แบงก์ชาติจับตาเงินนอกทะลัก ห่วงบาทแข็ง

แบงก์ชาติจับตาเงินนอกทะลัก ห่วงบาทแข็ง

"แบงก์ชาติ" เผยทุนนอกไหลเข้าไทย หลังมองเป็นประเทศปลอดภัยในการลงทุน กดเงินบาทแข็ง ประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้โตกระจายมากขึ้น

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง “ทิศทางเศรษฐกิจไทย ยุคดิจิทัล” จัดโดย ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ว่า ด้วยฐานะต่างประเทศของไทยที่มีความมั่นคง ไม่ว่าจะเป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่สูงเป็นอันดับ 12 ของโลก หนี้ต่างประเทศต่ำ และมียอดการเกิดดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูงต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนต่างประเทศมองไทยเป็นประเทศเป็น “เซฟเฮเว่น” หรือประเทศที่มีความปลอดภัยในการลงทุนสูง

“ด้วยภาวะแบบนี้ ทำให้มีเงินทุนระยะสั้นไหลเข้ามาพักในไทยค่อนข้างมาก ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ ทำให้เราต้องคอยประเมินสถานการณ์อยู่ตลอด”

ย้ำธปท.มีเครื่องมือดูแลทุนไหลเข้า

นายวิรไท กล่าวว่า สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ธนาคารกลางสมัยใหม่ทั่วโลก จำเป็นต้องมีเครื่องมือที่หลากหลายในการดูแล ไม่ว่าจะเป็นมาตรการกำกับดูแลผ่านระบบสถาบันการเงิน(แม็คโครพรูเด็นเชียล) หรือมาตรการกำกับเงินทุนเคลื่อนย้าย หากเห็นว่าบางช่วงมีเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้าประเทศมาก จนไม่เป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ ธนาคารกลางเหล่านี้ก็สามารถนำเครื่องมือดังกล่าวมาใช้ดูแลได้

นอกจากนี้ นายวิรไท กล่าวด้วยว่า ประเทศไทยใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัว ดังนั้นค่าเงินบาทมีโอกาสที่จะเคลื่อนไหวได้ในทั้ง 2 ทิศทาง ซึ่งปัจจัยที่มีผลกระทบมาได้ทั้งจากปัจจัยในประเทศและปัจจัยต่างประเทศ

“จะเห็นว่าปลายปีที่แล้วหลัง นายโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง ทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น แต่พอทรัมป์ ทวิตข้อความว่าไม่ต้องการเห็นเงินดอลลาร์แข็งค่ามากเกินไป เงินดอลลาร์ก็กลับมาอ่อนค่า จึงเห็นได้ว่าค่าเงินมีโอกาสที่จะแกว่งตัวได้ในทั้งสองทิศทาง ดังนั้นเราไม่ควรประมาท ควรปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไว้ และการปิดความเสี่ยงดังกล่าวถือเป็นหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้องทุกคน เพราะแบงก์ชาติทำได้เพียงช่วยชะลอความผันผวนได้ในบางช่วงเวลาเท่านั้น”

ส่วนความเคลื่อนไหวค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์วานนี้ (23 ก.พ.) นักค้าเงินจากธนาคารพาณิชย์กล่าวว่า เคลื่อนไหวอยู่ที่ประมาณ 35 บาทต่อดอลาร์ ใกล้เคียงกับปิดตลาดวานนี้

เศรษฐกิจฟื้นกระจายตัวมากขึ้น

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้ นายวิรไท กล่าวว่า เริ่มเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่กระจายตัวมากขึ้น ซึ่งปีที่แล้วเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง แต่ปีนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนต่างๆ เริ่มดีขึ้น และราคาสินค้าเกษตรหลายตัวมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นด้วย ช่วยให้เศรษฐกิจในภาคชนบทได้อานิสงส์ดังกล่าว

“ปลายปีที่แล้วเราได้รับผลกระทบจากบรรยากาศที่คนไม่พร้อมจับจ่ายใช้สอย และผลกระทบจากการปราบปรามทัวร์จีนผิดกฎหมาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไตรมาส 4 บ้าง แต่ตอนนี้ภาคการท่องเที่ยวเริ่มกลับมาดีกว่าคาด และยังพบการกระจายตัวของนักท่องเที่ยวที่มากขึ้นด้วย”

นอกจากนี้ ภาคการส่งออกของไทย ก็ถือว่าฟื้นตัวแบบกระจายตัวมากขึ้น ทั้งในเชิงสินค้าและประเทศคู่ค้า อาจมีเพียงตลาดในตะวันออกกลางที่ยังไม่สู้ดีนักจากราคาน้ำมันที่อยู่ระดับต่ำ ขณะเดียวกันถ้าดูการส่งออกของประเทศอื่นในภูมิภาคก็เริ่มเห็นการฟื้นตัวที่ดีเช่นกัน

