'เอ็กซิมแบงก์' ชูสินเชื่อใหม่ 3.5 หมื่นล.

'เอ็กซิมแบงก์' ชูสินเชื่อใหม่ 3.5 หมื่นล.

เอ็กซิมแบงก์ชู "สินเชื่อใหม่ 3.5 หมื่นล้าน" เปิดเพจเกจใหม่แถมประกันส่งออกฟรีตั้งเป้าปล่อย 3 พันล้านบาท

เอ็กซิมแบงก์ คาดสินเชื่อใหม่โตตามเป้า 3.5 หมื่นล้านบาท หลังการส่งออกฟื้นตัวได้อานิสงส์เศรษฐกิจโลกกระเตื้อง ราคาน้ำมันขยับขึ้น เปิดสินเชื่อตัวใหม่แถมทำประกันส่งออกฟรี วงเงิน 3 พันล้านบาท ช่วยเอสเอ็มอีได้ประมาณ 700 ราย

นายพิศิษฐ์ เสรีวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) เปิดเผยว่า แผนการดำเนินงานของธนาคารปีนี้ ประเมินว่าสินเชื่อใหม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 3.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่มีสินเชื่อใหม่กว่า 2 หมื่นล้านบาท จากแนวโน้มการส่งออกที่มีสัญญาณฟื้นตัวอย่างชัดเจน โดยกระทรวงพาณิชย์คาดว่าการส่งออกปีนี้จะเติบโตได้ในระดับ 3.5-4%

ทั้งนี้การส่งออกที่ฟื้นตัว มีปัจจัยหนุนมาจาก เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวโดยเฉพาะในตลาดสหรัฐ และตลาดเกิดใหม่เช่นในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน (ซีแอลเอ็มวี) ที่มีการขยายตัวสูงมากประกอบกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งราคาน้ำมันและพืชเกษตร เริ่มปรับสูงขึ้น ทำให้กำลังซื้อของคนโดยรวมดีขึ้นตาม แม้ว่าจะมีความเสี่ยงเรื่องเงินเฟ้อแต่คนก็มีกำลังซื้อ นอกจากนี้ทางเอกชนยังส่งสัญญาณจะลงทุนตามรัฐบาล ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจในประเทศดีขึ้นมาก

นายพิศิษฐ์ กล่าวต่อว่า ธนาคารได้ทำสินเชื่อหนุนผู้ส่งออกเอสเอ็มอี ด้วยการให้อัตราดอกเบี้ยต่ำ และฟรีประกันการส่งออกสินเชื่อดังกล่าว อยู่ภายใต้ชื่อ EXIM Export Credit Plus ซึ่งให้วงเงินกู้ต่อรายสูงสุด 50 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยสำหรับการกู้เป็นเงินสกุลบาท คิดดอกเบี้ยในปีแรก 4.5% ต่อปี ,ปีที่สองคิดอัตราดอกเบี้ยลูกค้าชั้นดี หรือไพร์มเรท ลบ 1% ซึ่งปัจจุบันอัตราดอกเบี้ย Prime rate อยู่ที่ 6.25%

กรณีที่ลูกค้าต้องการกู้เป็นเงินสกุลดอลลาร์ ธนาคารจะคิดอัตราดอกเบี้ยปีแรกอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงระยะสั้นตลาดลอนดอนหรือ Libor บวก 3 % ต่อปี และปีที่สองคิด Libor บวก 3.5 % ต่อปี โดยผู้กู้ จะต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน 25% ของวงเงินสินเชื่อ ตั้งวงเงินปล่อยสินเชื่อไว้ประมาณ 3 พันล้านบาท คาดช่วยผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีได้ประมาณ 700 ราย และคาดว่าจะมีวงเงินหมุนเวียน หรือ turnover ของยอดการค้า ราว 1 หมื่นล้านบาท

นายพิศิษฐ์กล่าวว่า สินเชื่อดังกล่าว นอกจากจะเป็นการลดอัตราดอกเบี้ย ที่ตามปกติธนาคารจะคิดดอกเบี้ยในอัตรา Prime rate แล้ว ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่มาใช้สินเชื่อในโครงการนี้ ยังสามารถประหยัดค่าเบี้ยประกันการส่งออก ที่อยู่ในอัตรา 0.5% ถึง 2% ของมูลค่าการส่งออกอีกด้วย ซึ่งอัตราการรับประกันการชำระค่าสินค้าส่งออก กรณีเกิดปัญหาไม่ได้รับการชำระจากผู้ซื้อต่างประเทศนั้น เฉลี่ยอยู่ที่ 90%

อย่างไรก็ตามเอสเอ็มอี ที่ใช้บริการสินเชื่อดังกล่าว จะต้องยอมให้ธนาคาร เข้าไปตรวจสอบข้อมูลลูกค้าในต่างประเทศ เพื่อตรวจสอบเครดิต ก่อนที่จะให้สินเชื่อ ซึ่งจะช่วยให้เอสเอ็มอี กล้าที่จะเปิดตลาดต่างประเทศมากขึ้นอย่างไรก็ตาม มีเพียงบางประเทศที่ธนาคารยังไม่สามารถรับประกันการส่งออกได้ เนื่องจากเป็นประเทศที่ถูก Sanction จากสหประชาชาติ เช่น เลบานอน, อิหร่าน, อิรัก, เวเนซุเอลา,เกาหลีเหนือ เป็นต้น

นายพิศิษฐ์กล่าวว่า ในปัจจุบันผู้ส่งออกรายใหญ่ ที่มียอดขายระดับพันล้านบาทขึ้นไป ล้วนทำประกันการส่งออก ที่เพื่อป้องกันความเสี่ยงโดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจโลกมีความผันผวน แต่สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอี ที่มียอดขายตั้งแต่ 200 ล้านบาทลงมา ยังไม่กระตือรือร้นเท่าที่ควรในการทำประกันการส่งออก

โดยในปีที่ผ่านมาธนาคาร มียอดการจ่ายเคลมประกันเพียง 15 ราย คิดเป็นวงเงินเคลมประกัน 20 ล้านบาท ซึ่งยอด Lost ratio เพียง 20 % ขณะที่ยอด lost ratio ของระบบอยู่ที่ 50% แต่ในสถานการณ์ความผันผวนทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ยอด Lost ratio ของผู้รับประกันบางรายสูงถึง 70-90%