‘ดีเอชแอล’เจาะเอสเอ็มอีรับโอกาสอีคอมเมิร์ซบูม

‘ดีเอชแอล’เจาะเอสเอ็มอีรับโอกาสอีคอมเมิร์ซบูม

ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ การค้าขายผ่านระบบออนไลน์ขยายตัวสูง  สร้างโอกาสให้ธุรกิจเกี่ยวเนื่อง โดยเฉพาะบริการขนส่งสินค้า 

ปัจจุบันมีผู้เล่นหลายรายในตลาดนี้ล้วนปรับกลยุทธ์มุ่งขยายฐานเจาะลูกค้าผู้ประกอบการรายย่อย หรือเอสเอ็มอีมากขึ้น 

ชนัญญารักษ์ เพ็ชร์รัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดีเอชแอล เอ็กซ์เพรส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ดีเอชแอลมุ่งเจาะกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีมากขึ้น แม้ในเชิงปริมาณและรายได้ของลูกค้าเอสเอ็มอีแต่ละรายไม่สูงหากเทียบลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่ แต่เป็นตลาดที่มีศักยภาพการเติบโตในระยะยาว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่ทำให้นักลงทุนรายย่อยก้าวเข้าสู่ภาคธุรกิจและมีความต้องการใช้บริการโลจิสติกส์ ขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ บริษัทวางแนวทางการดำเนินงานมุ่งขยายงานและบริการอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าต่างจังหวัด โดยเฉพาะเขตการค้าชายแดนที่ขยายตัวโดดเด่นกว่าพื้นที่อื่นๆ มีทั้งการดำเนินธุรกิจกับลูกค้าองค์กร (B2B) และลูกค้าทั่วไป (B2C) 

โดยจะมีการขยายเซอร์วิสเซ็นเตอร์ บริการรับส่งสินค้า จากปัจจุบันที่เครือข่ายกว่า 122 สาขาทั่วประเทศ กระจายในทำเลต่างๆ รวมทั้งไฮเปอร์มาร์เก็ต 

ความท้าทายของลูกค้าเอสเอ็มอีในไทย คือ ความเข้าใจในตลาดออนไลน์ (E-marketplace) เราอยากช่วยให้เอสเอ็มอีไทยพัฒนาธุรกิจและก้าวสู่ตลาดโลกได้มากขึ้น"

ที่ผ่านมา บริษัทได้เจรจาความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่าง อาทิ  ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (ศ.ศ.ป.)  บริษัท คอมเกตเวย์ ประเทศไทย เพื่อเพิ่มศักยภาพและช่องทางการจำหน่ายผลิตภัณฑ์หัตถกรรมไทย เพื่อทำตลาดต่างประเทศ ผ่านการจัดตั้ง E-marketplace เป็นช่องทางจำหน่ายสินค้าของสมาชิก ศ.ศ.ป. โดยสนับสนุนด้านความรู้ การให้บริการก่อนและหลังการขาย การบริการระบบชำระเงินที่ปลอดภัย การโฆษณาในออนไลน์ นับเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้บริการขนส่งสินค้าของดีเอชแอลมากกว่าให้บริการขนส่งสินค้าทั่วไป

ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างพัฒนาและให้บริการด้านการบริหารจัดการคอนเทนท์ การให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องภาษีและกฏระเบียบศุลกากร  รวมถึงบริการต่างๆ ที่จะเอื้ออำนวยความสะดวก และช่วยดึงลูกค้าเอสเอ็มอีให้เข้ามาใช้บริการกับดีเอชแอล 

ตลาดโลจิสติกส์ มีผู้เล่นเข้ามาตลาดอย่างต่อเนื่อง ่ขึ้นอยู่กับความพร้อมในการแข่งขัน การบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผู้ใช้บริการ เช่น การให้ความรู้กับเอสเอ็มอี”

อย่างไรก็ดี  ความท้าทายของการดำเนินงานในไทยมีทั้งการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เป็นตัวแปรสำคัญทำให้ทุกธุรกิจต้องปรับตัว แนวโน้มการเติบโตของอีคอมเมิร์ซในไทย ขณะที่พฤติกรรมของลูกค้าในช่องทางขายออนไลน์มีความต้องการใช้บริการขนส่งสินค้าที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น เลือกวัน เวลา สถานที่ที่สะดวกรับสินค้า องค์ประกอบเหล่านี้ทำให้ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัว

