ธนารักษ์-ทอท.สรุปค่าเช่า'สุวรรณภูมิ' คิด2อัตรา

ธนารักษ์-ทอท.สรุปค่าเช่า'สุวรรณภูมิ' คิด2อัตรา

"ธนารักษ์ - ทอท." ได้ข้อสรุปวิธีคิดอัตราค่าเช่าที่ดินสนามบินสุวรรณภูมิ โดยใช้ 2 อัตรา มั่นใจไม่กระทบต่อประชาชนผู้ใช้สนามบิน

นายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยภายหลังการหารือเพื่อสรุปเรื่องอัตราค่าเช่าที่ดินราชพัสดุที่สนามบินสุวรรณภูมิระหว่างกรมธนารักษ์เจ้าของพื้นที่กับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) หรือ ทอท.ในฐานะผู้เช่าที่ว่า กรมธนารักษ์ และ ทอท.ได้ข้อตกลงในเรื่องอัตราค่าเช่าที่ดินของสนามบินสุวรรณภูมิเรียบร้อยแล้ว โดยกำหนดค่าเช่าเป็นสองอัตราระหว่างพื้นที่ ที่ใช้ในกิจการการบิน (Aero) กับ พื้นที่ที่ใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ (Non Aero) เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการและตัวสายการบิน

ทั้งนี้ การหารือเป็นไปอย่างฉันมิตร ได้ข้อสรุปว่า จะแบ่งการใช้ประโยชน์ที่ดินในสนามบินสุวรรณภูมิ เป็นสองประเภท ประเภทแรก คือ ที่ใช้ในกิจการการบิน (Aero) ให้ใช้อัตราค่าเช่าแบบส่วนแบ่งตามสัดส่วนรายได้ หรือ Revenue Sharing ในอัตรา 5% ซึ่งการคิดวิธีนี้และในอัตราค่าเช่าดังกล่าว เป็นวิธีการและอัตราที่ ทอท.ได้จ่ายค่าเช่าที่ดินให้แก่กรมธนารักษ์ ในปัจจุบัน

การคิดค่าเช่าในส่วนของพื้นที่ที่ใช้ในกิจการการบิน ในวิธีและอัตราดังกล่าว เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อประชาชนที่ใช้สนามบิน ที่อาจต้องจ่ายค่าใช้สนามบินสูงขึ้น รวมถึงค่าใช้จ่ายของสายการบินที่บินมาลงที่สุวรรณภูมิ

ส่วนพื้นที่ที่ดินประเภทที่สอง คือ ที่ดินที่ใช้ประโยชน์เพื่อเชิงพาณิชย์ จะใช้วิธีการคิดค่าเช่าแบบ มูลค่าตามสินทรัพย์ หรือReturn on Assets : ROA ซึ่งมีอัตราระหว่าง 3-5% แต่กรมธนารักษ์ จะคิดในอัตรา 3% เท่านั้น

นายจักรกฤศฎ์ กล่าวว่า การคิดอัตราค่าเช่าดังกล่าว ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อ ทอท.มากนัก สำหรับการนับอายุสัญญาของการเช่าที่ดิน ซึ่งตามสัญญากำหนดว่า เมื่อครบ 10 ปีของการเช่า ให้มีการทบทวนอัตราค่าเช่ากันใหม่ แต่ประเด็น คือ การนับอายุ 10 ปี ของสัญญาเช่า จะนับอย่างไร ซึ่ง ทอท.ตีความว่า ให้นับตั้งแต่วันที่ ทอท.ได้เข้ามาดูแลสนามบิน แต่กรมธนารักษ์ ตีความว่า ให้คิดอายุสัญญาเช่า นับตั้งแต่กรมธนารักษ์ส่งมอบพื้นที่ให้แก่ ทอท.ซึ่งหากเป็นไปตามแนวทางของกรมธนารักษ์ ทอท.จะต้องจ่ายค่าเช่าย้อนหลังให้แก่กรม ตามวิธีการคิดค่าเช่าแบบใหม่ข้างต้นด้วย

สำหรับที่ดินในสนามบินสุวรรณภูมิ ที่ยังไม่ได้รับการพัฒนานั้น ทอท.จะต้องไปจัดสรรว่า พื้นที่ดังกล่าวจะนำมาใช้ประโยชน์ด้าน Aero หรือ Non Aero แล้วให้คิดอัตราค่าเช่าตามที่กำหนดดังกล่าวข้างต้น

ด้านนายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้จัดการ ทอท.กล่าวว่า ข้อสรุปในเรื่องวิธีและอัตราการคิดค่าเช่าที่ดินดังกล่าว จะไม่ส่งผลกระทบต่อค่าโดยสารเครื่องบินที่ประชาชนใช้บริการ ซึ่งหลังจากนี้ทั้งทอท.และกรมธนารักษ์ จะมาสรุปในรายละเอียดอีกครั้ง

นายศิโรจน์ ดวงรัตน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิตั้งอยู่บนพื้นที่ 20,000 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินราชพัสดุของกรมธนารักษ์ทั้งหมด และเมื่อครบ 10 ปีแล้ว กรมธนารักษ์ก็มีสิทธิ์ทบทวนสัญญาและรูปแบบการคิดค่าเช่า

ปัจจุบัน ทอท.เป็นผู้บริหารและจัดการท่าอากาศยานรวม 6 แห่ง ประกอบด้วย ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานหาดใหญ่ ท่าอากาศยานเชียงรายแม่ฟ้าหลวง ท่าอากาศยาน ดอนเมืองและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งที่ผ่านมา กรมธนารักษ์คิดอัตราค่าเช่าสนามบินทั้ง 6 แห่งแบบ Revenue Sharing หรือ Profit Sharing ในอัตรา 2-5% ของส่วนแบ่งกำไร แต่กรมธนารักษ์ ได้จ้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้เป็นที่ปรึกษาซึ่งได้เสนอให้ปรับวิธีเก็บค่าเช่าเฉพาะท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นแบบ Return on Assets แต่ ทอท.ไม่เห็นด้วย

ทั้งนี้ที่ดินราชพัสดุที่สนามบินสุวรรณภูมิจำนวน 2 หมื่นไร่นั้น มีพื้นที่ใช้ประโยชน์ประกอบด้วย ส่วนที่ใช้ในกิจการการบิน (Aero) คิดเป็นสัดส่วน 43% ของพื้นที่ทั้งหมด ส่วนที่ไม่ได้ใช้ในกิจการการบิน (Non-Aero) คิดเป็นสัดส่วน 32% ของพื้นที่ทั้งหมด และพื้นที่พัฒนาโครงการใหม่ซึ่งเป็นการพัฒนาเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบ พื้นที่บริเวณดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วน 25% ของพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งที่ผ่านมา ทอท.จ่ายค่าเช่าที่ดินที่สุวรรณภูมิปีละประมาณ 1,500 ล้านบาท