เด้ง 'วุฒิชาติ' เซ่นงานร.ฟ.ท.อืด

เด้ง 'วุฒิชาติ' เซ่นงานร.ฟ.ท.อืด

นายกฯ ใช้ ม.44 ปลด "ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท." พร้อมตั้งบอร์ดใหม่ครบ 9 คน เผยสาเหตุจากความล่าช้า-ไม่ไว้วางใจ โครงการทางคู่-รถไฟความเร็วสูง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาจหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ปลดนายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) และให้ไปดำรงตำแหน่งประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

นายวุฒิชาติ เป็นผู้ว่าร.ฟ.ท.คนที่ 2 ที่ถูกคำสั่งคสช. โดยก่อนหน้านี้ มีคำสั่งปลดนายประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการฯ จากคดีสะเทือนขวัญพนักงานฆ่าข่มขืนบนรถไฟเมื่อปี 2557

แต่กรณีของนายวุฒิชาติเกิดจากการบริหารงาน โดยแหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่าเหตุผลสำคัญของการปลดครั้งนี้ เพราะข้อสงสัยการบริหารงานไม่เหมาะสม โดยเฉพาะกรณีโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง ที่รัฐบาลต้องการให้ดำเนินการเร็วและโปร่งใส แต่กลับปฎิบัติงานกันล่าช้า โดยมีพฤติกรรมสร้างความสงสัย คือ ดึงเรื่องกลับ จึงทำให้นายกฯเกิดความไม่ไว้ใจ และไม่เชื่อมั่นในการทำงาน

สำหรับคำสั่งปลดในครั้งนี้มีเพียงนายวุฒิชาติ ในขณะที่คณะกรรมการร.ฟ.ท.จำนวนที่เหลือยังคงเดิม แต่จะมีการเพิ่มคณะกรรมการ เนื่องจากโครงการเหล่านี้ต้องเร่งให้เกิดภายใน 4 ปี

แหล่งข่าวจากร.ฟ.ท. กล่าวว่าสาเหตุที่ต้องมีการใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งดังกล่าว เนื่องจาก พ.ร.บ.การรถไฟแห่งประเทศไทย กำหนดให้มีบอร์ด ร.ฟ.ท. เพียง 7 คน ซึ่งไม่เหมาะสมกับงานที่มีปริมาณงานที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งนายพิชิต อัคราทิตย์และนายคณิศ แสงสุพรรณ ได้ลาออกจากบอร์ดเพื่อไปดำรงตำแหน่งอื่นก็ทำให้จำนวนบอร์ดลดเหลือแค่ 5 คน ดังนั้นจึงต้องใช้อำนาจตามมาตรา 44 แต่งตั้งบอร์ดใหม่เพิ่มและขยายจำนวนเป็น 9 คน

แหล่งข่าวกล่าวว่าสาเหตุที่มีการโยกย้ายนายวุฒิชาติจากตำแหน่งผู้ว่า ร.ฟ.ท. นั้น เป็นเรื่องของความเหมาะสมและประสิทธิภาพ เนื่องจากมีผู้ใหญ่บางส่วนไม่มั่นใจเรื่องความโปร่งใส รวมถึงมองว่า ร.ฟ.ท. ขับเคลื่อนงานได้ช้า

ด้านนายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร อดีตผู้ว่าการร.ฟ.ท. กล่าวว่าไม่ทราบเรื่องมาก่อน แต่ก็พร้อมปฏิบัติตามคำสั่ง เนื่องจากคำสั่งดังกล่าวมีผลตามกฎหมาย

ชี้คำสั่งคสช.เพิ่มประสิทธิภาพดูแลโครงการ

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่าได้ทราบเรื่องเมื่อมีการออกคำสั่งคสช. แต่ได้ติดตามงานของร.ฟ.ท. อยู่ตลอดเวลาว่าดำเนินการอยู่ในขั้นตอนใด

“เชื่อว่าการออกคำสั่งดังกล่าวจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการกำกับดูแลโครงการต่างๆ ของ ร.ฟ.ท. ที่มีอยู่จำนวนมาก”