สำหรับดีเอชแอล มีการลงทุนและพัฒนาทางด้านบริการอย่างต่อเนื่อง ทั้งระบบคอลเซ็นเตอร์  การบริหารจัดการรองรับความต้องการของลูกค้า B2B และ B2C  โดยเฉพาะความต้องการของลูกค้า B2C  ที่เป็นผู้กำหนดวัน เวลา และสถานที่รับสินค้า ต่างจากลูกค้า B2B   ที่มีที่อยู่บริษัทชัดเจน สามารถส่งของสถานที่นั้นได้เลย 

“การให้บริการ On-Demand Delivery ตามความต้องการของลูกค้าในลักษณะนี้ ได้เริ่มดำเนินงานมาในปีก่อน เป็นระบบออนไลน์ที่ให้ลูกค้ากรอกที่อยู่ ช่วงเวลาที่สะดวกรับสินค้าได้เอง การนำระบบดังกล่าวเข้ามาบริหารจัดการ ช่วยให้การจัดส่งสินค้าเกิดความแม่นยำ ลดการผิดพลาด เช่น กรณีเขียนที่อยู่ หรือชื่อผู้รับด้วยลายมือที่อาจไม่ชัดเจน”

เป็นการลดอุปสรรคจากอดีตที่อาจมีข้อผิดพลาดจากการเขียนข้อมูลด้วยลายมือ ทำให้เกิดความบกพร่องจัดส่งสินค้า และตีสินค้ากลับไปมา กลายเป็นความเสียหายกับค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นของทั้งลูกค้าและธุรกิจ ปัจจุบันมีลูกค้าลงทะเบียนใช้บริการผ่านการกรอกข้อมูลจัดส่งในระบบอัตโนมัติ คิดเป็นสัดส่วน 97% ของการให้บริการทั้งหมด โดยมีบางกลุ่มที่อาจยังต้องใช้รูปแบบเขียนบิลให้อยู่บ้าง

ดีเอชแอล ยังมีเช็คพอยท์ จุดตรวจสถานะของสินค้ามากถึง 28 จุด ทำให้โอกาสผิดพลาดมีน้อย เป็นจุดแกร่งของการบริการ ลูกค้าสามารถตรวจสอบสินค้าได้ 

ปีที่ผ่านมาถือเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงของดีเอชแอล มีการปรับแผนงานให้รองรับสถานการณ์ธุรกิจปัจจุบันที่เข้าสู่กระแสออนไลน์ซึ่งเป็นแนวทางการทำธุรกิจที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง”

จะเห็นว่า ผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซทั่วโลก เช่น Amazon และ Ebay  มีการขยายธุรกิจ และสั่งซื้อเครื่องบินสำหรับขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ธุรกิจโลจิสติกส์ได้รับอานิสงส์เช่นกัน และมีอัตราการเติบโตเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 

ส่วนบริการขนส่งกลุ่มสินค้าที่ทำให้ภาพรวมของบริษัทขยายตัวดี ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มการบิน กลุ่มยานยนต์ และเครื่องประดับจิวเวลรี่ ส่วนสินค้าที่โดดเด่นในอีคอมเมิร์ซ ยังคงเป็นกลุ่มสินค้าเท็กซ์ไทล์ อาหารการกิน

ปัจจุบันธุรกิจ ดีเอชแอล ดำเนินงานใน 220 ประเทศทั่วโลก ขยายตัวในภูมิภาคยุโรปค่อนข้างมาก จึงได้ลงทุนพัฒนาระบบ Online Automated Sorting Capacity อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนในฐานปฏิบัติการสำคัญในเยอรมนี สิงคโปร์ และสหรัฐ รวมถึงอยู่ระหว่างลงทุนเกตเวย์ใหม่ที่เบลเยี่ยม และตะวันออกกลาง จะช่วยให้การจัดการสินค้าของดีเอชแอลมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

การมุ่งลงทุนฮับและเกตเวย์ในแต่ละโลเคชั่นเป็นยุทธศาตร์สำคัญทำให้ดีเอชแอลสามารถเคลียร์และจัดส่งสินค้าได้ภายใน 1 วัน – วันถัดไป (Next day) มีผลให้การจัดส่งสินค้าจากไทยไปสู่ตลาดยุโรปได้ง่ายและรวดเร็ว 

ทั้งนี้ ไทยเป็นริจินัลฮับในอินโดจีน ที่มีเป็นพื้นที่เขตการค้าและเศรษฐกิจขยายตัว ไทยจึงได้รับอานิสงส์และยังมีโอกาสในตลาดนี้อยู่มาก