'ค่ายมือถือ'หนุน4.0 รุกแอพเจาะอะโกรเทค

'ค่ายมือถือ'หนุน4.0 รุกแอพเจาะอะโกรเทค

“ค่ายมือถือ” ขานรับไทยแลนด์ 4.0 เร่งพัฒนาแอพฯเจาะกลุ่มอะโกรเทค เชื่อมภาคเกษตรด้วยเทคโนโลยี พร้อมเปิดพื้นที่ “สตาร์ทอัพ” แลกเปลี่ยนข้อมูล

นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล ยังต้องอาศัยหนึ่งในปัจจัยสำคัญ คือ โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมที่ล้ำสมัย หนุนให้เกิดธุรกิจยุคใหม่ๆ หรือสตาร์ทอัพ มาพร้อมกับเทคโนโลยีที่สามารถแข่งขันได้ทั้งในและต่างประเทศ 3 ค่ายมือถือในไทย “เอไอเอส-ดีแทค-ทรู” นำเสนอแนวคิดที่น่าสนใจในประเด็นเหล่านี้ ภายในงานเสวนาไทยแลนด์ 4.0 สตาร์ท (อัพ) แบบไหนพลิกโฉมเศรษฐกิจไทย จัดโดย บริษัทมติชน จำกัด (มหาชน)

เอไอเอสชี้ “ดิจิทัล” เท่ากับโอกาส

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวว่า ปี 2560 มองว่า จะเป็นปีที่อุตสาหกรรมโทรคมนาคมเติบโตแบบก้าวกระโดด การเติบโตทั่วโลกคาดว่าจะอยู่ในอัตรา 3-4% ด้านอุปกรณ์สื่อสาร คาดว่าจะเติบโต 10% และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงจะเติบโต 15%

ส่วนอุปกรณ์สื่อสาร จะขยายขอบเขตไปยังอุปกรณ์อื่นมากขึ้น เช่น สมาร์ทวอทช์ นอกเหนือจากอุปกรณ์เดิมอย่างแทบเล็ต โทรศัพท์มือถือ พีซี หลังจากปีนี้เป็นต้นไปโลกจะก้าวเข้าสู่ยุคอินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (ไอโอที)

โดยช่วง 4-5 ปีหลังจากนี้ (2560-2563) จะเป็นยุค 4จี ที่ให้ความสำคัญกับความเร็วของอินเทอร์เน็ต และเทคนิคต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และหลังจากปี 2563 เป็นต้นไป จะเข้าสู่ยุค 5จี หรือคอมเมอร์เชียลไลฟ์ อุตสาหกรรมดิจิทัลหรือโทรคมนาคมจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับทุกอุตสาหกรรม ที่เริ่มเห็นในช่วงนี้ เช่น ธนาคาร ศูนย์การค้า

“ดังนั้นบทบาทของดิจิทัลหลังจากนี้จะแปรเป็นสมการได้ว่าดิจิทัลเท่ากับโอกาส”

ช่วงต้นปีที่ผ่านมา หลังจากเอไอเอสประกาศแผนธุรกิจปี 2560 มีทั้งผู้ที่ชื่นชมและโจมตี บ้างว่าเอไอเอสกำลังขายข้อมูลของฐานลูกค้า แต่เอไอเอสมองว่าเป็นเรื่องเข้าใจผิด เพราะเทรนด์ในอนาคตที่จะเกิด เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลบิ๊กดาต้า ขณะที่ เอไอเอสมีบทบาทในการสนับสนุนสตาร์ทอัพ รวมไปถึงภาคส่วนต่างๆ ในโครงการดิจิทัล ฟอร์ ไทย ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลที่ต้องการเข้าไปถึงคนรากหญ้าและหรือในต่างจังหวัดด้วย

