลโดยเร็ว เพื่อให้ปีงบประมาณ 2560 รายได้เป็นไปตามเป้า 2.53 ล้านล้านบาท เพราะประเมินว่า รัฐบาลคงจะไม่มีรายได้พิเศษเข้ามาเหมือนกับปีงบประมาณก่อน ที่มีรายได้ประมูลใบอนุญาต 4 G

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)กระทรวงการคลังกล่าว แม้ว่า ในเดือนที่ 4 ของปีงบประมาณ 2560 ผลการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลจะเริ่มกลับมาเป็นบวกบ้างแล้ว แต่ยังไม่นิ่งนอนใจไม่ได้ ปลัดกระทรวงการคลัง จึงสั่งการให้ 3 กรมภาษี เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้

หวังรายได้สรรพสามิตเสริม

นายกกฤษฎา กล่าวว่า ปัญหาการจัดเก็บรายได้ในช่วงที่ผ่านมาเกินกว่าเป้าหมาย แต่ภาพรวมรายได้ของ 3 กรมภาษียังต่ำเป้าหมาย โดยปีนี้ คาดหวังว่า รายได้ของสรรพสามิตจะเข้ามามีส่วนเสริมรายได้ของกรมอื่นที่กังวลว่า จะต่ำกว่าเป้าหมาย โดยเฉพาะศุลกากร ส่วนกรมสรรพากรนั้น ก็คาดว่า จะใกล้เคียงเป้าหมาย

“รายได้ของกรมสรรพสามิต ที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ที่ทำให้รายได้ต่ำไปบ้างจากยอดขายสุราและยาสูบที่หายไป แต่ในภาพรวมจะดีขึ้นจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เริ่มปรับเพิ่มใกล้ประมาณการของเรา และ รวมถึง การปรับขึ้นอัตราภาษีน้ำมันเครื่องบินและน้ำมันหล่อลื่นที่คาดว่า จะมีรายได้เข้ามาเพิ่มอีก 8 พันล้านบาท ซึ่งสศค.ก็ได้ปรับเป้าหมายการจัดเก็บให้กับกรมสรรพสามิตแล้ว”

เล็งรีดภาษีน้ำหวาน-สิ่งแวดล้อม

นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า สรรพสามิตจะมีผลพวงรายได้เพิ่มจากการบังคับใช้ ร่างพ.ร.บ.สรรพสามิตฉบับใหม่ ที่ใช้ราคาขายปลีกแนะนำ เป็นฐานในการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต แทนราคาหน้าโรงงาน หรือราคา CIF เพื่อให้ระบบการจัดเก็บภาษีมีความโปร่งใส เป็นธรรม และเป็นสากลมากขึ้น โดยกฎหมายดังกล่าว ซึ่งผ่านวาระสามของสนช.แล้ว รอโปรดเกล้า เพื่อลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา จะมีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจาแล้ว 180 วัน ระหว่างนี้กรมจะยกร่างประกาศกระทรวง ,ประกาศกรมสรรพสามิตและกฎกระทรวง รวม 78 ฉบับ เพื่อรองรับตัวกฎหมาย

นอกจากนี้ สรรพสามิตยังมีแผนจะจัดเก็บภาษีตัวใหม่ ทั้งภาษีที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และ ภาษีเครื่องดื่มที่มีค่าความหวานสูง โดยในส่วนภาษีเครื่องดื่มที่มีค่าความหวานสูงนั้น เพดานอัตราภาษี ที่เก็บตามค่าความหวาน จะอยู่ไม่เกิน 20 % โดยกรอบของอัตราภาษีดังกล่าว อ้างอิงจากพิกัดภาษีสรรพสามิต ที่เก็บจากสินค้าประเภทเครื่องดื่มที่มีการผสมน้ำตาล เช่น น้ำอัดลม ที่เก็บในอัตรา 20 % ของมูลค่า หรือ 0.45 บาท/440 CC

