ออกหมายเรียก 'บ.เพย์ออล' ของนักร้องดังแล้ว

ออกหมายเรียก 'บ.เพย์ออล' ของนักร้องดังแล้ว

ออกหมายเรียก "บ.เพย์ออล กรุ๊ป" ของนักร้องดัง "ฟิล์ม รัฐภูมิ" เข้าพบตร.ปอศ. 3 มี.ค.นี้

ที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) พล.ต.ท.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ผบช.ก. เป็นประธานการประชุมติดตามความคืบหน้าการสืบสวนสอบสวนดำเนินคดีกับ บริษัท เพย์ออล กรุ๊ป จากัด ที่มีนายรัฐภูมิ โตคงทรัพย์ หรือ ฟิล์ม รัฐภูมิ นักร้องนักแสดงชื่อดัง เป็นประธานบริหารและถือหุ้น ซึ่งดำเนินธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Money โดยไม่ได้รับอนุญาต โดยมี พล.ต.ต.ชวลิต แสวงพืชน์ รอง ผบช.ก. ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน พล.ต.ต.ประเสริฐ พัฒนาดี ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ผบก.ปคบ.) พล.ต.ต.กมล เหรียญราชา ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการประพฤติมิชอบ นายพฤทธิพงศ์ สีมาจันทร์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายช่วยงานบริหาร ธนาคารแห่งประเทศไทย และนาย นิติกร ชำนาญการ สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เข้าร่วมประชุม

ด้านพล.ต.ต.ชวลิต กล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินการในส่วนต่างๆ ซึ่งตนไม่ขอเปิดเผยในรายละเอียด เพราะเกรงว่าจะกระทบต่อรูปคดี โดยภายหลังตัวแทน ธปท.ร้องทุกข์ กล่าวโทษกับบริษัทดังกล่าว ก็มีการประชุมติดตามความคืบหน้าของคดีมาโดยตลอด ล่าสุดตำรวจได้ออกหมายเรียก บริษัท เพย์ออล กรุ๊ป มาพบพนักงานสอบสวน ที่บก.ปอศ. วันที่ 3 มีนาคม เวลา 13.00 น. ซึ่งทางบริษัทฯ ดังกล่าวจะส่งตัวแทนซึ่งเป็นกรรมการคนใดมาพบตำรวจก็ได้ โดยตามหนังสือบริคณฑ์สนธิ พบว่า กรรมการบริษัทนี้มีทั้งหมด 5 คน แต่ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความรับผิดทางอาญาของนิติบุคคล พ.ศ.2560 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ในการดำเนินคดีตำรวจจะต้องตรวจสอบให้แน่ชัดว่า กรรมการคนใดบ้างที่มีอำนาจในการดำเนินการธุรกรรมและการเงิน

ทั้งนี้ ในหนังสือบริคณฑ์สนธิของบริษัท ก็มีระบุไว้อย่างชัดเจนว่า มีกรรมการคนใดบ้างที่มีอำนาจตรงนี้ แนวทางการสืบสวนก็มีข้อมูลส่วนนี้อยู่แล้ว แต่ต้องรอการยืนยันอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยตำรวจได้ตรวจสอบกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และตรวจสอบเส้นทางทางการเงินกับสำนักงาน ป.ป.ง. ขณะเดียวกันจะมีการประสาน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เพื่อตรวจสอบว่าบริษัทดังกล่าวเข้าข่ายแชร์ลูกโซ่ หรือ มีการกระทำที่เป็นการหลอกลวงประชาชนหรือไม่ ส่วนกรณีนายรัฐภูมิ ออกมาขอโทษทางโซเชียลมีเดีย อาจจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นกับสมาชิก แต่มีผลในทางคดี ตำรวจยังคงต้อวงดำเนินคดีเช่นเดิม

ด้านนายพฤทธิพงศ์ กล่าวว่า คดีนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ตรวจพบว่า บริษัท เพย์ออล กรุ๊ป จากัด (บริษัท) ให้บริการแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือภายใต้ชื่อ “PayAll” โดยให้ผู้ใช้บริการสมัครเป็นสมาชิกใน แอปพลิเคชัน และเติมเงินล่วงหน้าเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำ e-Money ดังกล่าวไปใช้ในการชำระค่าสินค้า หรือ บริการจากร้านค้าต่าง ๆ ที่กำหนด ซึ่งมีลักษณะเป็นการให้บริการ e-Money อันเข้าข่ายเป็นการประกอบธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 ประกอบพ.ร.ฎ.ว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชาระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2551 (พ.ร.ฎ. e-Payment) และประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ประกอบประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 (การประกอบธุรกิจบัตรเงินอิเล็กทรอนิกส์) ซึ่งเป็นความผิดและมีโทษตามกฎหมายดังกล่าว ธปท. ในฐานะผู้ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ตาม พ.ร.ฎ. e-Payment และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตามประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าว ให้ดำเนินการ ร้องทุกข์กล่าวโทษ เพื่อดำเนินคดีกับบริษัท เพย์ออล กรุ๊ป จากัด และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเมื่อวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมา ธปท. ได้ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทาความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ(บก.ปอศ.) ซึ่งขณะนี้บริษัทเพย์ออล ต้องหยุดให้บริการบริการ e-Money ทันที เพราะถูกแจ้งความดำเนินคดีแล้ว

