“ความยากจน มั่งคั่ง ประชาธิปไตย” และ “กีฬา”

“ความยากจน มั่งคั่ง ประชาธิปไตย” และ “กีฬา”

หากลองตั้ง “สมมุติฐาน” (Hypothesis) และปัญหาเพื่อนำมาขบคิดเกี่ยวกับวงการกีฬาว่า “ปัจจัยทางเศรษฐกิจ ความยากดีมีจน”

มีความเกี่ยวข้องต่อความสามารถทางกีฬาหรือไม่? หรือความสามารถดังกล่าวเป็นเรื่องส่วนบุคคล?


ซึ่งหากพิจารณาจากประวัติของนักกีฬาชื่อดังแต่ละคนแล้ว ส่วนใหญ่มีที่มาจากครอบครัวที่ถือเป็นชนชั้นล่างของสังคมเวย์น รูนีย์ อยู่ในครอบครัวของผู้ใช้แรงงาน

คริสเตียโน โรนัลโด เป็นเด็กบ้านนอก เติบโตบนเกาะ  ซลาตัน อิบราฮิโมวิช วัยเด็กครอบครัวแทบไม่มีอันจะกิน เลโอเนล เมสซี ในวัยเด็กครอบครัวไม่สามารถหาอาหารที่มีโภชนาการที่ดีไทำให้ตัวเล็ก ไปจนถึงบัวขาว ,ขาทราย  ฯลฯ ทั้งหมดเหล่านี้ ก็มีความลำบากไม่แพ้กัน 

ดังนั้นความสำเร็จทางกีฬาจึงเป็นโอกาสที่ดีและแรงผลักดันสำคัญที่จะทำให้พ้นจากสถานะเดิม 

     

ความมั่งคั่งและความยากจน

งานศึกษาของสองคอลัมนิสต์กีฬาชื่อดังคือ “ไซมอน คูเปอร์” (Simon Kuper ) และ “สเตฟาน ชิแมนสกี” (Stafan Szymanski) ที่ตีพิมพ์ในหนังสือกีฬาอันลือลั่นว่า “Soccernomics” (Soccer + Economic) มีเนื้อหาที่นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจ การเงิน การจัดการ ในวงการฟุตบอล

ทั้งคู่ไม่ปฎิเสธว่า นักนักกีฬาชั้นแนวหน้าส่วนใหญ่มักจะมาจากครอบครัวที่เป็นชนชั้นล่าง แต่สมมุติฐานเรื่อง “ความยากจน”( Poverty) ก็ไม่ใช่เงื่อนไขหรือปัจจัยเดียวของการประสบความสำเร็จ แต่ทั้งคู่เสนอว่า “ความมั่งคั่ง” (Wealth) ต่างหากที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศนั้นๆ ประสบความสำเร็จในด้านกีฬา

“คูเปอร์” และ “ชิแมนสกี้” ได้รวบรวมข้อมูลสถิติการแข่งขันกีฬาในระดับโลกเพื่อสร้างดัชนีวัดความสำเร็จด้านกีฬาเป็นการเฉพาะ พบว่า 12 ประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านกีฬามากที่สุด ได้แก่ สหรัฐอเมริกา,  สหภาพโซเวียต/รัสเซีย, สหราชอาณาจักร, เยอรมัน, ฝรั่งเศส, บราซิล, อิตาลี, ออสเตรเลีย, นอร์เวย์, อาร์เจนตินา, สวีเดน และ สเปน

จากข้อมูลดังกล่าว มีเพียงแค่ “บราซิล” เท่านั้นที่เป็นประเทศกำลังพัฒนา ที่เหลือล้วนแต่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว

นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับประเทศที่มีความสำเร็จด้านกีฬาต่อหัวสูงที่สุด 6 อันดับแรก อันได้แก่ นอร์เวย์, สวีเดน, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, เยอรมนี และสหราชอาณาจักร

โดยข้อมูลที่ว่านี้ยังมีค่าสหสัมพันธ์กับ “ดัชนีการพัฒนาของมนุษย์” (Human Development Index: HDI) ซึ่งเป็นดัชนีการวัดและเปรียบเทียบ คุณภาพชีวิตตามมาตรฐานการพัฒนามนุษย์ และจัดกลุ่มว่าประเทศใดจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศที่กำลังพัฒนา 

กล่าวคือ ประเทศใดมี HDI สูง ก็มีแนวโน้มที่จะมีดัชนีความสำเร็จทางด้านกีฬาสูงด้วย เพราะประเทศที่มีความมั่งคั่ง จะมีความพร้อมในการสนับสนุนกีฬาไล่ตั้งแต่งบประมาณ, โครงสร้างพื้นฐาน, นโยบายรัฐ, การบริหารจัดการ, สิ่งอำนวยความสะดวก, ผู้ฝึกสอน, โภชนาการและสารอาหาร การเข้าถึงบริการสาธารณสุข ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแต่ส่งผลต่องานกีฬา

