บางกอกแอร์ฯเล็งลงทุนสนามบินเพิ่ม2แห่ง

บางกอกแอร์ฯเล็งลงทุนสนามบินเพิ่ม2แห่ง

บางกอกแอร์เวย์ส ชูธงลงทุนสนามบินเพิ่ม 2 แห่งในไทย-ต่างประเทศ พร้อมรุกซีแอลเอ็มวีครั้งแรก มุ่งสร้างรายได้นอกธุรกิจการบิน

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส กล่าวว่า บริษัทมีแผนขยายธุรกิจการบริหารจัดการสนามบินเพิ่ม 2 แห่งทั้งในและต่างประเทศ โดยได้นำเสนอต่อหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องไปแล้วและกำลังรอการพิจารณาและอนุมัติอย่างเป็นทางการ ซึ่งแผนการสร้างสนามบินต่างประเทศนั้น อยู่ในกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ซึ่งมีโอกาสเห็นเป็นรูปธรรมได้ก่อนในไทย

อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 แห่งผ่านการศึกษาความคุ้มค่าของโครงการ, จัดหาที่ดินที่จะลงทุนมาแล้ว และเห็นศักยภาพของตลาด ตามหลักการที่จะเข้าไปลงทุน จะโฟกัสที่เมืองที่ไม่มีสนามบินมาก่อน ในระยะแรกที่เข้ามา จะเน้นการนำเที่ยวบินของบางกอกแอร์เวย์สเข้าไปเปิดก่อน เน้นการรองรับทั้งเส้นทางในประเทศและต่างประเทศ แต่เนื่องจากการเป็นที่ดินสาธารณะก็จะต้องเปิดให้ทุกสายการบินเข้ามาใช้บริการร่วมอยู่แล้ว ซึ่งเหตุผลที่ยังสนใจการลงทุนในสนามบินนั้น เนื่องจากพอถึงจุดหนึ่ง จะทำให้ผลตอบแทนดีกว่าธุรกิจสายการบิน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากสนามบินในซีแอลเอ็มวีแล้ว บริษัท การบินกรุงเทพฯ ให้ความสนใจกับการพัฒนาสนามบินใน จ.พังงา โดยนำเสนอแผนการพัฒนาสนามบินเพื่อรองรับความหนาแน่นของการท่องเที่ยวในฝั่งอันดามัน ที่ปัจจุบันทั้งภูเก็ต และกระบี่ มีความต้องการจากสายการบินเข้าไปจนล้นอัตรารองรับ แต่ขณะนี้ยังรอการตอบรับจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ปัจจุบันบริษัทการบินกรุงเทพ มีสนามบินภายใต้การดูแลแล้ว 3 แห่ง ได้แก่ สนามบินสมุย, สนามบินสุโขทัย, สนามบินตราด ในปี 2558 และ 2559 รายได้จากธุรกิจสนามบินคิดเป็นสัดส่วน 2.2% และ 2.1% ของรายได้รวมบริษัทตามลำดับ ซึ่งรายได้นั้นคิดมาจากค่าบริการผู้โดยสารขาออกซึ่งมาจากสนามบินสมุยเป็นหลัก โดยในปี 2559 มีรายได้จากธุรกิจสนามบิน 564.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.4% เป็นผลมาจากจำนวนผู้โดยสารขาออกจากสมุยที่เพิ่มขึ้น 14.5% ขณะที่ปี 2559 ยังมีผู้โดยสารขาออกจากสนามบินสมุยผ่านสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ที่จำนวน 1.1 ล้านคน เพิ่มขึ้น 11.8% เมื่อเทียบกับปี 2558

นายพุฒิพงศ์ กล่าวว่า ผลดำเนินงานในปี 2559 บริษัทมีรายได้รวม 26,765.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.5% เมื่อเทียบกับปี 2558 และมีกำไรสุทธิ 1,837 ล้านบาท ลดลงไปราว 0.7% จากปี 2558 ที่ทำไว้ 1849.1 ล้านบาท ขณะที่ผู้โดยสารตลอดปี 2559 เติบโต 9.5% เป็นจำนวน 5.6 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าในช่วงไตรมาส 4 ได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อต่างชาติที่เป็นสัดส่วนใหญ่สุด 75-80% ซึ่งไม่มั่นใจต่อการเดินทางมาในไทยในช่วงที่มีการถวายอาลัย ส่งผลให้ผู้โดยสารซบเซาลงไปส่วนหนึ่ง แต่หลังจากผ่านช่วง 30 วันมาแล้วเริ่มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง จนกระทั่งในไตรมาสแรกของปีนี้ สถานการณ์กลับมาใกล้เคียงช่วงเดียวกันของปีก่อน และอัตราบรรทุกเฉลี่ยเดือน ม.ค.-ก.พ. อยู่ที่ 73-74% ดังนั้นตลอดปี 2560 จึงมั่นใจว่าในปีนี้ผู้โดยสารยังขยายตัวได้ราว 12-13% มีเป้าหมายเพิ่มอัตราบรรทุกเฉลี่ยจาก 69% ในปี 2559 มาเป็น 72%

การขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมัน 200 บาท เท่าที่ประเมินแล้วยังไม่มีผลกระทบต่อผู้โดยสาร เพราะสำหรับต่างชาติ โดยเฉพาะลูกค้ายุโรปที่เป็นกลุ่มหลักหากคำนวณแล้วก็เท่ากับ 4-5 ยูโรเท่านั้น ไม่มีนัยสำคัญต่อการตัดสินใจจับจ่ายแต่อย่างใด ส่วนแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นนั้น ขณะนี้ได้ทำประกันความเสี่ยงไว้ล่วงหน้าที่ 50% ของยอดการสั่งซื้อในปีนี้ไว้แล้ว และยังไม่ได้ปรับเพิ่มแต่อย่างใด

ขณะเดียวกัน ได้รับแจ้งจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ว่าในวันจันทร์ที่ 27 ก.พ.นี้ จะเป็นสายการบินแรกในไทยที่ได้รับใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (AOC-R) ซึ่งดำเนินมาถึงเฟสที่ 5 ขั้นตอนสุดท้ายที่จะสรุปผลกันในวันดังกล่าว โดยกระบวนการตรวจที่เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 12 ก.ย.เพื่อรับใบรับรองดังกล่าวใหม่นั้น เป็นส่วนหนึ่งของแผนการยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย เพื่อปลดล็อคธงแดงจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอซีเอโอ)

ส่วนกรณีที่รัฐบาลมีแนวคิดในการเปิดโอกาสให้ต่างชาติถือหุ้นในธุรกิจการบินและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น การผลิตชิ้นส่วนและโรงซ่อมนั้น มองว่าในด้านที่เป็นประโยชน์ต่อภาพรวม คือทำให้การเม็ดเงินเข้ามาลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐาน นำเที่ยวบินเข้าไปช่วยกระจายความหนาแน่นของนักท่องเที่ยวไปสู่จังหวัดรองมากขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ก็เป็นไปได้ว่าการทำให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนสะดวกมากขึ้น จะทำให้เกิดการแข่งขันที่ดุเดือดมากกว่าเดิม เพราะปัจจุบัน แม้ว่ายังไม่มีการเปิดช่องให้ต่างชาติเข้ามาถือหุ้นใหญ่ ก็เริ่มมีสายการบินจากต่างประเทศ วางแผนเชิงรุกในการเปิดเส้นทางเชื่อมในประเทศ และโยงไปยังจุดหมายต่างประเทศจำนวนมาก จนคาดว่าในปีนี้ สภาพการแข่งขันของธุรกิจสายการบินก็จะยังคงหนักมากเช่นเดิม

สำหรับแผนการขยายธุรกิจปีนี้ จะรับเครื่องบินใหม่อีก 5 ลำ แบ่งเป็น เอทีอาร์ 72-600 จำนวน 2 ลำ แอร์บัส 319 อีกจำนวน 3 ลำ ทำให้มีฝูงบินรวม 39 ลำ โดยนำเครื่องบินใหม่เสริมเส้นทางจากศูนย์กลางการบิน (ฮับ) 3 จุดหลัก ได้แก่ กรุงเทพฯ (สุวรรณภูมิ), เกาะสมุย, เชียงใหม่ เส้นทางใหม่ที่อยู่ในแผน ได้แก่ เชียงใหม่-เวียงจันทน์, เชียงใหม่-พุกาม, กรุงเทพฯ-นครราชสีมา, กรุงเทพฯ-ฟู้ก๊วก (เวียดนาม) และสมุย-กวางโจว ซึ่งทั้งหมดอยู่ระหว่างการขออนุมัติจากหน่วยงานราชการของแต่ละประเทศ