ให้เวลา 2 ปีเครื่องดื่มน้ำหวานปรับตัว

อย่างไรก็ตาม อัตราการจัดเก็บจริง จะใช้หลักแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการผลิตเครื่องดื่มที่มีความหวานน้อยลง โดยหากความหวานสูงอาจเก็บเต็มตามเพดาน และลดหลั่นลงมาตามค่าความหวาน เช่น 15 %, 10 % ,5 % หรืออาจ 0% เมื่อใช้หลักการเก็บภาษีบนค่าความหวานแล้ว ดังนั้นเครื่องดื่มหลายชนิดที่มีค่าความหวานแต่ในปัจจุบัน ยังไม่ถูกจัดเก็บภาษี ก็ควรจะถูกจัดเก็บด้วย เพื่อความเป็นธรรมสำหรับผู้ผลิตในหมวดเครื่องดื่มด้วยกัน ซึ่งปัจจุบันกรมกำลังศึกษาเรื่องการจัดเก็บภาษีชาเขียวและกาแฟกระป๋อง

“ผู้ประกอบการมีเวลาปรับตัว ก่อนที่จะนำระบบภาษีที่คิดจากค่าความหวานมาใช้ ในระยะเวลา 2 ปีนับจากนโยบายนี้มีความชัดเจนและประกาศใช้ จากเดิมที่ผู้ประกอบการขอเวลาปรับตัว 5 ปี ซึ่งคลังมองว่าเป็นเวลาที่ยาวเกินไป”

สำหรับผลการจัดเก็บรายได้รอบ 4 เดือนแรกของปีงบประมาณนี้ สรรพสามิตจัดเก็บได้ 1.3 แสนล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายราว 2 พันล้านบาท แต่คาดว่าเศรษฐกิจในปีนี้ ที่ปรับตัวดีขึ้น บวกกับการปลดล็อคการเปลี่ยนมือโครงการรถยนต์คันแรกที่ครบ 5 ปีแล้ว น่าจะผลักดันให้ยอดขายรถยนต์ในประเทศ เป็นไปตามเป้าหมายที่ 8 แสนคันในปีนี้ น่าจะส่งผลดีต่อการจัดเก็บภาษีตามเป้าหมายในปีงบประมาณนี้ที่ตั้งเป้าไว้ที่ 5.55 แสนล้านบาท ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2561 กรมได้รับมอบหมายให้จัดเก็บภาษีที่ 6 แสนล้านบาท

สรรพากรเน้นจับตากลุ่มเลี่ยงภาษี

ด้านนายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากรเผยกว่า สรรพากรได้ส่งแผนเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ให้ปลัดกระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว โดยในแผนได้ยืนยันถึงเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ของกรมที่จะเป็นไปตามเป้าที่วางไว้

การจัดเก็บรายได้ไตรมาสแรก เป็นไปตามเป้าหมาย แต่ในเดือนม.ค.ที่ผ่านมา จะต่ำกว่าเป้าหมาย เพราะไม่มีรายได้พิเศษจากช่วงในช่วงเดียวกันของปีก่อนมีรายได้จากการประมูลคลื่น 4 G เข้ามา ขณะเดียวกัน ในเดือนม.ค.ยังมีการขอลดหย่อนภาษีเรื่องการลงทุนตามมาตรการของรัฐเข้ามาด้วย ทำให้รายได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

