“ภูมิสถาปัตย์” ในงานพระเมรุมาศ

“ภูมิสถาปัตย์” ในงานพระเมรุมาศ

กำหนดการยกเสาเอกและบวงสรวงสิ่งปลูกสร้างประกอบพระเมรุมาศในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2560 และดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้

หากเปรียบงานสถาปัตยกรรมเป็นภาพวาด “ภูมิสถาปัตยกรรม” ก็เหมือนกรอบรูป ที่เชิดชูให้ภาพวาดดูโดดเด่น 

สำหรับการออกแบบสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศ พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช นั้นเสร็จสมบูรณ์แล้ว และอยู่ระหว่างการตรวจรายละเอียด เช่นเดียวกับงานภูมิสถาปัตยกรรม ซึ่งกรมศิลปากรได้เผยแพร่ผลงานการออกแบบเมื่อไม่นานมานี้

         ดร.พรธรรม ธรรมวิมล หนึ่งในทีมออกแบบ สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ผู้อยู่เบื้องหลังการออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศ ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี, สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และพระเมรุใน สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ ได้รับหน้าที่ร่วมงานในการถวายงานออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช 

“โดยประเพณีในการสร้างพระเมรุ ที่มีมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์นั้น จะมีการสร้างพระเมรุมาศทางทิศใต้ของสนามหลวง เพราะทิศเหนือเป็นส่วนของวังหน้า สมัยก่อน สนามหลวงเล็กกว่านี้และเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู พอมีการขยายขนาดของสนามหลวง จึงเป็นทรงไข่อย่างที่เห็นในปัจจุบัน เมื่อเราได้เข้ามาร่วมวางผัง เราก็เสนอแนวคิดว่า หากตำแหน่งพระเมรุมาศอยู่ในแนวแกนที่มีความหมาย จะส่งเสริมให้มีความสัมพันธ์กับบริบทของ กรุงรัตนโกสินทร์และเกิด ความสง่างาม”

         เขาอธิบายถึงการสร้างความเชื่อมโยงพื้นที่ ด้วยการวางผังตามแนวแกนเป็นจุดเริ่มต้นของบทบาทภูมิสถาปนิก ด้วยตำแหน่งยอดพระปราสาท มณฑปประธานของพระเมรุมาศ ที่ถูกกำหนดให้แกนเหนือ-ใต้ตรงกับตำแหน่งพระศรีรัตนเจดีย์ ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตัดกับ ยอดหลังคา เขตพุทธาวาสประดิษฐาน พระอุโบสถ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎ์ บนแกนตะวันออก-ตะวันตก ทำให้พระเมรุมาศองค์นี้เกิดความสง่างามสัมพันธ์กับปูชนียสถานที่สำคัญของพื้นที่

         กลุ่มอาคารพระเมรุมาศ เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาดความกว้าง 60 เมตร จึงถูกจัดวางอยู่ทางทิศใต้ ค่อนไปทางทิศตะวันออกของสนามหลวง ถัดจากขั้นบันไดขั้นสุดท้ายมีลานกว้าง 20 เมตรทั้งสี่ทิศ สำหรับประกอบพระราชพิธี ทางทิศตะวันตก เป็นที่ตั้งของ พระที่นั่งทรงธรรมขนาดประมาณ 2,000 ที่นั่งและมีศาลาลูกขุน ทับเกษตรและอาคารประกอบอยู่โดยรอบ

         การออกแบบดังกล่าว ใช้คติความเชื่อเรื่องภูมิจักรวาลตามแบบโบราณราชประเพณี และสร้างความเป็นเอกภาพ ของงาน สถาปัตยกรรม ประติมากรรม วิจิตรศิลป์ และภูมิสถาปัตยกรรม ที่ต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกันเดียวกัน เหมือนการดนตรีที่บรรเลงอย่างไพเพราะ ถือเป็นโจทย์หลักของคณะออกแบบ

