'สมคิด'ชงครม.งัดมาตรการภาษีหนุนลงทุนอีอีซี

'สมคิด'ชงครม.งัดมาตรการภาษีหนุนลงทุนอีอีซี

"สมคิด" เล็งชงครม.งัดมาตรการภาษีหนุนลงทุนอีอีซี เปิดทางเลือกภาษีบุคคลธรรมดาอัตราคงที่17% หวังดึงผู้เชี่ยวชาญ–นักธุรกิจชั้นนำปักหลักในพื้นที่

รัฐบาลเร่งผลักดันการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) อย่างต่อเนื่อง หวังผลักดันให้เกิดการลงทุนตามนโยบาย“ประเทศไทย4.0” โดยเตรียมลดภาษีบุคคลธรรมดาเหลือ 17% ในอัตราคงที่ จากเดิมเป็นขั้นตามรายได้

ก่อนหน้านี้รัฐบาลออกมาตรการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) โดยให้สิทธิพิเศษนานถึง 15 ปี ในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง และเตรียมมาตรการส่งเสริมรายคลัสเตอร์เพิ่มเติม

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “Push forward ส่องเศรษฐกิจ4.0 ปีไก่ทอง” ภายในงาน “ก้าวปีที่ 40 มติชน ก้าวคู่ประเทศไทย 4.0” วานนี้ (22 ก.พ.) ว่ารัฐบาลจะต้องปรับเปลี่ยนการลงทุนของประเทศเพื่อให้รองรับกับการพัฒนาตามนโยบายประเทศไทย4.0 โดยเฉพาะการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งนอกจากการเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแล้ว รัฐบาลจะมีมาตรการทางภาษีเพื่อช่วยดึงดูดการลงทุนในพื้นที่

นายสมคิด กล่าวว่า ในวันที่28ก.พ.นี้ กระทรวงการคลังจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณามาตรการภาษีบุคคลธรรมดาเพื่อสนับสนุนการลงทุนของบริษัทต่างชาติและอุตสาหกรรมเป้าหมายในอีอีซี โดยนักธุรกิจหรือผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆที่เข้ามาทำงานในพื้นที่สามารถเลือกอัตราเสียภาษีบุคคลธรรมดาได้ว่าจะเสียภาษีตามโครงสร้างปกติของประเทศไทย หรือเลือกเสียภาษีแบบคงที่ในอัตรา17%

“แต่ทั้งหมดนี้ยังคงมีมาตรการปลีกย่อยและเงื่อนไขที่ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียด เช่นการเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือการลงทุนและจัดตั้งสถาบันวิจัยเพื่อเพิ่มโอกาสในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในประเทศไทย”

เตรียมออกมาตรการส่งเสริมอุตฯหุ่นยนต์-อีวี

นายสมคิด กล่าวอีกว่า การส่งเสริมการลงทุนของอุตสาหกรรมในพื้นที่อีอีซีในปีนี้จะมีการลงลึกในแต่ละคลัสเตอร์มากขึ้นเพื่อผลักดันให้เกิดการลงทุนจริง โดยใน2สัปดาห์ข้างหน้าได้มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเสนอมาตรการและแนวทางส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย2สาขา ได้แก่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Robotic) และอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า(อีวี) เพื่อส่งเสริมทั้งสองอุตสาหกรรมให้เป็นรูปธรรมในปีนี้

“ในการยกระดับการผลิตของประเทศไปสู่การเป็นประเทศไทย4.0เพิ่มการผลิตให้ทันสมัยและยกระดับของการพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานของความรู้และเทคโนโลยี ซึ่งในปีนี้จะเห็นการพัฒนาอีอีซีที่เป็นรูปธรรม โดยรัฐบาลจะพัฒนาเป็นแอ่งสำหรับรองรับการลงทุนของประเทศต่างๆที่จะเข้ามาลงทุนเพื่อขยายตลาดไปในภูมิภาคซีแอลเอ็มวี ดังนั้นในปีนี้แผนที่วางไว้คือเริ่มต้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น ท่าเรือท่องเที่ยว สนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือจุกเสม็ด รถไฟความเร็วสูงเหล่านี้ต้องทำให้เป็นจุดดึงดูดการลงทุน และต้องดึงสถาบันการศึกษาและการวิจัยต่างชาติให้เข้ามาตั้งในอีอีซีให้ได้เพื่อเป็นฐานในการพัฒนาคนและต่อยอดการพัฒนาเทคโนโลยีในไทย" นายสมคิดกล่าว

