เบื้องลึก..ตรวจการบ้าน! 10วันปฏิบัติการตรวจค้นธรรมกาย

เบื้องลึก..ตรวจการบ้าน! 10วันปฏิบัติการตรวจค้นธรรมกาย

เจาะประเด็นร้อน! ตรวจการบ้าน "10วันปฏิบัติการ" ตรวจค้นธรรมกาย หากบรรลุตามแผน แม้ไม่ได้ตัว "ธัมมชโย" แต่ไม่สูญเปล่าแน่

นับจากเที่ยงคืนของวันที่ 16 ก.พ. 2560 ถือเป็นเวลาเปิดปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้นวัดพระธรรมกาย ตามจับตัว "ธัมมชโย" ผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลอาญา ที่มีพฤติกรรมไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างโจ่งแจ้ง

เริ่มต้นจากการประกาศใช้ มาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) พ.ศ.2557 สั่งการให้พื้นที่วัดพระธรรมกายเป็นพื้นที่ควบคุม คนในต้องออก คนนอกห้ามเข้า โดยจัดวางกำลังไว้กว่า 3,000 นาย

เวลา 24.00 น.ของวันนั้น ทหารเคลื่อนเข้าประจำจุดบล็อกไม่ให้มวลชนหลั่งไหลเข้ามาเติมกำลังในวัดธรรมกาย 03.00 น.กำลังตำรวจเข้าตรึงประตูวัดทั้ง 15 ประตู จากนั้น 04.00 น. 19 ชุดตรวจค้นของดีเอสไอพร้อมเข้าปฏิบัติการ แผนคือคัดกรองผู้ไม่เกี่ยวข้องออกจากวัด เพื่อตรวจค้นเต็มรูปแบบตามอำนาจ แต่เอาเข้าจริง ครึ่งวันของปฏิบัติการวันแรกหมดไปกับการเจรจาโอ้โลม 13.00 น. จึงเริ่มเดินเท้าเข้าตรวจค้นพื้นที่โซนเอและบี แต่ก็ยังพบกำแพงพระสงฆ์ขัดขวาง เรียกว่าวันแรกแทบไม่ได้ทำงาน

วันที่ 2 ปฏิบัติการตรวจค้นที่เสมือนการทัวร์เยี่ยมชมบริเวณวัด โดยมีพระสงฆ์เป็นผู้นำการตรวจค้น ท่ามกลางการเดินประกบของกลุ่มศิษย์ และขอหยุดพักการค้นในช่วงฉันเพล โดยในห้องพยาบาลปลอดเชื่อ ที่เชื่อว่าเป็นจุดพักรักษาอาการอาพาธ ถลกผ้าออกก็เจอแต่ม้วนผ้าห่มวางในตำแหน่งขา ลำตัว และศรีษะ กับตู้ไฮเปอร์บาริค ที่สร้างความฉงนสนเท่ห์ว่ามีไว้รักษาแผลเบาหวาน หรือเพื่อกิจกรรมสร้างออร่า

วันที่ 3 ดีเอสไอนำผู้เชี่ยวชาญเข้าตรวจสอบตู้ไฮเปอร์บาริค ตอบคำถามมีไว้ใช้เพื่อบำบัดรักษาอาการป่วยด้านใด ความถี่มีการเปิดใช้เครื่อง และถูกใช้งานครั้งสุดท้ายเมื่อไร จากนั้นก็ประกาศปิดตึก อายัดทั้งอาคารดาวดึงส์ ห้ามเข้าใช้งานเด็ดขาด

ประมาณการว่า 3 วันแรก ดีเอสไอใช้งบประมาณในการดูแลกำลังพลของทหาร ตำรวจและดีเอสไอ เฉลี่ย 3-4 ล้านบาทต่อวัน

จากนั้นได้ประเมินสถานการณ์ว่าไม่มีการต่อต้านขัดขวางรุนแรง จึงตัดสินใจผ่อนปรนลดกำลังแบบฮวบฮาบ รอบวัดเหลือเพียง 3 กองร้อย

แต่หลังจากมีเหตุมวลชนธรรมกายบุกขอคืนพื้นที่วัดในปฏิบัติการวันที่ 4 พระสงฆ์สาวเท้าเข้าตบหน้า แย่งกล้องถ่ายภาพจากเจ้าหน้าที่หญิง สังกัดดีเอสไอ จนต้องเติมกำลังเข้ามาเป็น 4,000 นาย พร้อมจัดชุดดีเอสไอเข้าเวรคุมพื้นที่ 2 ผลัด 24 ชม.