 “แนวความคิด ที่ต้องมีความสมพระเกียรติ ยึดถือความเป็นรูปแบบประเพณี

และตีความตามแบบแผนภูมิจักรวาล ซึ่งเป็นเงื่อนไขเริ่มต้น หลังจากนั้นทีมงานก็มาตีโจทย์ต่อว่าจะให้มีความยิ่งใหญ่ ด้วยรูปแบบที่ต่างจากพระเมรุองค์อื่นๆ ที่เคยออกแบบได้อย่างไร อย่างครั้งนี้เป็นเรื่องของน้ำ ในงานแลนด์สเคปได้แบ่งพื้นที่เป็น 2 ส่วน คือ ส่วนพระเมรุมาศที่จะออกแบบให้เป็นภาพของสวรรค์ จึงใช้น้ำต่างสระอโนดาต และมหานทีสีทันดร ส่วนพื้นที่ด้านนอกรั้วราชวัตรก็มีการใช้น้ำเป็นองค์ประกอบที่สื่อถึงพระราชกรณียกิจ ซึ่งต้องกลับไปทำการบ้านด้วยการศึกษาลักษณะของน้ำ ทั้ง น้ำล้น น้ำปริ่ม การสะท้อนผิวน้ำ หรือแม้แต่การทำให้น้ำใสอยู่ตลอด เพื่อนำมาใช้ในการออกแบบให้สมพระเกียรติมากที่สุด” เขาอธิบาย      ดร.พรธรรม ยังพูดถึงความท้าทายในการออกแบบ จากการใช้องค์ประกอบของน้ำ ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ในสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศที่มีน้ำล้อมรอบอาคาร สื่อถึงสระอโนดาต มหานทีสีทันดร และองค์ประกอบของน้ำ ที่หมายถึงโครงการในพระราชดำริเกี่ยวกับ ป่า ดิน น้ำและการเกษตร อาทิ โครงการฝายน้ำล้น โครงการกังหันชัยพัฒนา โครงการหญ้าแฝก รวมทั้งโครงการแก้มลิง ที่สามารถใช้งานในการหน่วงน้ำได้จริง นอกจากนี้ ยังมีองค์ประกอบที่สื่อถึงพระองค์ อาทิ คันนารูปเลขเก้าไทย (๙) ดินผสมสีทองอยู่ บริเวณนาข้าวต้นมะม่วงมหาชนก ต้นยางนา ต้นราชพฤกษ์ อีกทั้งลวดลวยกระต่ายในองค์ประกอบภูมิทัศน์ต่างๆสื่อถึงปีนักษัตริย์พระราชสมภพที่ถูกจัดวางอย่างลงตัว

         นอกจากนี้ ยังมีเทคนิครายละเอียดที่ส่งเสริมให้พระเมรุมาศมีความพิเศษ อย่างการใช้ วัสดุปูพื้นลานรอบพระเมรุมาศ มีการเลือกใช้แผ่นซีเมนต์สีเทามีผิวสัมผัสสะท้อนระยิบระยับ ใช้ไฟส่องสว่างที่ให้แสงนวลสลัวไปยังประติมากรรมสัตว์หิมพานต์ และยอดปราสาท อีกทั้งมีการใช้เครื่องพ่นละอองน้ำ ช่วยลดความร้อนช่วงกลางวัน และเสริมบรรยากาศยามค่ำคืน ให้ดูราวกับพระเมรุมาศลอยอยู่เหนือมวลเมฆ ส่วนองค์ประกอบสี มี 3 สีหลัก คือ สีขาว สีทอง และสีเทา ไม่เน้นลวดลาย เพื่อให้คุณค่ากับสถาปัตยกรรมหลัก คือ พระเมรุมาศ

 แม้จะมีการปรับระดับฐานพระเมรุมาศให้สูงจากระดับดินเดิม 60-80 เซนติเมตร แต่ทีมออกแบบเลือกจะใช้ทางลาดแทนการใช้บันได ใช้วัสดุกันลื่น เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้รถเข็น และเพื่อความปลอดภัย

         สำหรับ การย้ายต้นมะขามที่หลายคนเป็นกังวล อ.พรธรรมอธิบายถึงความจำเป็น จากขนาดพระเมรุมาศที่ใหญ่โต เลยถนนกลางไป ราว 50 เมตร จำเป็นต้อง ทำถนนกลางใหม่ จึงจำเป็นต้องย้ายต้นมะขาม 50 ต้น ไปอนุบาลไว้ มีการเพาะพันธุ์ต้นมะขามแต่ละต้น หากต้นเดิมตายไป และจะนำมาปลูกตำแหน่งเดิมโดยผู้เชี่ยวชาญด้านรุกศาสตร์ หลังพระราชพิธี

         “ครั้งนี้พระเมรุมาศจะมีขนาดใหญ่เลยกว่าครึ่งหนึ่งของพื้นที่สนามหลวง อาคารประกอบก็มีความใหญ่โตตามไปด้วย อย่างพระที่นั่งทรงธรรม ในครั้งก่อนๆ จะมีผังเป็นตัวที (T) เนื่องจากมีขนาดเล็กกว่า แต่ครั้งนี้ ที่ขนาดใหญ่กว่าทุกครั้ง เพื่อรองรับผู้คนจำนวนมาก จึงกินพื้นที่ทับถนนกลางสนามหลวงไปประมาณ 50 เมตร ถนนเส้นกลางใหม่จึงถูกกำหนดขึ้น ทำให้เราจำเป็นต้องล้อมย้ายต้นมะขามเดิม ออกไปอนุบาลไว้ก่อนเมื่อเสร็จพระราชพิธีแล้วจึงจะย้ายกลับมาปลูกตามเดิม จึงมีการประสานกับรุกขกรที่เชี่ยวชาญ และมีการเพาะพันธุ์ต้นมะขามแต่ละต้นก่อนย้าย หากต้นเก่าตายไป จะได้นำต้นใหม่ที่เป็นทายาทต้นเดิมมาทดแทน”

เหตุการณ์ครั้งนี้

      นับเป็นความสูญเสียที่ใหญ่หลวงของประเทศที่ได้สูญเสียพระมหากษัตริย์ที่รักยิ่งของชาวไทย ดร.พรธรรมเผยความรู้สึกที่มีโอกาสร่วมงานในครั้งนี้ว่า เป็นการถวายพระเกียรติยศสูงสุดต่อพระองค์เพื่อส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย นับเป็นที่สุดของชีวิตในฐานะภูมิสถาปนิกของกรมศิลปากรและในฐานะคนไทยคนหนึ่ง พร้อมที่จะถวายงานอย่างสุดความสามารถ