นายสมคิด กล่าวต่อไปว่า หลังจากได้มีการประกาศมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งหลักๆเป็นอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสูงไปแล้ว มีนักลงทุนต่างชาติหลายรายตัดสินใจมาลงทุนในไทย เช่น กลุ่มคอนติเนนตัล บริษัทผู้ผลิตยางจากเยอรมัน ซึ่งจะมีการเซ็นสัญญาเข้ามาลงทุนในไทยเร็วๆนี้และจะช่วยส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางการผลิตยางคุณภาพสูงของไทยทั้งในส่วนของยางรถยนต์ และยางอากาศยาน

ตรวจเข้มเบิกจ่ายภาครัฐทุกเดือน

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในปีนี้รัฐบาลจะพยายามที่จะรักษาโมเมนตัมการเติบโตของเศรษฐกิจจากปีก่อนที่เศรษฐกิจขยายตัวได้3.2%ซึ่งพยายามจะผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นจากระดับดังกล่าว โดยนอกจากการลงทุนในอีอีซีและโครงการก่อสร้างภาครัฐที่จะเร่งรัดออกมาแล้ว

นายสมคิด กล่าวว่า จะลงไปกำกับดูแลการเบิกจ่ายของหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจโดยจะลงไปขับเคลื่อนเรื่องนี้ด้วยตนเองทุกเดือนและกำหนดเป็นตัวชี้วัดผลการดำเนินการหรือเคพีไอของหน่วยงานแต่ละแห่งด้วย

“การขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นเพียงส่วนหนึ่ง แต่เป้าหมายสำคัญของรัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการปรับโครงสร้างทำให้เศรษฐกิจไปสู่ประเทศไทย4.0คือเศรษฐกิจที่มีความสมดุลจากปัจจุบันที่พึ่งพิงการส่งออก และบริษัทขนาดใหญ่ไม่กี่ราย โดยเน้นการสนับสนุนให้เกิดสตาร์ทอัพมีการพัฒนาบุคลากรโดยทั้ง2ด้านคือด้านที่รับกับเทคโนโลยีใหม่และภาคเกษตรซึ่งเป็นภาคทีไทยมีความเข้มแข็งให้ไปสู่การเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ซึ่งนำไปสู่การเกษตรแปลงใหญ่ ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย พัฒนาการท่องเที่ยวในท้องถิ่นให้เกิดขึ้นเพื่อให้มีเม็ดเงินลงไปท้องถิ่นเศรษฐกิจเกิดการหมุนเวียนได้ต่อเนื่อง และช่วยเหลือคนรายได้น้อยให้มีช่องทางและโอกาสในการทำธุรกิจผ่านอีคอมเมิร์ซได้มากขึ้น”นายสมคิดกล่าว

ตั้งซูเปอร์บอร์ดจัดซื้อจัดจ้าง

นายสมคิด กล่าวด้วยว่า นายกรัฐมนตรียังเตรียมจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาซึ่งเหมือนเป็นซูเปอร์บอร์ดขึ้นมาเพื่อดูเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะ ซึ่งต่อไปนี้โครงการลงทุนที่ชอบมีการใส่ข้อมูลลงในทีโออาร์ทีหลังจะต้องเจอดีแน่ โดยคณะกรรมการชุดนี้จะมีผู้ที่มีความรู้ เชี่ยวชาญจากภายนอกเข้ามาร่วมด้วย ซึ่งจะมีการนำรายของคณะกรรมการชุดนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบปฏิรูปยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ในเร็วๆนี้ เพื่อให้เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลและสร้างความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ

“ที่ผ่านมาที่มีการดำเนินการเข้มงวดในส่วนของการกำหนดราคากลางนั้น ทำให้รัฐสามารถประหยัดงบประมาณไปกว่า6หมื่นล้านบาทซึ่งการประหยัดได้มากขนาดนี้ทำให้รู้ว่าการกำหนดราคากลางในระบบราชการนั้นยังมีช่องว่างอยู่มาก”นายสมคิดกล่าว

“เทวินทร์”ชี้ช่วยเร่งตัดสินใจลงทุน

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน)กล่าวว่ามาตรการภาษีบุคคลธรรมดาแบบคงที่ในอัตรา 17% จะมีส่วนช่วยสนับสนุนในภาคธุรกิจ ตัดสินใจเข้าไปลงทุนในอีอีซีได้เร็วขึ้น เพราะปัจจุบันยังมีหลายธุรกิจที่อยู่ระหว่างตัดสินใจเข้าไปลงทุน รวมถึงกลุ่ม ปตท. ที่ปัจจุบัน ได้ดำเนินการอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัด อยู่แล้วทั้งกิจการโรงกลั่น โรงปิโตรเคมี โรงไฟฟ้า โรงแยกก๊าซ และคลังรับแอลเอ็นจี รวมถึงยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการตัดสินใจที่จะลงทุนเพิ่มเติม

นายเทวินทร์ มองว่า กลไกภาษีจะเป็นส่วนที่ช่วยให้ตัดสินใจลงทุนได้ง่ายขึ้น

“มาตรการภาษีที่ช่วยดึงดูดนักธุรกิจและนักลงทุนเข้าไปในพื้นที่ ถือเป็นมาตรการที่ดีที่จะทำให้เห็นภาพการลงทุนเพิ่มขึ้นได้ในปีนี้ และปีหน้า ขณะที่ปตท.เองก็ทำงานร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ให้พร้อมรองรับการลงทุนใหม่ ซึ่งโครงอีอีซี ของรัฐบาลถือเป็นประโยชน์ต่อประเทศ”

ส.อ.ท.ระบุสร้างความเชื่อมั่นมากขึ้น

นายเอกรัตน์ ทองธวัช ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่าการที่รัฐจะพิจารณามาตรการภาษีบุคคลธรรมดา เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเข้าไปลงทุนในอีอีซีนั้น ถือว่ามาตรการภาษีเป็นหนึ่งในหลายๆมาตรการที่จะเข้าเสริมสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนและผู้เชี่ยวชาญที่จะเข้าไปในอีอีซี นอกเหนือจากก่อนหน้าที่ที่รัฐบาลได้ออกกฎหมายต่างเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนไปแล้ว เช่น พ.ร.บ.อีอีซี

ภาคเอกชน เชื่อมั่นว่า ภาครัฐกำลังพิจารณาอีกหลายมาตรการเพื่อมาสนับสนุนให้การลงทุนในพื้นที่เกิดขึ้นได้เร็ว

“ภาคเอกชน พร้อมสนับสนุนทุกมาตรการที่เกี่ยวข้องกับ อีอีซี เพราะหากต้องการให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ และมีคนเข้าไปทำงาน ก็ควรมีหลายมาตรการเพื่อจูงใจ โดยอย่าคิดว่า การลดภาษีจะทำให้ประเทศเสียประโยชน์ แต่ในขณะเดียวกัน ประเทศจะได้ประโยชน์จากเม็ดเงินลงทุนที่จะตามมา โดยเฉพาะโครงการปิโตรเคมีที่มีมูลค่าจำนวนมาก”

นายเอกรัตน์ กล่าวว่า ปัจจุบัน ภาครัฐได้เร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซีแล้ว เชื่อว่าอีกไม่นานการลงทุนของภาคเอกชนจะเกิดขึ้นตามได้