คาดว่า งบประมาณที่ดีเอสไอต้องจ่ายพุ่งสูงจากวันละ 3-4 ล้านบาท เป็น 4-5 ล้านบาทต่อวัน เรียกว่าสถานการณ์นี้ ทำเอาดีเอสไอหมดเงินไปหลายสิบล้านบาท ประมาณการว่าถึงวันที่สิบอาจจะใช้ไปแล้วถึง 40 ล้านบาท หรือไม่

โดยงบประมาณที่ต้องจ่ายหลักๆเป็นเรื่องของ เบี้ยเลี้ยง,อาหาร นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่นค่าน้ำมัน ที่ใช้สำหรับสับเปลี่ยนกำลังพล หรือใช้ขับตรวจรอบวัด

ว่ากันว่า แค่ค่าน้ำมันส่วนนี้ก็หมดแล้วเป็นแสนบาท นอกจากนี้ยังมีค่าใช้เฮลิคอปเตอร์ซึ่งเป็นหลักหลายแสนบาท รวมไปถึงค่าใช้สถานที่และค่าจิปาถะ

ที่น่าสนใจคืองบประมาณทั้งหมด เป็น “ดีเอสไอ” ที่ต้องจ่าย ไม่ใช่ทหารหรือตำรวจ

สรุปปฏิบัติการ 9 วัน ยังไม่พบตัว “ธัมมชโย” แต่การแตะเข้าไปที่ตู้ไฮเปอร์บาริค จากรพ.ยันฮี ก็ดี วัตรปฏิบัติที่มีทั้งฟิตเนส เครื่องออกกำลังกาย ครีมล้างหน้า อุปกรณ์ประทินผิว ดุจฟิตเนสหรูในระบบบอกรับสมาชิก และอาการแข็งขืนไม่ยอมให้ตรวจค้นแบบสแกนละเอียดทุกซอกทุกมุม ส่งผลกระเทือนต่อต่อมศรัทธาของผู้เลื่อมใสใหม่ กระตุกวงการสงฆ์ และคนในรัฐบาล ว่าถึงเวลาต้องจัดระเบียบธรรมกาย ซึ่งตามมาด้วยการเผชิญหน้า เพราะธรรมกายมีโครงข่ายแทรกไปในแวดวงราชการ ธุรกิจ การเมือง และมวลชนคนชั้นกลาง

เกมนี้ เดิมพันคือการล่มสลายธรรมกาย ก็ต้องระดมทุกอย่างออกมาคัดง้าง ส่วน คสช. ที่ออกหน้า โดยดีเอสไอ นอกจากจัดไม้นวมออกหมายเรียกพระสงฆ์ 14 รูป จี้เข้าไปที่พระทัตตชีโว รองเจ้าอาวาส ซึ่งปฏิเสธไม่ให้ความร่วมมือในการตรวจค้นวัด 100 % ประกาศเส้นตายให้ทั้งคนและพระออกจากธรรมกาย จนต้องยกระดับด้วยตัดสัญญาณการสื่อสารในธรรมกาย และยังอาจต้องไปต่อถึงการตัดน้ำตัดไฟ ในส่วนของหมายค้นจะหมดลงในเวลา 10 วัน แต่มาตรา 44 ยังให้อำนาจค้นได้ตลอด

แม้ท้ายที่สุด ปฏิบัติการอันเป็นภารกิจสำคัญของดีเอสไอ ที่ดึงพนักงานสอบสวนและเจ้าหน้าที่คดีพิเศษ 300 คน เฉลี่ยสำนักคดีละ 30 คน ต้องร่วมเป็นชุดตรวจค้น แม้จะไม่ได้ตัว “ธัมมชโย” แต่ปลายทางที่จัดไว้รอ มีเค้าลางว่าเป็นการประกาศให้พระสงฆ์ในธรรมกายเข้ารายงานตัวต่อเจ้าคณะปกครอง สงฆ์ที่ฝ่าฝืนให้ต้องพ้นจากความเป็นสงฆ์ หรือไม่

เปิดทางให้สำนักพุทศาสนาแห่งชาติ และมหาเถระสมาคมเข้าตรวจสอบและทำบัญชีทรัพย์สินของวัดธรรมกาย ควบคุมทรัพย์สินของวัด แยกส่วนออกจากมูลนิธิต่างๆ ของธรรมกาย และแต่งตั้งรักษาการเจ้าอาวาส เข้ามาดูแลธรรมกายแทน “ธัมมชโย” ผู้ต้องหาหนีคดี

แม้ไม่เจอ แต่ก็ไม่ถือว่า “มือเปล่า” แต่จะคุ้มหรือไม่ต้องประเมินอีกที!!