‘มะเร็ง’ ก็แค่เซลล์ผิดปกติที่ต้องรู้ให้เร็ว

 ‘มะเร็ง’ ก็แค่เซลล์ผิดปกติที่ต้องรู้ให้เร็ว

แม้ว่ามะเร็งจะได้ชื่อว่าเป็นโรคที่คร่าชีวิตคนเป็นอันดับต้นๆ แต่วิทยาการทางการแพทย์ทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตรอดและดำเนินชีวิตได้ตามปกติมีเพิ่มขึ้น

             แม้ว่าโรคมะเร็งจะได้ชื่อว่าเป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตคนเป็นอันดับต้นๆ แต่ด้วยวิทยาการทางการแพทย์ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งที่มีชีวิตรอดและดำเนินชีวิตได้ตามปกติเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ
          พญ.พจนา จิตตวัฒนรัตน์ แพทย์อายุรกรรม โรคมะเร็งและโลหิตวิทยา โรงพยาบาลวัฒโนสถ กล่าวว่า วิธีมาตรฐานการรักษาโรคมะเร็งก็คือ ผ่าตัด ฉายแสงและยาเคมีบำบัด ที่ใช้อ้างอิงกันมาตั้งแต่ 40-50 ปีก่อนจนถึงทุกวันนี้ ขณะที่แต่ละวิธีก็มีการพัฒนาเรื่อยๆ ทั้งยังไม่ได้โฟกัสวิธีเดียวแต่เปลี่ยนมาเป็นการรักษาแบบองค์รวม ซึ่งส่งผลดีต่อการรักษา เพราะผู้ป่วยแต่ละคนถึงแม้จะเป็นโรคเดียวกันแต่ขั้นตอนการรักษาจะแตกต่างกันไป บางคนต้องผ่าตัดก่อน บางคนต้องฉายแสงก่อน บางคนต้องให้เคมีบำบัดก่อน ดังนั้น การรักษาในลักษณะที่เป็นทีมจึงเป็นสิ่งสำคัญ

 
            ยกตัวอย่างวิวัฒนาการการรักษา เช่น การผ่าตัดก็มีเทคโนโลยีผ่าตัดส่องกล้องหรือผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ที่มีความแม่นยำสูง ส่วนการฉายแสงจะเฉพาะเจาะจงมากขึ้นโดยมีการวางแผนแบบ 3 มิติและ 4 มิติ ใช้เครื่องฉายแสงเฮฟวี่ไอออนสำหรับเซลล์มะเร็งเฉพาะจุดเพื่อลดผลข้างเคียงกับอวัยวะรอบข้าง ด้านของเคมีบำบัด เมื่อ 10-20 ปีที่แล้วมียาอยู่ 2-3 ตัวใช้ครอบคลุมทุกอวัยวะ แต่ปัจจุบันนี้มีการพัฒนายาเคมีบำบัดที่เฉพาะของแต่ละอวัยวะ นอกจากนี้ 10 กว่าปีที่ผ่านมามียากลุ่มใหม่เกิดขึ้นที่เรียกว่า ยาพุ่งเป้า จะไปจับในส่วนเซลล์ที่ผิดปกติแล้วโดยตรง วิทยาการล่าสุดคือ แนวการรักษาโดยกระตุ้นภูมิต้านทานในร่างกาย ซึ่งเพิ่งเกิดขึ้น 3-4 ปีที่ผ่านมา เป็นวิธีที่มีผลข้างเคียงต่ำเมื่อเทียบกับวิธีรักษามาตรฐานในปัจจุบัน และร่างกายตอบสนองต่อการรักษายาวนานขึ้น


