'ดับบลิวเอชเอ'รุกลงทุนนอกบ้าน รับมือศก.ชะลอ

'ดับบลิวเอชเอ'รุกลงทุนนอกบ้าน รับมือศก.ชะลอ

“ดับบลิวเอชเอ” รุกลงทุนนอกบ้าน รับมือเศรษฐกิจชะลอ ชิมลางอินโดนีเซีย พร้อมลุย "เวียดนาม-เมียนมา" เป้าหมายต่อไป

ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ผลประกอบการของ “กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม” หลายรายปรับตัวลดลง โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่อย่าง บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น(WHA), บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชัน (AMATA) , บมจ.สวนอุตสาหกรรมโรจนะ (ROJNA) และบมจ.ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น (TICON) เป็นต้น

สะท้อนผ่านตัวเลข “ผลกำไรสุทธิ” ในงวด 9 เดือน ปี 2559 ที่อยู่ระดับ 496 ล้านบาท 455 ล้านบาท 10 ล้านบาท และ 267 ล้านบาท ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปี 2558 มีกำไรสุทธิ 1,953 ล้านบาท 1,216 ล้านบาท 697 ล้านบาท และ 769 ล้านบาท ตามลำดับ
ขณะเดียวกัน ยังกดดันราคาหุ้นกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมบางตัว จนส่งผลให้มาร์เก็ตแคปขยับตัวลดลง เช่น หุ้น AMATA และหุ้น ROJNA จากเคยมีมาร์เก็ตแคป 13,124 ล้านบาท และ 10,229 ล้านบาท ตามลำดับในปี 2558

แต่สิ้นปี 2559 ตัวเลขลดลงเหลือ 12,270 ล้านบาท และ 9,172 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนหุ้น WHA และ หุ้น TICON กับมีตัวเลขเพิ่มขึ้น จากระดับ 40,961 ล้านบาท และ 13,079 ล้านบาท เป็น 42,394 ล้านบาท และ 18,245 ล้านบาท ในปี 2559

สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมบางรายจำเป็นต้องปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง อาทิ TICON หลัง ROJNA ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ตัดสินใจขายหุ้น TICON สัดส่วน 40% ให้กับบริษัท เฟรเซอร์สพร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ FPHT ในฐานะบริษัทย่อยของ บริษัท เฟรเซอร์ส ไทยแลนด์ จํากัด (FCL) ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ระหว่างประเทศแบบครบวงจร

ขณะที่ AMATA เริ่มหันมาให้ความสำคัญการทำธุรกิจในนิคมอุตสาหกรรมประเทศเวียดนามมากขึ้น เป็นต้น

สอดคล้องกับความเห็นของ “จรีพร จารุกรสกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) ยอมรับกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ภาวะเศรษฐกิจในประเทศส่งผลกระทบต่อธุรกิจ แต่สำหรับบริษัทถือว่าได้รับผลกระทบไม่มากนัก เนื่องจากที่ผ่านมาได้ปรับโครงสร้างองค์กรไประดับหนึ่งแล้ว ด้วยการกระจายความเสี่ยงไปใน 4 กิจการ ได้แก่

ธุรกิจพัฒนาและบริหารจัดการโครงการนิคมอุตสาหกรรม, ธุรกิจพัฒนาโครงการโรงงานสำเร็จรูปให้เช่า และโครงการคลังสินค้าโลจิสติกส์, ธุรกิจให้บริการระบบสาธารณูปโภค(น้ำ-ไฟฟ้า) และธุรกิจศูนย์กลางข้อมูล

ฉะนั้นหากธุรกิจไหนได้รับผลกระทบยังมีธุรกิจตัวอื่นคอยดันฐานะการเงิน

ในช่วงที่เศรษฐกิจภายในยังไม่ปกติ บริษัทยังจะอาศัยจังหวะนี้ออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น ถือเป็นการกระจายความเสี่ยงที่ดีทางหนึ่ง ที่ผ่านมาเข้าไปชิมลางการลงทุนในอินโดนีเซีย ด้วยการสร้างคลังสินค้าสำเร็จรูปพื้นที่ 30,000 ตารางเมตร ล่าสุดอยู่ระหว่างการลงทุนเฟส 2 และกำลังศึกษาการลงทุนในธุรกิจโลจิสติกส์

สำหรับเป้าหมายต่อไป อาจเห็นองค์กรแห่งนี้เข้าไปลงทุนธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมในเวียดนาม หลังรัฐบาลเวียดนามจัดสรรที่ดินจำนวน 20,000 ไร่ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเวียดนามตอนใต้ ให้มาพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรม อายุสัญญาเช่า 70 ปี