นายอาคม กล่าวว่าโครงการของร.ฟ.ท.แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1.โครงการที่อยู่ในขั้นตอนการขอความเห็นชอบ เช่น โครงการรถไฟทางคู่ 9 เส้นทางและโครงการรถไฟความเร็วสูง เพราะฉะนั้นจึงต้องการให้มีบอร์ดที่หลากหลายเข้ามากำกับดูแลโครงการ

2.โครงการที่ผ่านความเห็นชอบแล้วและอยู่ระหว่างการประกวดราคา เช่น โครงการรถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง ที่ล่าช้ามาแล้วหลายเดือนและต้องเร่งรัดให้เป็นไปตามกำหนด โดยหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้โครงการล่าช้าเป็นเพราะปริมาณงานมาก จึงต้องการให้บอร์ดลงมากำกับดูแลมากขึ้น

3. โครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างก็ต้องติดตามความก้าวหน้าและแก้ปัญหาต่างๆ เพื่อให้โครงการเดินหน้า เช่น โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงจิระ-ขอนแก่น ที่เกิดปัญหาว่าเส้นทางรถไฟจะแบ่งแยกชุมชนเป็น 2 ส่วน และนายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมก็ได้ลงพื้นที่แก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง

ชี้ออกคำสั่งพิจารณาหลายด้าน

สำหรับคำสั่งข้อ 2 ที่ให้โยกย้ายนายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่า ร.ฟ.ท. มีเรื่องทุจริตเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่นั้น นายอาคมระบุว่า การออกคำสั่งคงพิจารณาทุกมิติ เพราะรัฐบาลมีนโยบายให้กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเกิดความโปร่งใส พร้อมทำให้ทุกฝ่ายเกิดความมั่นใจและรอบคอบในการประกวดราคาต่างๆ ที่กำลังจะทยอยเข้ามา

“โครงการจะทยอยเข้ามา นอกจากโครงการที่อยู่ระหว่างการประกวดราคาอยู่แล้ว ปีนี้ก็มีโครงการรถไฟทางคู่อีก 9 โครงการ มูลค่า 3.9 แสนล้านบาท เพราะฉะนั้นก็ต้องทำให้เกิดความมั่นใจว่า โครงการของรถไฟที่ใช้งบประมาณจำนวนมากเกิดความโปร่งใส สำหรับผู้ว่า ร.ฟ.ท. คนเดิมก็ทำเรื่องนี้ได้ในระดับหนึ่ง แต่เรานั้นต้องการให้บอร์ดและตัวผู้ว่าฯ ลงไปดูให้ใกล้ชิดมากขึ้นและก็ไม่มีนอกไม่มีใน” นายอาคมกล่าว

สำหรับนายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รองอธิดีกรมทางหลวง (ทล.) และบอร์ด ร.ฟ.ท. ซึ่งดำรงตำแหน่งรักษาการ ร.ฟ.ท. นั้น จะทำงานเหมือนผู้ว่าตัวจริงและมีการตั้งเกณฑ์ประเมินผลงาน (เคพีไอ) อย่างแน่นอน จึงจะไม่ทำให้โครงการต่างๆ ล่าช้า และอนาคตก็จะมีการแก้ไข พ.ร.บ.การรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อเพิ่มจำนวนบอร์ดจาก 9 คนในปัจจุบันและทำให้บอร์ดความหลากหลายมากขึ้น เพื่อช่วยกำกับดูแลโครงการให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ด้านโครงการรถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง มูลค่า 9.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการประกวดราคาและต้องเลื่อนการประกาศราชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติจากวันที่ 20 ก.พ. ที่ผ่านมานั้น นายอาคมระบุว่าได้รับรายงานจากคณะกรรมการประกวดราคาว่า ติดขั้นตอนการพิจารณาคุณสมบัติ แต่ก็เป็นอำนาจการพิจารณาของคณะกรรมการประกวดราคาที่จะตัดสินใจเรื่องนี้เอง