ผุดศูนย์ข้อมูลหนุนสตาร์ทอัพ

ขณะนี้ เอไอเอสจึงพัฒนาแอพลิเคชั่นต่างๆ ที่ช่วยสนับสนุนคนทุกระดับได้จริง เช่น แอพลิเคชั่น “ฟาร์มสุข” สนับสนุนสตาร์ทอัพโดยให้ความรู้ผ่านอีคอมเมิร์ซ แพลตฟอร์ม ปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วมแล้วประมาณ 1,000 ราย

“การสร้างสตาร์ทอัพจะเป็นหัวใจสำคัญผลักดันให้ไทยแลนด์ 4.0 เกิดขึ้นได้จริง โดยในเดือนเม.ย.2560 ที่จะถึงนี้เอไอเอสจะตั้ง Designed for Creation Center เพื่อเป็นศูนย์กลางข้อมูล สนับสนุนสตาร์ทอัพอย่างจริงจัง ”

นายสมชัย กล่าวว่า สตาร์ทอัพจะเกิดขึ้นได้ผู้ประกอบการรายใหญ่ต้องเข้าไปสนับสนุน และภาครัฐต้องสนับสนุนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการปรับปรุงกฎหมายที่ล้าหลังไม่ใช่แค่การประกาศนโยบาย โดยที่ผ่านมาจะเห็นได้จากกรณี ทำไมอูเบอร์เข้าไทยแล้วผิดกฎหมาย"

ดีแทคชี้ ‘สตาร์ทอัพ-ความถี่’หนุน4.0

นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวว่า ดีแทคเห็นเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นในรูปแบบดิจิทัล ตั้งแต่ปี 2556 โดยได้ตั้งหน่วยงาน ดีแทค แอคเซอเลอเรท บ่มเพาะให้ความรู้ และป้อนสตาร์ทอัพสู่ตลาดโลกในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา สตาร์ทอัพกว่า 1,000 รายสมัครเข้าโครงการ และคัดเลือกรวมแล้ว 21 ทีมเข้าสู่โปรแกรม ทั้ง 21 ทีม สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจถึง 2,000 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา สร้างงานแล้วกว่า 10,000 ตำแหน่ง และการลงทุนจากต่างประเทศ แล้วกว่า 150 ล้านบาท ราว 70% ของสตาร์ทอัพกลุ่มดังกล่าวได้รับการลงทุนต่อเนื่อง (Follow-on funding) จากนักลงทุน และมีอัตราการเติบโต 500% ต่อปี

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน ไม่ว่าใครก็สามารถเริ่มธุรกิจและเป็นผู้ประกอบการได้ เพียงแค่มีความรู้และเงินทุนที่น้อยกว่าเดิม แค่มีไอเดียและขายให้นักลงทุน จากตัวเลขเอสเอ็มอีไทยมีส่วนสร้างมูลค่าเศรษฐกิจถึง 50% ของไทย

นายลาร์ส กล่าวว่า การขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 จะเป็นเพียงจินตนาการ หากไม่ได้รับการประสานความร่วมมือจากผู้เกี่ยวข้อง 3 ส่วน ได้แก่ 1.ภาคเอกชนและประชาสังคมในการลงทุนเครือข่ายความเร็วสูง คิดค้นนวัตกรรมและสินค้าด้วยราคาที่เข้าถึง 2.ภาครัฐ ในการจัดทำโครงสร้างทางกฎหมายที่เอื้อต่อการพัฒนาทั้งความโปร่งใส และการกำกับดูแลเพื่อทำให้เกิดการแข่งขันที่แท้จริง 3.องค์กรกำกับดูแลที่จะสนับสนุนด้านแผนจัดการคลื่นความถี่ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุน

ชี้ 40% คนไทยยังไม่มีเน็ต

ทั้งนี้ ความท้าทาย ของไทยที่จะไปสู่การขับเคลื่อน 4.0 พิจารณาจากตัวเลขของสำนักสถิติแห่งชาติ ระบุว่า 40% ของประชากรยังไม่ได้เข้าถึงอินเทอร์เน็ต ถือเป็นสัดส่วนที่สูงมาก โดย 67% ของกลุ่ม บอกว่าใช้ไม่เป็น 31% ระบุว่าอินเทอร์เน็ตไม่จำเป็นสำหรับพวกเขา และ 2% บอกว่าไม่มีอุปกรณ์