ส่วนแผนการเพิ่มประสิทธิภาพ จะเน้นน้ำหนักในกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการเลี่ยงภาษีมากที่สุด โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีการขอคืนภาษีจำนวนมาก กลุ่มที่มีการขอใบกำกับภาษีปลอม และกลุ่มที่ทำธุรกิจทัวร์ศูนย์เหรียญเป็นต้น ขณะเดียวกัน การส่งเสริมให้กลุ่มผู้ประกอบการที่จดทะเบียนเสียภาษีบุคคลธรรมดาเปลี่ยนเป็นเสียภาษีในรูปแบบนิติบุคคลก็จะทำให้กรมฯมีฐานภาษีที่กว้างขึ้น ซึ่งก็จะส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้ที่จะเพิ่มขึ้นด้วย โดยกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้ประกอบธุรกิจค้าทอง ร้ายขายยา และท่องเที่ยว รวมถึงอยู่ระหว่างศึกษาภาษีใหม่ เช่น ค้าขายผ่านออนไลน์ หรือโฆษณาบนเฟซบุ๊คเป็นต้น

ดึงร้านขายยา-ทอง-ท่องเที่ยวเข้าระบบ

แหล่งข่าวจากกรมสรรพากร กล่าวถึงความคืบหน้า ดึงธุรกิจร้านทอง ธุรกิจร้านขายยา และ ธุรกิจท่องเที่ยว เข้ามาจดทะเบียนเป็นนิติบุคค ขณะนี้ ธุรกิจค้าทองได้ทยอยเข้าจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลมากกว่า 60% ของผู้ประกอบธุรกิจกว่า 7 พันรายทั่วประเทศ ทำให้สามารถจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้น โดยก่อนตัวเลขยอดขายทองที่เคยเฉลี่ยประมาณ 1 พันล้านบาทต่อวัน ได้ก้าวกระโดดอย่างเห็นได้ชัด ทำให้เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากค่ากำเหน็จเพิ่มขึ้นชัดเจน

ส่วนธุรกิจร้านขายยาและธุรกิจท่องเที่ยว ขณะนี้ ยังไม่เข้ามาจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลมากนัก โดยธุรกิจร้านขายยา สาเหตุสำคัญ คือ การรอมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่จะแก้ไขให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถโอนใบอนุญาตจากที่จดทะเบียนบุคคลธรรมดาเป็นนิติบุคคลได้ทันที ซึ่งขณะนี้ ครม.ได้อนุมัติีแล้ว อยู่ในขั้นตอนการประกาศกฎกระทรวง

“ธุรกิจร้านขายยายังไม่กล้ามาจดเป็นนิติบุคคล เพราะกลัวว่า ใบอนุญาตที่จดในรูปแบบบุคคลธรรมดากับกระทรวงสาธารณสุขจะสิ้นสุดลง ซึ่งการขอใบอนุญาตใหม่จะเป็นเรื่องที่ยาก ดังนั้น จึงรอให้มีการแก้ไขให้ธุรกิจสามารถโอนใบอนุญาตเป็นนิติบุคคลโดยไม่ต้องไปจดทะเบียนใหม่ออกมาก่อน ทั้งนี้ ธุรกิจร้านขายยาทั่วประเทศมีประมาณ 2.1 หมื่นราย”

สำหรับธุรกิจท่องเที่ยว ขณะนี้ อยู่ในขั้นประชาสัมพันธ์ เชิญชวนให้เขามาเป็นนิติบุคคล ปัจจุบัน มีผู้ประกอบธุรกิจประมาณ 1 แสนราย ซึ่งทั้ง 3 ธุรกิจดังกล่าว คาดว่า จะมีผู้ประกอบธุรกิจเข้ามาจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประมาณ 1 แสนราย

สศค.ชี้รายได้กรมศุลฯน่าเป็นห่วง

ด้านกรมศุลกากรนั้น สศค.ระบุว่า เป็นกรมฯที่น่าเป็นห่วงเรื่องของการจัดเก็บรายได้มากสุด เพราะได้รับผลกระทบจากข้อตกลงการค้าเสรีต่างๆทำให้ภาษีที่จะจัดเก็บได้นั้น ลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะการใช้สิทธิภาษีสำหรับการผลิตสินค้าในกลุ่มประเทศอาเซียน รวมถึง การนำเข้าที่ลดลง ทำให้รายได้ส่วนนี้หายไปด้วยเช่นกัน