เผยโครงการรถไฟทางคู่ล่าช้ากว่าแผน

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวว่าสาเหตุที่การประกวดราคารถไฟทางคู่ 5 เส้นทางล่าช้า เพราะมีการตรวจสอบหลายขั้นตอนตั้งแต่การร่างเงื่อนไขการประมูล (TOR) เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และล่าสุดทางกระทรวงคมนาคมได้ขอตรวจสอบรายชื่อเอกชนผู้ผ่านคุณสมบัติอีกครั้งก่อนประกาศผล ส่งผลให้การประกาศผลล่าช้าจากวันที่ 20 ก.พ. ที่ผ่าน ซึ่ง ร.ฟ.ท. ก็ไม่ทราบว่าเหตุใดจึงต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติอีก แต่กระทรวงคมนาคมก็อำนาจและสามารถดำเนินการได้

สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง ระยะทางรวม 668 กิโลเมตร มูลค่ารวม 9.58 หมื่นล้านบาท ที่อยู่ระหว่างการประกวดราคาและตรวจสอบคุณสมบัติผู้เข้าร่วมประมูล ได้แก่ 1.เส้นทางนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง169 กิโลเมตร วงเงิน 1.9 หมื่นล้านบาท,2.เส้นทางหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 84 กิโลเมตร วงเงิน 9.8 พันล้านบาท,3.เส้นทางประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง167 กิโลเมตร วงเงิน 1.6 หมื่นล้านบาท 4.เส้นทางลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง116 กิโลเมตร วงเงิน 2.3 หมื่นล้านบาท และ5.เส้นทางมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ 132 กิโลเมตร วงเงิน 2.8 หมื่นล้านบาท

ทางคู่9เส้นทาง-ความเร็วสูงเร่งประมูลปีนี้

ด้านโครงการรถไฟทางคู่ 9 เส้นทาง ระยะทาง 2,217 กิโลเมตร มูลค่ารวม 3.9 แสนล้านบาท ซึ่งอยู่ในแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่งระยะเร่งด่วน(Action plan) ปี 2560 และจะมีการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้เห็นชอบภายในกลางปีนี้ ก่อนทยอยเปิดประมูลต่อไป คือ

1.เส้นทางปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง285 กิโลเมตร วงเงิน 56,066.25 ล้านบาท,2.ชุมทางถนนจิระ- อุบลราชธานี ระยะทาง309 กิโลเมตร วงเงิน 35,839.74 ล้านบาท,3.ขอนแก่น-หนองคายระยะทาง174 กิโลเมตร วงเงิน 26,065.75 ล้านบาท

4.ชุมพร-สุราษฎร์ธานีระยะทาง167 กิโลเมตร วงเงิน 23,384.91 ล้านบาท, 5.สุราษฎร์ธานี-สงขลาระยะทาง339 กิโลเมตร วงเงิน 51,823.28 ล้านบาท,6.หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง45 กิโลเมตร วงเงิน 7,941.80 ล้านบาท และ7.เด่นชัย-เชียงใหม่ ระยะทาง217 กิโลเมตร วงเงิน 59,924.24 ล้านบาท8.เส้นทางเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง326 กิโลเมตร วงเงิน 77,000 ล้านบาทและ9. เส้นทางบ้านไผ่–มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง355 กม. วงเงิน 60,512 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีโครงการรถไฟความเร็วสูงที่บรรจุอยู่ในAction Planปี 2559 อีก 4 เส้นทางได้แก่ 1. เส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน ระยะทาง 211 กิโลเมตร วงเงิน 9.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ให้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชน (Market Sounding) เพิ่มเติม 2.เส้นทางกรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง ระยะทาง 193.5 กิโลเมตร วงเงินลงทุน1.52แสนล้านบาท อยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงคมนาคม

3. โครงการความร่วมมือการก่อสร้างรถไฟไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง252.5กิโลเมตร วงเงิน1.79แสนล้านบาทอยู่ระหว่างเตรียมข้อมูลเพื่อเสนอให้ที่ประชุม ครม. พิจารณา และ 4.โครงการความร่วมมือการก่อสร้างทางรถไฟไทย-ญี่ปุ่นเส้นทาง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 673 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 546,744 ล้านบาท อยู่ระหว่างสรุปรายงานผลการศึกษาความเหมาะสม

ภาพจาก Kor Panyalak