ส่วนการเพิ่มความถี่ ได้แก่ เส้นทางบินไป-กลับที่เพิ่มเป็น 2 เที่ยว/วัน ได้แก่ 3 เส้นทางจากเชียงใหม่ ไปยังสมุย, ภูเก็ต และแม่ฮ่องสอน ส่วนเส้นทาง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ (ขาเดียว) เพิ่มเป็น 9 เที่ยว/วัน และภูเก็ต-กรุงเทพ (ขาเดียว) เพิ่มเป็น 10 เที่ยวบิน/วัน สำหรับต่างประเทศ เพิ่ม กรุงเทพฯ-ดานัง (เวียดนาม) เป็น 7 เที่ยว/สัปดาห์ กรุงเทพฯ-เวียงจันทน์ เพิ่มเป็น 2 เที่ยวบิน/วัน และเชียงใหม่-มัณฑะเลย์ (เมียนมา) เพิ่มเป็น 7 เที่ยวบิน/สัปดาห์

นอกจากนั้น เพิ่มเครือข่ายพันธมิตรทางการบินผ่านการทำข้อตกลงเที่ยวบินร่วม (Codeshare Agreement) อีก 4 สายการบิน จากปัจจุบันมีเครือข่ายทั่วโลก 22 สายการบิน โดย 4 รายใหม่จะเน้นพันธมิตรการบินในเอเชีย อาทิ เซียะเหมินแอร์ไลน์ ที่เป็นสายการบินลูกของไชน่า เซาเธิร์น แอร์ไลน์

ขณะเดียวกัน บริษัทมีแผนการสร้างรายได้จากธุรกิจโรงซ่อมอากาศยานที่มีแผนสร้างเพิ่มเติมอีก 2 แห่ง ได้แก่ โรงซ่อมอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งวางเป้าหมายเพื่อดูแลเครื่องบินของบริษัทเป็นหลัก และ โรงซ่อมอากาศยานสุโขทัย ที่จะขยายความสามารถรองรับการการดูแลเครื่องบินของสายการบินอื่นๆ โดยได้รับมาตรฐานสากลด้วย

ธุรกิจครัวการบิน BAC (Bangkok Air Catering) เตรียมเปิดเพิ่มอีก 2 แห่ง คือ ครัวการบินกรุงเทพ สาขาสนามบินภูเก็ต ในราวไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ และสาขาสนามบินเชียงใหม่ คาดว่าจะเปิดภายในปี 2561 นอกจากนั้น เตรียมแตกไลน์สู่ธุรกิจอาหารแปรรูปภายใต้แบรนด์ “กูร์เมท์พรีโม่” ผลิตและแปรรูปอาหารเพื่อจัดจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ, ให้บริการจัดเลี้ยงและบริการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งมีกำหนดเปิดตัวไตรมาสที่ 4 ภายในปีนี้

นายพุฒิพงศ์ กล่าวถึงการเตรียมปิดซ่อมรันเวย์สนามบินสุวรรณภูมิ 60 วัน ด้วยว่า ยอมรับว่าจะมีผลกระทบต่อทุกสายการบิน เพราะปกติความต้องการใช้สนามบินสุวรรณภูมิก็ค่อนข้างหนาแน่นอยู่แล้ว แต่เนื่องจากมีการแจ้งล่วงหน้า จึงสามารถวางแผนรับมือ และให้ข้อมูลผู้โดยสารได้ทัน

ด้านนายวรงค์ อิศรเสนา ณ อยุธยา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ กล่าวว่า ปีนี้จะกระตุ้นตลาดซีแอลเอ็มวี เนื่องจากเป็นจุดหมายที่ตลาดยุโรปและอเมริกานิยม และบางกอกแอร์เวย์ส มีให้บริการเที่ยวบินเชื่อมต่อทั้ง 4 ประเทศกว่า 40 เที่ยวบินต่อวัน และ 210 เที่ยวบิน/สัปดาห์

นอกจากนั้น เตรียมเจาะฐานลูกค้าตลาดจีนในเขตอุตสาหกรรม ได้แก่ กวางโจว เฉินตู ฉงชิ่ง ที่มีเที่ยวบินตรงไปเปิดให้บริการแล้ว คือ จากสมุยบินไปยัง เฉินตู และกวางโจว และอนาคตจะเปิดปลายทางอื่นๆ เพิ่มเติม พร้อมกันนี้เพิ่มตัวแทนการขายในตลาดระยะไกล เช่น บราซิล, อาร์เจนติน่า, แอฟริกาใต้, คาซัคสถาน และอุซเบกิสถาน เป็นต้น โดยเฉพาะใน 2 ประเทศหลังที่เคยอยู่ใต้สหภาพโซเวียต น่าจะมีกำลังซื้อสูงจากธุรกิจการค้าน้ำมันที่ปีนี้เห็นเทรนด์ในตลาดโลกปรับสูงขึ้น