โดยบริษัทอาจใช้เวลาขายที่ดินประมาณ 20 ปี ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนรอลงนามสัญญา เบื้องต้นจะแบ่งการลงทุนออกเป็น 2 นิคมอุตสาหกรรม จำนวน 6 เฟส เฟสแรกจะพัฒนาพื้นที่ทั้งหมด 3,000 ไร่ เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมอาหาร และวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น

“ที่ดินในเวียดนามตั้งอยู่ใกล้ท่าเรือ ขณะที่มีประชากรใช้แรงงานมากกว่า 1.9 ล้านคน ที่สำคัญยังมีการเติบโตของจีดีพี 10.7% ต่อปี ข้อดีเหล่านี้ทำให้เราสนใจเข้าลงทุน”

ส่วนรายละเอียดของการลงทุนในเวียดนาม บริษัทจะเริ่มต้นด้วยการขายที่ดินก่อน หลังจากนั้นจะนำธุรกิจสร้างคลังสำเร็จรูปเข้าไปเจาะตลาด ตามต่อด้วยธุรกิจน้ำและไฟฟ้า โดยจะให้ บมจ.ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์แอนด์พาวเวอร์ (WHAUP) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ WHA เข้าไปลงทุน ตบท้ายด้วยธุรกิจวางระบบ

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวต่อว่า อีกประเทศที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือ เมียนมา หลังจากกลับมาจากการร่วมเดินทางไปกับคณะรัฐบาล นำโดยสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว พบว่า เมียนมายังมีความต้องการในหลากหลายด้าน โดยเฉพาะในแง่พลังงาน เบื้องต้นบริษัทวางแผนว่า อาจเข้าไปลงทุนในธุรกิจโลจิสติกส์ก่อน ตามต่อด้วยธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ธุรกิจน้ำ ไฟฟ้า และธุรกิจดิจิทัล

“ตั้งเป้าสัดส่วนรายได้งานต่างประเทศ 5-10% ภายใน 5 ปี (ปี 2559-2563) โดยจะใช้เงินลงทุนประมาณ 42,000 ล้านบาท และจะเพิ่มเป็น 40% ภายใน 10 ปีข้างหน้า (ปี2559-2568)”

จรีพร ยังบอกด้วยว่า ในส่วนของธุรกิจศูนย์กลางข้อมูลที่บริษัทเป็นผู้ลงทุนเอง เพื่อให้บริการลูกค้าที่ใช้บริการนิคมอุตสาหกรรมและคลังสินค้าของบริษัท ตามแผนธุรกิจในช่วง 5 ปีข้างหน้า (2559-2563) ตั้งเป้าหมายจะมีดาต้าเซ็นเตอร์ทั้งหมด 10 แห่ง โดยปีนี้จะทำก่อน 3 แห่ง

ขณะเดียวกันยังวางแผนจะนำบริษัทดังกล่าวเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ เพราะเชื่อมั่นว่า ในอนาคตจะเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตในลักษณะก้าวกระโดด ปัจจุบันบริษัทแห่งนี้สร้างรายได้เพียงหลักร้อยล้านบาท แต่อนาคตโอกาสจะมีรายได้ต่อปีหลักพันล้านไม่ใช่เรื่องยาก อย่างน้อยภายใน 2-3 ปีข้างหน้ารายได้ต้องเติบโตเท่าตัว

“อีกไม่นานเราจะมีธุรกิจตัวที่ 5 ซึ่งเป็นกิจการที่เกี่ยวข้องกับงานที่ดำเนินการอยู่ ซึ่งเราใช้เวลาศึกษางานนี้มานานกว่า 3 ปี”

ผู้บริหาร ยังเชื่อว่า ผลประกอบการในปี 2560 ตัวเลขจะอยู่ในระดับที่น่าพอใจ เนื่องจากจะมีการโอนที่ดินที่เกิดจากการขายเข้ามาค่อนข้างมาก ขณะที่สัดส่วนรายได้ประจำ (Recurring Income) จะเพิ่มขึ้นเป็น 40% จากเดิมที่อยู่ระดับ 15%

นอกจากนั้นยังมีรายได้จากการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น จากการเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (COD) ของโรงไฟฟ้า 4 แห่งเพิ่มอีก 500 เมกะวัตต์ จากปีเดิมที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 350 เมกะวัตต์ อีกทั้งจะมีรายได้ค่าน้ำและค่าไฟเพิ่มขึ้น