              “เซลล์มะเร็งไม่ใช่สิ่งแปลกปลอมแต่เป็นเซลล์ที่ผิดปกติ ซึ่งเกิดขึ้นทุกวันในร่างกายเราแต่ไม่รุนแรงจนก่อให้เกิดเป็นโรคมะเร็ง เพราะร่างกายแข็งแรงและมีกลไกนับร้อยกลไกทำหน้าที่กำจัดเซลล์เหล่านี้ไม่ให้กลับมาเป็นโรคมะเร็ง" คุณหมอกล่าวและว่า “การรักษาโดยกระตุ้นภูมิต้านทานในร่างกายเป็นแนวทางการรักษาที่ดีและคาดว่าจะมีบทบาทสำคัญในอีก 10 ปีข้างหน้านี้ ด้วยการนำมาใช้ควบคู่กับวิธีรักษามาตรฐาน รวมถึงยาพุ่งเป้าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา แต่อย่างไรก็ตาม ยาเพียงอย่างเดียวหรือการรักษาด้านใดด้านหนึ่งเพียงอย่างเดียว ‘ไม่ใช่’ ที่สุดของการรักษามะเร็ง ปัจจุบันมีการติดตามการรักษาด้วยการเจาะชิ้นเนื้อ แต่ในอนาคตจะเป็นแค่การเจาะเลือด ก็สามารถทราบว่า ตัวเซลล์มะเร็งมีลักษณะผิดปกติอย่างไร ทำให้สามารถเลือกยาได้อย่างเฉพาะเจาะจงมากขึ้น"
                  คุณหมอแนะนำวิธีการป้องกันว่า ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน แม้จะเป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำยาก แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำ เช่น การรับประทานอาหารให้สะอาดถูกสุขลักษณะครบ 5 หมู่ และออกกำลังเป็นประจำ เนื่องจากผลการศึกษาพบว่า การออกกำลังกายจะช่วยลดอัตราการเกิดโรคมะเร็ง หรือคนที่เป็นมะเร็งแล้วก็ทำให้การตอบสนองต่อตัวโรคดีขึ้น
ขณะเดียวกันควรนอนหลับให้เป็นเวลา เพราะระดับฮอร์โมนการนอนกลางวัน/กลางคืนต่างกัน ฉะนั้น ถ้าเวลานอนผิดปกติจะทำให้ระดับฮอร์โมนผิดปกติ กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคมะเร็งได้ และที่ง่ายสุดคือ เหล้าบุหรี่ควรลดละเลิก เพราะบุหรี่อย่างเดียวก็เพิ่มปัจจัยเสี่ยงของการเป็นมะเร็งหลายสิบเท่า
                หลายคนมักมองว่า มะเร็งเป็นโรคร้ายแรง ใครเป็นแล้วต้องตาย แต่แท้จริงแล้วโรคมะเร็งก็เหมือนโรคเบาหวาน ความดันโลหิต ที่ต้องกินยา ไปพบหมอตามนัดบ่อยๆและตรวจติดตามอาการเป็นระยะๆ จึงอยากให้มองว่า มะเร็งก็เป็นอีกโรคหนึ่งที่คุณต้องจัดการ รวมทั้งต้องปรึกษากับทีมแพทย์เพื่อวางแผนการรักษา เสมือนการออกรบในสงครามเพื่อชัยชนะ
                 นพ.ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวัฒโนสถ กล่าวว่า โดยทั่วไปผู้ป่วยมักจะมาพบแพทย์เมื่อมีอาการของโรคมะเร็งในระยะท้ายๆ แล้ว เนื่องจากระยะเริ่มต้นนั้นไม่ปรากฏอาการให้ได้เห็น เพราะการเกิดมะเร็งไม่ได้เกิดจากความผิดปกติของยีนเพียงยีนเดียว แต่เกิดจากความผิดปกติของยีนมากมายที่สะสมเป็นระยะเวลานาน จนเกิดการพัฒนาเป็นเซลล์มะเร็งในที่สุด แต่ด้วยวิวัฒนาการด้านการรักษาโรคมะเร็ง ผสานกับความก้าวหน้าของเครื่องมือคัดกรองโรคมะเร็งต่างๆ ในปัจจุบัน ทำให้สามารถตรวจพบการก่อตัวที่ผิดปกติของเซลล์เร็วขึ้นก่อนเซลล์จะผิดรูปกลายเป็นเซลล์มะเร็งในระยะเริ่มแรก ส่งผลให้โอกาสในการรักษามีมากขึ้นตามไปด้วย ขณะเดียวกันหากผู้ป่วยสังเกตอาการว่า ตัวเองนั้นมีเลือดหรือสิ่งผิดปกติออกจากร่างกาย เช่น มีตกขาวมากเกิน มีก้อนหรือตุ่มเกิดขึ้นที่ใดที่หนึ่งของร่างกายและก้อนนั้นโตเร็วผิดปกติ มีแผลเรื้อรัง ระบบขับถ่ายผิดปกติหรือเปลี่ยนไปจากเดิม เสียงแหบ ไอเรื้อรัง กลืนอาหารลำบาก เบื่ออาหาร น้ำหนักลด มีการเปลี่ยนแปลงของหูด ไฝ ปาน เช่น โตผิดปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์ จะทำให้สามารถหาวิธีป้องกันและรับมือกับภัยมะเร็งได้อย่างถูกต้อง แต่ทุกคนต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่มีผลต่อปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งควบคู่กับการตรวจคัดกรองมะเร็งทุกปี