"การประกอบธุรกิจให้บริการ e-Money เป็นธุรกิจที่มีการรับเงินล่วงหน้าจากประชาชนทั่วไปในวงกว้าง จึงต้องได้รับอนุญาตจากทางการก่อนเริ่มประกอบธุรกิจ กฎหมายจึงกาหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนด และที่สาคัญมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกาหนด เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้ใช้บริการ เช่น ต้องมีทุนจดทะเบียนและเรียกชำระแล้วตามที่กาหนด และดำรงฐานะทางการเงินและสภาพคล่องเพื่อให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง และไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ใช้บริการ ต้องมีการเก็บรักษาเงินของผู้ใช้บริการที่เติมเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์อย่างรัดกุม โดยต้องฝากไว้ที่สถาบันการเงิน และแยกบัญชีไว้ต่างหากจากเงินทุนหมุนเวียนที่ใช้ดำเนินธุรกิจของ ผู้ประกอบธุรกิจ ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การคุ้มครองผู้บริโภค เช่น การรักษาความลับของข้อมูลผู้ใช้บริการ การคืนเงินให้ผู้ใช้บริการภายในระยะเวลาที่กาหนด และการแก้ไขข้อร้องเรียน"นายพฤทธิพงศ์ กล่าว

นายพฤทธิพงศ์ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้พบเพียงบริษัท เพย์ออล เพียงแห่งเดียวที่มีการให้บริการ e-Money โดยไม่มีใบอนุญาต จึงขอแนะนำให้ประชาชน ร้านค้า และสถานประกอบการ เลือกใช้บริการ e-Money จาก ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาตจากทางการเท่านั้น รวมทั้งควรศึกษาเงื่อนไขของ การใช้บริการและดาเนินการเพื่อรักษาสิทธิของตนเอง โดยสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจให้บริการ e-Money ที่ได้รับอนุญาตและอยู่ภายใต้การกากับดูแลของทางการได้จากรายชื่อที่แนบมาพร้อมนี้ และเว็บไซต์ของ ธปท. หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน หมายเลขโทรศัพท์ 1213 ทั้งนี้ หากประชาชนพบว่ามีผู้ประกอบธุรกิจให้บริการ e-Money โดยไม่ได้รับอนุญาต ขอให้แจ้ง ธปท. ทราบ ได้ตามช่องทางข้างต้น

ด้านนายณัชพัทร ขาวแก้ว นิติกรชำนาญการ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า เดิมที บริษัทเพย์ออล กรุ๊ป จดทะเบียนในนาม บริษัท นาน่า คอเปอเรชั่น จำกัด ซึ่งขออนุญาตเป็นบริษัทขายตรงจำหน่ายผลิตภัณท์ประเภท อาหารเสริมและเครื่องสำอาง รวม 6 รายการ ตั้งแต่ปี 2525 ก่อนจะมาขออนุญาติกับ สคบ.และกรมการค้าภายใน เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น เพย์ออล กรุ๊ป จำกัด พร้อมปรับแผนการทำงานเป็นบริการอีมันนี่ แต่ยังไม่ได้รับอนุญาต แต่กลับให้บริการกับผู้บริโภคจึงเข้าข่ายการกระทำผิด และได้มีการเชิญ กรรมการ และนิติบุคคล รวม 5 คน และนิติบุคคล เปรียบเทียบเสียค่าปรับรายละ 300,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,800,000 บาท ทั้งนี้ สำหรับประชาชนที่ต้องการยกเลิกการเป็นสมาชิก หรือ สินค้า สามารถดำเนินการได้ตามระเบียบ ซึ่งทางบริษัทจะต้องจ่ายค่าสมาชิกคืนให้ภายใน 15 วัน ส่วนผู้บริโภคสามารถคืนสินค้าได้ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่รับสินค้า หลังจากนี้หากพบว่ายังโฆษณาที่ยังปรากฎในเว็บไซต์หรืออินเตอร์เน็ตจะเข้าข่ายมีความผิดซ้ำ ซึ่งจะต้องถูกดำเนินคดีอีก 1 กระทง