สธ.ตั้งทีมสอบข้อเท็จจริงปรับระบบ1669

สธ.ตั้งทีมสอบข้อเท็จจริงปรับระบบ1669

สธ.ตั้งทีมสอบข้อเท็จจริงปรับระบบ1669 หลังข้อมูลแจ้งเวลาขอความช่วยเหลืออดีตกองหลังทีมชาติไทย และสพฉ. ห่างกัน 5 นาที

จากกรณีความสับสนเรื่องเวลาในการแจ้งขอความช่วยเหลือผ่านสายด่วนการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 เพื่อช่วยชีวิต นายบุญธรรม บูรณธรรมานันท์ อดีตกองหลังทีมชาติไทย ที่เกิดอาการหัวใจวายขณะซ้อมในสนามกีฬากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ไม่ตรงกัน โดยเพื่อนผู้เสียชีวิตระบุว่าโทร.แจ้งประมาณ 10-15 นาที ก็ไม่มีการติดต่อกลับเพื่อมารับตัวผู้ป่วยจนต้องนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลเอง ขณะที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ระบุว่ารับแจ้งเมื่อเวลา 17.23 น. และส่งรถไปรับถึงในเวลา 17.30 น.

 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จึงสั่งการให้ นพ.วิทูรย์ อนันกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานสาธารณสุขฉุกเฉิน (สธฉ.) ดำเนินการตั้งทีมสืบสวนข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ โดยเมื่อเวลา 09.00 น.ได้มีการจัดประชุมเพื่อสืบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว โดยฉพาะเรื่องเวลาในการแจ้งเหตุ 1669 ที่ไม่ตรงกัน ระหว่างศูนย์รับแจ้งเหตุที่ รพ.พระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี กับเวลาที่เพื่อนผู้เสียชีวิตโทร.ขอความช่วยเหลือ โดยการประชุมดังกล่าว เป็นเพียงการสอบถามเฉพาะกลุ่มเพื่อนๆ และผู้เห็นเหตุการณ์ในวันนั้นประมาณ 6-7 คน โดยเป็นการหารือแบบปิด ไม่อนุญาตให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องรวมทั้งสื่อมวลชนเข้าฟัง และไม่อนุญาตให้ใครให้ข้อมูลแก่สื่อมวลชน โดยขอให้รอการรวบรวมข้อมูลมากกว่านี้ก่อน เนื่องจากยังไม่ได้ข้อสรุปใดๆ

ทั้งนี้บรรยากาศหลังการประชุม บรรดาเพื่อนๆ และผู้เห็นเหตุการณ์ที่เข้าร่วมให้ข้อมูลต่างมีอารมณ์ไม่ค่อยพอใจเท่าที่ควร เนื่องจากจากการสอบถามปรากฎว่า ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า ผู้บริหาร สพฉ.ให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากเวลาที่โทรไปแจ้งศูนย์รับแจ้งเหตุ 1669 นั้น ไม่ตรงกัน เพราะเพื่อนๆ ยืนยันว่า โทร.ไปเวลา 17.18 น. แต่ สพฉ.บอกว่าเช็กข้อมูลรับแจ้งเหตุที่เวลา 17.23 น. ซึ่งต่างกันถึง 5 นาที โดยข้อมูลตรงนี้มาตรวจสอบได้

เพื่อนผู้โทร.แจ้งเหตุ 1669 กล่าวว่าเขาเป็นคนโทร.แจ้ง 1669 เอง เจ้าหน้าที่ได้ขอเบอร์ส่วนตัวไป เพื่อทราบอาการและโทร.ถามเส้นทาง แต่รอแล้วก็ไม่มีใครโทร.กลับมา จนทุกวันนี้ก็ยังไม่โทร.มาเลย และที่บอกว่ามีรถฉุกเฉินของสถาบันบำราศฯ วิ่งมารับผู้เสียชีวิตด้วยนั้น เขาและเพื่อนไม่เห็นมีรถสักคัน เพราะรถฉุกเฉินก็ต้องมีเสียงไซเรนดังอยู่แล้ว แต่นี่ไม่เห็น ไม่มีเสียงดังใดๆ

 ซึ่งพวกเขาไม่ได้ต้องการตำหนิหรือต่อว่าใคร เพราะผู้เสียชีวิตก็เสียชีวิตไปแล้ว สิ่งที่รู้สึกคือ นี่ไม่ใช่เหตุการณ์ครั้งแรกที่เกิดในกระทรวงสาธารณสุข เพราะในอดีตคนในกระทรวงฯ วิพากษ์วิจารณ์กันหนาหูมากว่า เคยมีกรณีแบบนี้มาก่อน 2 ครั้ง เป็นข้าราชการมาประชุมอยู่ที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และอีกคนก็เป็นคนนอกมาวิ่งรอบกระทรวงก็เกิดอาการวูบเหมือนกัน แต่ไม่ทราบว่า ประสบเหตุความล่าช้าเหมือนเคสนี้หรือไม่ แต่ที่แน่ๆ คือ คนไม่ค่อยรู้ว่ามีสถาบันบำราศนราดูรอยู่ใกล้ๆ

“พวกผมเสนอที่ประชุมเพื่อขอให้ผู้บริหาร สธ.ปรับปรุงโดยควรติดป้ายเบอร์โทร.ฉุกเฉินของสถาบันบำราศนราดูร ไม่ใช่แค่ 1669 เท่านั้น เพราะที่สถาบันบำราศฯ จะใกล้กว่าอยู่ภายในกระทรวงเอง ทำไมต้องไปเสียเวลาโทร.ไป 1669 เพื่อให้เขาประสานมาที่สถาบันบำราศฯ อยู่ดี นอกจากนี้ หากเป็นไปได้ก็ควรฝึกอบรมการช่วยชีวิตเบื้องต้นของ รปภ.ในกระทรวงฯด้วย” เพื่อนผู้อยู่ในเหตุการณ์ กล่าว

ด้าน นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างสืบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งทางกลุ่มเพื่อนผู้เสียชีวิตได้เสนอให้มีการติดเบอร์ของสถาบันบำราศฯ ไว้รอบบริเวณ สธ. เพื่อให้ผู้ที่มีเหตุฉุนเฉินสามารถโทร.หาโรงพยาบาลใกล้เคียงได้โดยตรงนั้น จะรับข้อเสนอไว้พิจารณาและจะดำเนินการปรับปรุงระบบต่อไป แต่ปัจจุบันสถาบันบำราศฯ เป็นโรงพยาบาลที่ดูแลรักษาเกี่ยวกับโรค ศักยภาพในการช่วยชีวิตฉุกเฉินอาจไม่เพียงพอ ซึ่งจะพัฒนาเพิ่มศักยภาพตรงนี้