จะเห็นได้ว่า คนไทยจำนวนไม่น้อยยังมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตน้อยอยู่ นอกจากนี้ อุปสรรคที่สำคัญต่อการพัฒนาสู่เศรษฐกิจดิจิทัลของไทย คือ การไม่มีแผนจัดสรรคลื่นความถี่แห่งชาติ หรือแผนพัฒนาคลื่นความถี่ที่ชัดเจนว่า เมื่อไหร่จะจัดคลื่นสลอตใดมาจัดสรร เมื่อเปรียบเทียบประเทศต่างๆ จากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) ได้ทำแนวทางเตรียมความพร้อมคลื่นความถี่สำหรับปี 2563 กำหนดจำนวนการใช้งานระหว่าง 1,340 ถึง 1,960 เมกะเฮิร์ตซ

ขณะที่ ประเทศเพื่อนบ้านต่างกำหนดแผนพัฒนาระยะยาวไว้แล้วทั้งสิ้น ระบบเศรษฐกิจใหม่กำลังสร้างระบบนิเวศใหม่ๆ ซึ่งต้องการนวัตกรรมเชิงกำกับดูแลและธรรมาภิบาลอย่างเร่งด่วน

ทรูฯเตรียมทุนฮับอาร์แอนด์ดี

นายธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ หัวหน้าคณะผู้บริหาร ด้านนวัตกรรมและความยั่งยืนองค์กร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันมีสตาร์ทอัพรวมทั่วโลกที่มีเงินทุน 1,000 ล้านดอลลาร์ และมีสตาร์ทอัพที่โดดเด่น 229 ราย เกิดขึ้นมาจากรายเล็กๆ สิ่งนี้ย้ำเตือนว่า ไทยกำลังแข่งกับโลกที่หมุนเร็ว มีผู้เล่นใหม่ๆ ไม่จำกัดรุ่นเกิดขึ้นมา

“ยุค 4.0 แปลง่ายๆ คือ เปลี่ยนจากทำมากได้น้อย มาให้เป็นทำน้อยได้มาก ด้วยการสร้างความได้เปรียบสร้างมูลค่าเพิ่ม ตั้งโจทย์ว่าสินค้าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีเอกลักษณ์หรือไม่ ดูความต้องการตลาด แล้วให้สตาร์ทอัพนำข้อมูลเหล่านี้มาเติมเต็มธุรกิจที่มีอยู่ บนฐานของต้นทุน เช่น ทรัพยากร วัฒนธรรมที่โดดเด่นจะทำให้มีประสิทธิภาพ คุณภาพสูง นำสู่ต้นทุนต่ำ และแข่งขันได้ สิ่งสำคัญ คือ วันนี้รากฐานเรา คือ ธุรกิจการเกษตร ที่จะสร้างการเชื่อมต่อด้วยเทคโนโลยี รวมทั้งต้องให้ความสำคัญกับระบบโลจิสติกส์”

นายธีระพล กล่าวว่า การสร้างระบบนิเวศที่ดีให้กับสตาร์ทอัพ ต้องเปิดพื้นที่ให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน เช่น มีพื้นที่โคเวิร์คกิ้งสเปซ ดังนั้นสตาร์ทอัพแต่ละรายจะเป็นเลโก้หรือตัวต่อที่สำคัญในระบบนิเวศ ในส่วนที่สตาร์ทอัพต้องปรับปรุง คือ ต้องเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคมหาวิทยาลัย รวมถึงการพัฒนานวัตกรรม อาจดึงบุคลากรมาจากต่างประเทศ เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ

“ขณะนี้ ทรูอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ทรู ดิจิทัล พาร์ค เพื่อเป็นฮับด้านวิจัยและพัฒนา ในเงินลงทุนประมาณ 3 หมื่นล้านบาท คาดว่าอีกประมาณ 2 ปี การก่อสร้างจะแล้วเสร็จ”