แนะ 'รัฐ' ศึกษา 'เคสต่างประเทศ' รีดภาษีโซเชียล

แนะ 'รัฐ' ศึกษา 'เคสต่างประเทศ' รีดภาษีโซเชียล

วงการอินเทอร์เน็ตในไทยจี้รัฐหารือบริษัทโซเชียลจริงจัง เหตุเม็ดเงินยังไหลออกนอกประเทศไม่หยุด แนะรัฐศึกษากรณีตัวอย่างในต่างประเทศ ดึงปรับใช้

เม็ดเงินที่ไหลเวียนอยู่บนธุรกิจออนไลน์ในไทยนับวันยิ่งมีมูลค่ามหาศาล เฟซบุ๊ค ประเมินว่าโอกาสที่จะเชื่อมธุรกิจเข้ากับผู้บริโภคในยุคดิจิทัลในไทยนั้นมีสูงถึง 1.41 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่ เทรนด์ของโลก และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปใช้สมาร์ทโฟนมากขึ้น จ่ายเงินซื้อสินค้าบนอินเทอร์เน็ต ใช้โซเชียลติดต่อสื่อสาร จูงใจให้แบรนด์ทุ่มทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในโซเชียลยักษ์ใหญ่

แหล่งข่าววงการอินเทอร์เน็ต กล่าวว่า ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น คือ ด้วยเพราะบริษัทเหล่านี้ เป็นบริษัทที่ให้บริการบนอินเทอร์เน็ต ไม่ได้ลงบัญชีรับรายได้ในประเทศไทย ขณะที่ การเข้ามาตั้งบริษัทในไทยเพียงเพื่อใช้ทำการตลาดและการขายเท่านั้น จึงไม่มีบัญชีรายได้ในไทย ส่งผลให้การตามเก็บภาษีจากบริษัทเหล่านี้ลำบาก รวมถึงการซื้อสินค้าเพื่อความบันเทิงอื่น เช่น เกม เพลง แอพพลิเคชั่นต่างๆ บนสโตร์ออนไลน์ ที่ต่อปีเงินเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในไทยเลย

“หากรวมเม็ดเงินโฆษณาออนไลน์ และบริการออนไลน์อื่นๆ ที่ไหลออกไปนอกประเทศผ่านบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอินเทอร์เน็ตระดับโลกหลายๆ ราย น่าจะมีอยู่ที่มากกว่า 2.5-3 หมื่นล้านบาทต่อปี ไม่ว่าจะเป็น การซื้อไอเท่มในเกม การซื้อสินค้า เพลง คอนเทนท์ดิจิทัลต่างๆ ” แหล่งข่าว กล่าว

‘เฟซบุ๊ค-กูเกิล’ ปัดตอบ
นายจอห์น แวกเนอร์ กรรมการผู้จัดการเฟซบุ๊ค ประเทศไทย กล่าวปฏิเสธก่อนหน้านี้ ในประเด็นเรื่องภาษี โดยระบุว่า ไม่อยู่ในบทบาทที่จะให้ความเห็นได้ แต่หน้าที่ที่ทำอยู่นั้น มองว่า เทคโนโลยีเฟซบุ๊คเป็นเครื่องมือช่วยให้ธุรกิจเข้าถึงกลุ่มลูกค้า หรือโอกาสใหม่ๆ ในยุคดิจิทัล คอนซูเมอร์ได้มากกว่า  เช่นเดียวกับผู้บริหารกูเกิลในไทย ที่ปฏิเสธให้ความเห็นในเรื่อง “ภาษี” มาตลอดเช่นกัน

“อินโดฯ” เอาจริง
ขณะที่ เคสของกูเกิลนั้น มีตัวอย่างในประเทศอินโดนีเซียในรอบปีที่ผ่านมา กรมสรรพากร อินโดนีเซีย สอบข้อมูลของกูเกิล พบว่า มีรายได้จากค่าโฆษณาราว 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เฉพาะเมื่อปี 2557 (ราว 28,000 ล้านบาท) แต่เสียภาษีในอัตราไม่เกิน 0.1% เท่านั้น ซึ่งรัฐบาลจาการ์ตาชี้ว่า “ไม่เป็นธรรม” ตามกฎหมายนิติบุคคลต้องเสียภาษีเงินได้ที่ 10% ต่อปี สรรพากรอินโดนีเซียอาจเรียกเก็บภาษีย้อนหลังครอบคลุมระยะเวลาทั้งหมดราว 5 ปี เป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 14,000 ล้านบาท)นับว่า อินโดนีเซีย เป็นประเทศแรกๆ ในภูมิภาคนี้ ที่เริ่มต้นสอบสวนและหาทางเก็บภาษีจากบริษัทที่ให้บริการด้านอินเทอร์เน็ต รวมถึง ยาฮู ทวิตเตอร์ และเฟซบุ๊คด้วย