ดังนั้น หากลองสังเกตปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในวงการกีฬาอาทิ ปัญหาเชื้อ HIV ของแอฟริกาใต้ ในฟุตบอลโลก 2010 หรือการเดินทางของแคเมอรูน ในฟุตบอลโลก 2002 ที่ต้องเปลี่ยนเครื่องถึง 3 ครั้ง ทำให้ไปถึงหลังการแข่งขันเริ่มแล้ว 4 วัน เหตุการณ์ในฟุตบอลโลก 2006 ที่เยอรมนี ซึ่งโตโกที่เข้าแข่งขันเป็นครั้งแรกมีปัญหาความขัดแย้งภายในทีม เมื่อสมาคมฟุตบอลไม่สามารถหาเงินมาจ่ายเบี้ยเลี้ยงให้กับนักเตะได้

จะเห็นได้ว่าปัญหาเหล่านี้มักเกิดขึ้นกับประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งสิ้น กลับกันประเทศที่พัฒนาแล้ว โอกาสที่จะเกิดปัญหาข้างต้นนั้นเป็นไปได้ยากมาก ทำให้พร้อมที่จะมุ่งไปสู่การทำผลงานด้านกีฬาให้ออกมาดีเลิศที่สุดนั่นเอง

 

ข้อโต้แย้งจาก “ประชาธิปไตย”

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยและรวบรวมข้อมูลต่างๆจากหนังสือ Soccernomics นั้น ถูกโต้แย้งจาก นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองแห่งมหาวิทยาลัยคอร์เนล ว่าให้ความสำคัญกับ ‘ความมั่งคั่ง’ มากเกินไปเพียงแค่มิติเดียว และนำเสนอปัจจัยและเงื่อนไขอื่นที่สำคัญกว่า นั่นคือความเป็น “ประชาธิปไตย” ของแต่ละประเทศต่างหาก ที่จะทำให้ประสบความสำเร็จทางกีฬา

โดยคณะนักเศรษฐศาสตร์จากคอร์เนล ได้นำเสนอข้อมูลผลงานของทีมชาติที่เข้าแข่งขันฟุตบอลโลกช่วงปี 1950–2006 พบว่า ชาติที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่ เป็นชาติที่มีความเป็นประชาธิปไตยสูง

สาเหตุเพราะประชาธิปไตยทำให้เกิดการจัดการทรัพยากรอย่างลงตัวและเป็นธรรมในประเทศ นอกจากเป็นปัจจัยสี่ โครงสร้างพื้นฐาน หรือแม้กระทั่งเรื่องของกีฬา ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ สถานที่ บุคลากรฝึกสอน ที่มีการกระจายไปอย่างทั่วถึงทั้งประเทศ ยิ่งหากมีความเป็นประชาธิปไตยสูง การจัดสรรทรัพยากรก็ยิ่งกระจายครอบคลุมมากขึ้นนั้น

ในประเด็นดังกล่าว ทั้ง“คูเปอร์” และ “ชิแมนสกี้” ไม่ได้โต้แย้งหรือปฎิเสธต่อข้อเสนอของ นักวิชาการจากคอร์เนล ที่สำคัญยังสนับสนุนว่า “ประชาธิปไตย” เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การประสบความสำเร็จทางกีฬา

แต่ทั้งนี้เมื่อศึกษาเพิ่มเติมนั้นพบว่า ข้อมูลเกี่ยวกับ “ประชาธิปไตย” และ “ความมั่งคั่ง” ต่างมีดัชนีที่มีความสัมพันธ์กัน กล่าวคือประเทศใดที่มีความเป็นประชาธิปไตยสูง ก็จะมีความมั่งคั่งสูงตามไปด้วย ซึ่งประชาธิปไตยเป็นระบอบที่สามารถกระจายความมั่งคั่งไปยังทุกภาคส่วนของประเทศ ขณะที่ความมั่งคั่งเองก็ทำให้ประชาธิปไตยของแต่ละประเทศมีความมั่นคง

แล้วคำถามที่ว่าการนักกีฬาชื่อดังส่วนใหญ่มาจากครอบครัวชนชั้นล่าง จะอธิบายอย่างไร?

คำตอบคือพวกเขาอาจจะเกิดมายากจนในบริบทประเทศตนเอง แต่ก็ยังห่างไกลกับความยากจนที่แท้จริง หากเปรียบเทียบกับความยากจนตามมาตรฐานโลก 

อีกทั้งยังสามารถเข้าถึงปัจจัยสี่และบริการสาธารณะได้อย่างเพียงพอในระดับหนึ่ง 

ซึ่งคนที่ยากจนจริงๆ มีโอกาสน้อยมากที่จะมีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง หรือมีสิทธิที่จะเข้าถึงการเล่นกีฬา