สั่งเตรียมพร้อมลดความเสี่ยงเกษตรกรช่วงหน้าแล้ง

สั่งเตรียมพร้อมลดความเสี่ยงเกษตรกรช่วงหน้าแล้ง

"กรมชลประทาน" พร้อมขับเคลื่อน 6 มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรเตรียมพร้อมลดความเสี่ยงจากภัยแล้ง

นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำช่วงฤดูแล้งปี 2558/2559 ว่า ปีนี้แม้ว่าสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศจะมีปริมาณมากกว่าปีที่ผ่านมา แต่ความต้องการใช้น้ำในกิจกรรมต่าง ๆ มีเพิ่มขึ้น และเพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ทดแทนจากการลดพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังในช่วงฤดูแล้ง กรมชลประทานขานรับนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการดำเนินแผนเตรียมความพร้อมเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยแล้งด้านการเกษตรปี 2559/2560 ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2560 และได้มอบหมายให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตามมาตรการและโครงการที่รับผิดชอบ โดยมีเป้าหมายช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรที่อาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง โดยมาตรการลดความเสี่ยงจากภัยแล้งด้านการเกษตรมีทั้งหมด 6 มาตรการ ประกอบด้วย 1.มาตรการส่งเสริมความรู้เพื่อลดความเสี่ยงจากภัยแล้ง 2.มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำเพื่อการเกษตร 3.มาตรการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน 4.มาตรการฟื้นฟูพัฒนาพื้นที่เกษตรที่ประสบภัย 5.มาตรการสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ และ 6.มาตรการจัดทำแผนความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง

อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ในส่วนของกรมชลประทานได้ดำเนินการจัดประชุมกลุ่มผู้ใช้น้ำทั่วประเทศเพื่อชี้แจงให้ทราบถึงแนวทางการจัดสรรน้ำจากอ่างเก็บน้ำตามแผนที่กำหนดให้กับการใช้น้ำในกิจกรรมต่าง ๆ ในพื้นที่แล้วและยังสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดทั่วประเทศดำเนินการตามแผนมาตรการดังกล่าว ได้แก่ การส่งเสริมให้เกษตรกรทำการปลูกข้าวนาปรังโดยวิธีเปียกสลับแห้งแกล้งข้าว เพื่อเป็นการประหยัดน้ำโดยมีเป้าหมาย 27 จังหวัด ๆ ละ 5 แปลง รวม 135 แปลง ๆ ละ 5 ไร่ รวม 675 ไร่ ส่วนเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่นอกแผนการจัดส่งน้ำและไม่ได้ทำการเพาะปลูกพืชในช่วงฤดูแล้งปีนี้ กรมชลประทานมีงบประมาณ 3,497.19 ล้านบาท เพื่อเป็นรายได้ทดแทนให้กับเกษตรกรกลุ่มนี้และสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดทั่วประเทศดำเนินการจ้างแรงงานเข้ามาทำงานปรับปรุง ซ่อมแซมอาคารชลประทาน รวมทั้งการขุดลอกคูคลองการกำจัดวัชพืช จนถึงปัจจุบัน (20 กุมภาพันธ์ 2560) กรมชลประทานมีการจ้างแรงงานไปแล้วจำนวน 39,668 คน ทั่วประเทศ

นอกจากนี้ กรมชลประทานยังสร้างความมั่นคงด้านน้ำด้วยการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งการเกษตรให้ทั่วถึงและเพียงพอ โดยจัดสรรงบประมาณ 2,736.94 ล้านบาท เพื่อสร้างแหล่งเก็บน้ำให้แล้วภายในปี 2560 ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำ 10 แห่ง และแก้มลิง 24 แห่ง ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้เดินหน้าตามแผนดังกล่าวแล้ว เพื่อป้องกันผลกระทบจากภัยแล้งที่อาจจะเกิดขึ้นต่อเกษตรกรและผู้ใช้น้ำรวมทั้งการสร้างความตระหนักรู้ในการปรับตัวเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยแล้งในพื้นที่ โดยเร่งประชาสัมพันธ์ ขอความร่วมมือให้ชาวนางดทำนาปรังเพิ่มและให้ปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทนการปลูกข้าว เนื่องจากปัจจุบันมีการทำนาปรังเกินกว่าแผนไปแล้ว โดยแผนการปลูกข้าวนาปรังกำหนดไว้ที่ 4 ล้านไร่ แต่ปัจจุบันมีการปลูกไปแล้วถึง 7.28 ล้านไร่ ซึ่งเกินกว่าแผน 3.28 ล้านกว่าไร่ และอาจส่งกระทบต่อแผนการบริหารจัดการน้ำในภาพรวม อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงพอใช้อย่างไม่ขาดแคลน ขอให้ประชาชนร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อทุกภาคส่วนจะได้มีน้ำกินน้ำใช้ตลอดฤดูแล้งนี้