'คลัง'เปิดประมูลเขตเศรษฐกิจหนองคาย-มุกดาหาร

'คลัง'เปิดประมูลเขตเศรษฐกิจหนองคาย-มุกดาหาร

"คลัง"เปิดประมูลพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย-มุกดาหาร โดยผู้สนใจสามารถซื้อซองประมูลได้ตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ.ถึง 21 มี.ค.นี้ ให้เวลา 90 วัน

นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า กรมธนารักษ์จะเปิดให้นักลงทุนซื้อเอกสารลงทุน เพื่อเข้าร่วมประมูลเสนอโครงการลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ หนองคาย และมุกดาหาร โดยสามารถซื้อเอกสารการลงทุนได้ตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ.-21มี.ค.2560 หลังจากนั้นจะให้เวลา 90 วัน ในการจัดทำข้อเสนอโครงการเพื่อยื่นเสนอเข้ามาให้กรมฯพิจารณา ซึ่งกรมฯจะใช้เวลา 30 วันเพื่อพิจารณาผู้ชนะการประมูล

สำหรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย มีเนื้อที่ทั้งแปลง 718-0-46 ไร่ ตั้งอยู่ตำบลสระใคร อำเภอสระใคร รัฐบาลมีโครงการรถไฟความเร็วจีน-หนองคาย เพื่อรองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานภายนอกโครงการ ศักยภาพของที่ดิน เป็นช่องทางการค้าชายแดนของไทยกับ สปป.ลาว มีมูลค่าการค้าชายแดนสูงสุด เมื่อเทียบกับการค้าชายแดนอื่นๆ และพื้นที่อยู่ใกล้สนามบินอุดรธานีเพียง 60 กิโลเมตร

ส่วนเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร เนื้อที่สองแปลงรวม 1,080-3-18.7 ไร่ ตั้งอยู่ตำบลคำอาฮวน อำเภอเมืองมุกดาหาร มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานภายนอกโครงการ เขตชายแดนมุกดาหารเป็นจุดผ่านแดนถาวร เชื่อมต่อกับแขวงสะ-หวัน-นะ-เขต สปป.ลาว มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับลาว เป็นอันดับสองของประเทศ ศักยภาพของที่ดินอยู่บนแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก ตะวันตก เชื่อมโยงเข้าสู่ลาวและเวียดนาม เป็นช่องทางที่สำคัญในการขนส่งสินค้าไปยังเวียดนามและจีนตอนใต้

รัฐบาลมีนโยบายให้ดำเนินการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 10 พื้นที่ ได้แก่ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก สระแก้ว สงขลา มุกดาหาร ตราด หนองคาย เชียงราย นครพนม กาญจนบุรี นราธิวาส  ก่อนหน้านี้กรมธนารักษ์ ได้ดำเนินการจัดให้เช่าไปแล้ว 2 พื้นที่ ประกอบด้วย พื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว เนื้อที่ประมาณ 660-2-23 ไร่ ได้จัดทำสัญญาเช่ากับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 18 ก.พ.2559 และพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตราด เนื้อที่ประมาณ 895-0-44 ไร่ ได้จัดทำสัญญาเช่ากับบริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 23 พ.ย.2559 เมื่อรวมครั้งนี้จะเป็น 4 พื้นที่ ส่วน 6 พื้นที่เหลืออยู่นั้นจะทยอยให้ผู้สนใจประมูล ขอรอดูความพร้อมของโครงการก่อน เนื่องจากบางพื้นที่ยังติดปัญหาผู้บุกรุก

สำหรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการลงทุน โดยข้อเสนอทางเทคนิค ต้องนำเสนอแผนการพัฒนาพื้นที่ที่ขอลงทุน แนวคิดในการจัดทำแผนแม่บทเบื้องต้น การจัดทำโครงสร้างพื้นฐานภายในโครงการ ระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ รูปแบบอาคารที่โดดเด่นทันสมัย และมีนวัตกรรมเชื่อมโยงไทยแลนด์ 4.0 การจัดสรรพื้นที่ให้ผู้ประกอบธุรกิจ เอสเอ็มอีรูปแบบจำลองเชิงธุรกิจ กรอบระยะเวลาดำเนินการ และความเป็นไปได้ในเชิงการเงิน ตลอดจนข้อเสนอเงินค่าธรรมเนียมการจัดให้เช่าขั้นต่ำที่ทางราชการกำหนด

“การเปิดประมูลครั้งใหม่นี้มีผ่อนปรนเงื่อนไขบางประการเพื่อให้เป็นที่น่าสนใจ จากเดิม กำหนดให้ผู้ที่เข้าร่วมประมูลต้องมีประสบการณ์ในการพัฒนาที่ดินลักษณะนิคม ปรับเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น การค้า  การลงทุน บริการ หรือภาคการผลิต ส่วนการเสนอโมเดลธุรกิจปรับแก้จากการใช้รูปแบบ BOQ สำหรับราคาค่าก่อสร้าง เป็นใช้ราคาค่าก่อสร้างต่อตารางเมตรแบบ แทน ถือว่า มีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น”