ส่วนการลงทุนของภาครัฐ ยังมีบทบาทสำคัญในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งประเทศไทยถือว่าโชคดีที่ฐานะการคลังมีความเข้มแข็งเปิดโอกาสให้ภาครัฐสามารถใช้นโยบายการคลังดูแลเศรษฐกิจได้ การที่ภาครัฐทำนโยบายขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มเติม ก็เป็นตัวช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง

“ตอนนี้โครงการขนาดใหญ่หลายโครงการเริ่มเข้าสู่ขั้นตอนการประมูล หลังจากนี้เชื่อว่าจะเริ่มเห็นการลงทุนได้ ความชัดเจนก็น่าจะมากขึ้น”

ทั้งนี้ ธปท. ยังเตรียมทบทวนประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2560 ในเดือน มี.ค.นี้ จากที่คาดการณ์ไว้ขยายตัว 3.2% มาจากการขับเคลื่อนของภาครัฐเป็นสำคัญ ซึ่งโดยปกติจะมีการทบทวนปีละ 4 ครั้ง

ธปท.ชี้ดอกเบี้ยมีแนวโน้มปรับขึ้น

นายวิรไท กล่าวด้วยว่า ในส่วนของดอกเบี้ยตลาดเงินนั้น หลังจากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ดีขึ้น ขณะที่เงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้น ดอกเบี้ยในตลาดการเงินก็มีแนวโน้มว่าจะปรับตัวขึ้นด้วย จึงมองว่าดอกเบี้ยตลาดเงินน่าจะพ้นจุดต่ำสุดแล้ว แต่การปรับเพิ่มขึ้นคงมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป

ส่วนเรื่องเงินคงคลังที่หลายคนมีความกังวลนั้น ต้องบอกว่าเงินคงคลังเปรียบเหมือนบัญชีกระแสรายวัน เมื่อต้องการใช้เงินก็กู้เงินมาไว้ในบัญชีดังกล่าว ซึ่งระยะหลังกระทรวงการคลังเปลี่ยนนโยบายไม่ต้องการกู้เงินมากองไว้ เพราะมีต้นทุนจึงทำให้ในบางช่วงระดับเงินคงคลังปรับลดลง ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องที่น่ากังวล และที่บอกว่ารัฐบาลถังแตก แต่ถ้าดูเงินสำรองระหว่างประเทศจะเห็นว่า ปัจจุบันของไทยมีสูงเป็นอันดับที่ 12 ของโลก

สำหรับการลงทุนของภาคเอกชนนั้น ที่ผ่านมาถือว่าอยู่ระดับต่ำ และไม่ได้เป็นแค่เฉพาะประเทศไทย แต่เกิดขึ้นกับทั่วโลก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามา ทำให้ไม่ต้องใช้เงินลงทุนมาก อีกทั้งธุรกิจใหม่ที่เข้ามา ส่วนใหญ่อยู่ในภาคบริการ ซึ่งเป็นภาคที่ใช้เงินลงทุนน้อยเมื่อเทียบกับภาคอุตสาหกรรม

2ปี แบงก์พาณิชย์ไม่เปิดสาขาใหม่

นายวิรไท กล่าวว่า ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลทำให้ต้นทุนในด้านบริการต่างๆ ลดลงมาก ในภาคการธนาคาร ก็เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงต่อเนื่องตลอด 5 ปีที่ผ่านมา โดยช่วง 5 ปีก่อนหน้า ธนาคารมียอดเปิดสาขาปีละ 300 สาขา แต่ 3 ปีที่ผ่านมา ยอดการเปิดสาขาใหม่ลดเหลือ 30 สาขา ขณะที่ 2 ปีที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์แทบไม่ได้เปิดสาขาใหม่เลย จนในปีที่แล้วต่อเนื่องถึงปีนี้ ธนาคารพาณิชย์มีการแจ้งขอปิดสาขาเพิ่มเติมด้วย

ส่วนกรณี บริษัท Payall ที่ให้บริการ E-Money ผิดกฎหมาย จะได้ไม่ได้รับการคุ้มครองใดๆ จึงขอเตือนประชาชนที่จะใช้บริการ ให้เลือกผู้ที่ให้บริการอย่างถูกต้อง โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ให้บริการผ่านทาง โทร 1213 และ เว็บไซต์ของธปท.ได้ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ให้บริการที่ถูกต้องมากกว่า 20 แห่ง

"ตอนนี้ยังมีประชาชนเข้ามาร้องเรียนให้ตรวจสอบอยู่อย่างต่อเนื่อง เพราะบางแห่งขอใบอนุญาตอีกแบบ แต่เปิดดำเนินธุรกิจอีกแบบ เราถือว่าผิดกฎหมาย หากอนาคต Payall จะเข้ามาขออนุญาตใหม่ ทางเราก็จะพิจารณาถึงคุณสมบัติผู้บริหาร เพราะธปท.ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ" นายวิรไท กล่าว