ยุทธศาสตร์ ‘ยูทูบ’ ในไทย เพิ่ม “ครีเอเตอร์” บูมคอนเทนท์

ยุทธศาสตร์ ‘ยูทูบ’ ในไทย เพิ่ม “ครีเอเตอร์” บูมคอนเทนท์

ผู้สร้างที่ถ่ายทำในยูทูบ สเปซผลิตวิดีโอมากกว่า 10,000 รายการซึ่งทำให้เกิดการดูมากกว่า 1 พันล้านครั้งต่อวัน

วันนี้ ‘ยูทูบ’ มีผู้ใช้กว่าพันล้านคน เกือบถึง 1 ใน 3 ของจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งหมด ทุกๆ วันมีผู้คนเข้าดูยูทูบหลายร้อยล้านชั่วโมง มีการดูนับพันล้านครั้ง แค่ยูทูบบนอุปกรณ์เคลื่อนที่อย่างเดียว ก็สามารถเข้าถึงผู้ชมอายุ 18-34 และ 18-49 ปีได้มากกว่าเครือข่ายเคเบิลใดๆ ในสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันยูทูบมีอยู่ในภาษาต่างๆ มากขึ้น 76 ภาษา แน่นอนว่าครอบคลุมปริมาณผู้ใช้อินเทอร์เน็ตถึง 95%

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ยูทูบ เป็นแหล่งก่อกำเนิดคอนเทนท์แหล่งใหญ่ โดยบรรดา “ผู้สร้าง” หรือเรียกกันว่า ครีเอเตอร์ (Creator) ที่ผ่านมาจำนวนช่องที่ทำรายได้จำนวน 6 หลักต่อปีบนยูทูบมีเพิ่มขึ้น 50% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน

ขณะที่ยูทูบ มีทีม ยูทูบ สเปซ (YouTube Spaces) เน้นไปที่การช่วยผู้สร้างในการสร้างเนื้อหาที่ยอดเยี่ยมผ่านโปรแกรมและเวิร์คชอปเชิงกลยุทธ์ ส่วนใหญ่เป็นการดูแลจัดการด้านสิ่งอำนวยความสะดวกในการผลิต ปัจจุบันอยู่ในลอสแอนเจลิส นิวยอร์ก ลอนดอน โตเกียว เซาเปาโล และเบอร์ลิน ขณะที่ ในไทย เคยมีการทำยูทูบ ป็อป-อัพ สเปซ ตามสถานที่ต่างๆ ในไทยด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากยูทูบระบุว่า ตั้งแต่เดือน มี.ค. 2558 เป็นต้นมา ผู้สร้างที่ถ่ายทำในยูทูบ สเปซ ผลิตวิดีโอมากกว่า 10,000 รายการซึ่งทำให้เกิดการดูมากกว่า 1 พันล้านครั้งต่อวันและเวลาในการดูมากกว่า 70 ล้านชั่วโมง

ส่อง “ที่มั่น” ยูทูบในไทย
นายไมเคิล จิตติวาณิชย์ หัวหน้าฝ่ายการตลาด Google ประเทศไทย กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า เป้าหมายยูทูบในไทย คือ การเป็นแพลตฟอร์มที่คนไทยใช้เป็นประจำ คนไทยรักยูทูบ เห็นจากที่ประเทศไทยอยู่ใน 10 ประเทศที่ชมยูทูบสูงสุดทั่วโลก และยังมีชุมชนคอนเทนท์ ครีเอเตอร์ที่แข็งแรงและแข็งแกร่ง

"ตัวอย่างที่ชัดเจนสำหรับเรื่องนี้ คือ เรามีผู้สร้างระดับช่อง Gold Button ถึง 48 ช่องและช่อง Silver Botton อีกมากกว่า 600 ช่อง ยูทูบสนับสนุนครีเอเตอร์ทั่วประเทศอย่างจริงจัง เพื่อให้พวกเขาผลิตวิดีโอที่เข้าถึงและสร้างการมีส่วนร่วมไปพร้อมๆ กับการสร้างฐานผู้ติดตามอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างกิจกรรมที่ทำเพื่อช่วยครีเอเตอร์เหล่านี้ เช่น จัดงานยูทูบ ป็อป-อัพ สเปซในกรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ยูทูบจัด ป็อป-อัพ สเปซมากกว่าเมืองอื่นๆ ในเอเชีย”

ป็อป-อัพ สเปซ เป็นการเข้าถึงครีเอเตอร์ในช่วงเวลาสั้นๆ อย่างเข้มข้น เพื่อช่วยให้การเรียนรู้ของครีเอเตอร์ก้าวไปอีกขั้น การมีปฏิสัมพันธ์กับชุมชนครีเอเตอร์ด้วยกันและผลิตงานในสตูดิโอ ทั้งหมดนี้ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ

สร้างโอกาส “แบรนด์”
นายไมเคิล กล่าวต่อว่า ยูทูบในไทย ยังเป็นช่องทางที่ทำให้ธุรกิจสร้างแบรนด์ และเข้าถึงผู้บริโภคได้กว้าง พร้อมยังมีส่วนร่วมได้สูงสุด แบรนด์ต่างๆ นำเสนอความคิดสร้างสรรค์มากมายๆ ผ่านโฆษณาสำหรับฟอร์แมตยูทูบโดยเฉพาะ เช่น โฆษณาความยาว 6 วินาที ที่เป็นมิตรกับการชมจากโทรศัพท์ เป็นต้น ในเวลาที่สมาร์ทโฟนทำให้ผู้คนเข้าถึงวิดีโอจากที่ไหนก็ได้ เมื่อไหร่ก็ได้ที่พวกเขาต้องการชม เป็นการเพิ่มช่องทางให้ผู้คนเข้าถึงวิดีโอได้

“ธุรกิจของไทยตั้งแต่สินค้าทั่วๆ ไป ไปจนถึงธนาคารหรือมากกว่านั้น ต่างใช้วิดีโอออนไลน์เป็นช่องทางเล่าเรื่อง และสร้างแบรนด์โดยอาศัยพลังของภาพ เสียงและการเคลื่อนไหว Ads Leaderboards หรือโฆษณาไทยบนยูทูบ เป็นตัวชี้วัดที่เห็นได้ชัดว่า แบรนด์ต่างๆ ของไทยใช้แพลตฟอร์มนี้อย่างมีประสิทธิภาพขนาดไหน สิ่งหนึ่งที่แบรนด์ต่างๆ แชร์คือการตอบสนองทางอารมณ์ หัวเราะหรือร้องไห้ ที่แบรนด์ต่างๆ ในกลุ่ม Leaderboards ทุ่มเทนำเสนอคอนเทนท์ เพื่อให้ผู้คนตอบสนองเป็นอันดับแรก และขายสินค้าภายหลัง ผลคือคนดูเลือกดูเนื้อหาของแบรนด์มากมายหลายครั้ง บางกรณีเป็นหลายล้านครั้ง” นายไมเคิล กล่าว

ขณะที่ แพลตฟอร์มวิดีโอยังเปิดโอกาสให้นักโฆษณาสามารถเชื่อมต่อผู้ชมในแบบเสมือนจริงบนยูทูบได้เท่าที่พวกเขาต้องการ สร้างสรรค์ผลงานโฆษณาให้ผู้ชม เปิดโอกาสให้ผู้ชมมีส่วนร่วมกับแบรนด์ ผ่านการเชิญชวนในรูปแบบโฆษณาที่ตรงกับเนื้อหาและประสบการณ์ที่พวกเขารู้สึกสนุกสนานบนออนไลน์
“นักโฆษณาชื่นชอบรูปแบบโฆษณาบนยูทูบทั้งสองประเภท ทั้งแบบที่กดข้ามได้ (หรือ TrueView) เพิ่มความมั่นใจให้กับนักโฆษณาว่า พวกเขาจะจ่ายค่าโฆษณาเมื่อมีผู้ใช้ชมวิดีโอและโฆษณาสั้นแบบใหม่หรือ Bumper Ads ที่ท้าทายนักโฆษณาให้สื่อสารเนื้อหาแบบง่ายๆ เร็วๆ ภายใน 6 วินาทีแรก”

“ไลฟ์”แรงจ่อเปิดบริการใหม่หนุน
นายไมเคิล กล่าวถึง เทรนด์การไลฟ์ (LIVE) หรือการถ่ายทอดสด โดยยอมรับว่า มาแรงมาก

“ไลฟ์เป็นเทรนด์ใหม่ที่มาแรงมาก ซึ่งจริงๆ แล้วไลฟ์ไม่ใช่ของใหม่สำหรับยูทูบ เพราะยูทูบ ไลฟ์ สตรีมมิ่ง เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2554 และเราเพิ่งเปิดตัวยูทูบ โมบาย ไลฟ์ สำหรับครีเอเตอร์ที่มีผู้ติดตามมากกว่าหนึ่งหมื่นคนขึ้นไป ทำให้ครีเอเตอร์เหล่านี้เข้าถึงและสร้างการมีส่วนร่วมกับแฟนๆ จากโทรศัพท์ได้ง่ายและเร็วขึ้น"

นายไมเคิล กล่าวว่า ที่ผ่านมา เห็นครีเอเตอร์ที่ใช้ไลฟ์มากมายเพื่อเข้าถึงและสร้างการมีส่วนร่วมกับแฟนๆ ทั้งแบบดิบๆ ไม่ผ่านการตัดต่อหรือแบบ ณ เวลานั้นเลย ปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้การใช้ฟีเจอร์นี้เติบโตขึ้นคือการใช้งานสมาร์ทโฟนที่มากขึ้น และอินเทอร์เน็ตที่เร็วขึ้น โครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งและยืดหยุ่นของยูทูบ ทำให้คนจำนวนมากขึ้นสามารถเพลิดเพลินและนำเสนอเนื้อหาแบบสดๆ ไม่ว่าพวกเขาจะใช้แบนด์วิธไหนก็ตาม

“เราอยากเปิด โมบาย ไลฟ์ (Mobile Live) ให้ผู้คนใช้กันได้มากขึ้นในอนาคตอันใกล้ โปรดอดใจรอข่าวดีเร็วๆ นี้”