ประเด็นการเก็บภาษีดิจิทัล บางประเทศในยุโรปอย่างอังกฤษ ก็เริ่มดำเนินการไล่เก็บภาษีจากบริษัทอินเทอร์เน็ตยักษ์ใหญ่แล้วเช่นกัน เช่น ในอังกฤษมีข้อมูลระบุว่า กูเกิลได้จ่ายภาษีย้อนหลังให้อังกฤษราว 185 ล้านดอลลาร์

แหล่งข่าว กล่าวว่า บริษัทโซเชียลรายใหญ่ในไทยขณะนี้ ทราบถึงมาตรการเก็บภาษีของกรมสรรพากรแล้ว โดยบริษัทเหล่านี้มีความตื่นตัวมาก เพราะหากรัฐเคาะมาตรการใดออกมา เช่น การเก็บภาษี แน่นอนว่ารายได้ของบริษัทเหล่านี้ จะหายไปมาก และจะกลายเป็นกรณีตัวอย่างให้แต่ละประเทศดำเนินมาตรการคล้ายคลึงกัน

ด้านนายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย กล่าวก่อนหน้านี้ว่า ที่ผ่านมา คนในวงการอินเทอร์เน็ตได้หารือถึงเรื่องดังกล่าวต่อเนื่อง โดยส่วนตัว เห็นว่า หน่วยงานภาครัฐควรมีมาตรการ หรือเปิดโต๊ะหารือกับบริษัทโซเชียลรายใหญ่ๆ ถึงแนวทางที่สามารถทำได้ ซึ่งปัจจุบันในต่างประเทศ โดยเฉพาะในเอเชียตื่นตัวที่จะให้บริษัทโซเชียลเหล่านี้ เสียภาษีในประเทศที่ไปเปิดให้บริการด้วย

แนะดูเคส “อินโด” ตัวอย่าง
แนวทางการเก็บภาษีเฟซบุ๊ค หรือกูเกิลไม่ได้เป็นประเด็นกับประเทศไทยเท่านั้น แต่เกิดขึ้นกับทุกประเทศที่ใช้โซเชียลเหล่านี้เป็นช่องทางโฆษณา ดังนั้นเป็นหน้าที่ภาครัฐที่ต้องเจรจาหาแนวทางการจัดเก็บภาษีให้ถูกต้องตามกฎหมาย

“มองว่าสิ่งที่รัฐ ควรทำก่อนอันดับแรก คือ การศึกษาแนวทางการดำเนินการของต่างประเทศ โดยเฉพาะในอินโดนีเซีย ที่มีเคสเหล่านี้ และทางรัฐบาลเขากำลังเอาจริงในเรื่องนี้มาก จากนั้น เราก็เอามาปรับใช้ในประเทศ ที่ผ่านมาสมาคมที่เกี่ยวข้องด้านดิจิทัลเอง ก็ทำงานร่วมกับภาครัฐให้ข้อมูลอย่างต่อเนื่อง จริงๆ ประเด็นเหล่านี้ สามารถทำได้เร็ว อย่างในอินโดนีเซีย ที่ก็ใช้เวลาไม่นานในการดำเนินการเรื่องนี้”

นายภาวุธ กล่าวก่อนหน้านี้ด้วยว่า ปัจจุบัน การใช้งบโฆษณาปัจจุบัน เปลี่ยนไปสู่โซเชียลรายใหญ่ๆ มากขึ้นเป็นตัวเลขหลักหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้ออกนอกประเทศหมด เว็บไซต์ของไทยได้รับผลกระทบถ้วนหน้า ทั้งเว็บพอร์ทัล เว็บข่าวของสำนักสื่อต่างๆ จากที่เม็ดเงินโฆษณาถูกใช้ไปในช่องทางโซเชียลมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ข้อมููลของสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ DAAT คาดการณ์ว่า ปี 2560 จะมีเม็ดเงินโฆษณาออนไลน์รวม 10,533 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.2% จากปี 2559 ที่เม็ดเงินโฆษณาออนไลน์ 9,150 ล้านบาท ผลมาจากการที่แบรนด์สินค้าและบริการให้ความสำคัญกับสื่อโฆษณาออนไลน์เพิ่มขึ้น

มาตรการรัฐต้องชัดเจน
นายบุรินทร์ เกล็ดมณี ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของ เรดดี้ แพลนเน็ต กล่าวก่อนหน้านี้ว่า รัฐควรต้องจัดเก็บภาษีจากโฆษณาเฟซบุ๊ค หรือกูเกิล แต่ต้องมีการคิดวิธีการเก็บเงินที่มีความชัดเจน ซึ่งหากห้ามนำรายจ่ายค่าโฆษณาเฟซบุ๊ค หรือกูเกิล มาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษี ทางเอเจนซี่จะผลักภาระไปให้ลูกค้าหรือแบรนด์ เพราะไม่สามารถแบกรับภาษีทั้งหมด ผู้ประกอบการที่จะได้รับผลกระทบส่วนหนึ่ง คือ ธุรกิจขนาดเล็ก หรือเอสเอ็มอีที่ต้องรับภาระนี้เพิ่ม