รื้อก.ม.การบินพลเรือน ตั้งเป้าปลดล็อกธงแดง

รื้อก.ม.การบินพลเรือน ตั้งเป้าปลดล็อกธงแดง

ครม.อนุมัติร่างพ.ร.บ.การบินพลเรือน หวังช่วยปลดธงแดง พร้อมเตรียมรับมือไอซีเอโอเข้าตรวจสนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ 13-21 ก.ค.นี้

การประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วานนี้ (21 ก.พ.) เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การบินพลเรือน พ.ศ. ...ซึ่งจะใช้แทนพ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ. 2497 ที่ใช้มานานกว่า 60 ปี และเป็นข้อกำหนดในเรื่องการปฏิรูปกฎหมายตามเงื่อนไขขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอซีเอโอ)

ไอซีอีโอ ติดธงแดงให้ไทย ซึ่งไม่สามารถแก้ไขปัญหาข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย (SSC) ตามมาตรฐานการบินสากลได้ภายในเวลาที่กำหนดตั้งแต่ปี 2558

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่ากฎหมายฉบับนี้จะใช้แทน พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ. 2497 และอ้างอิงหลักปฏิบัติขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอซีเอโอ) จึงถือเป็นการปฏิรูปกฎหมายการบินของประเทศไทยและเป็นหนึ่งในเงื่อนไขการปลดธงแดงโครงการตรวจสอบการกำกับดูแลความปลอดภัย (Universal Oversight Audit Program : USOAP) ของไอซีเอโอ

สำหรับ ร่าง พ.ร.บ. การบินพลเรือน จะมีทั้งหมด 338 มาตรา ลดลงจาก พ.ร.บ.การเดินอากาศ ที่มีประมาณ 500 มาตรา เนื่องจากกระทรวงคมนาคมต้องการให้กฎหมายกระชับ และสามารถปรับเปลี่ยนรายละเอียดได้อย่างรวดเร็วและเท่าทันมาตรฐานสากล โดยขั้นตอนหลังจากนี้จะส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาก่อนประกาศใช้ต่อไป

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.การบินพลเรือน จะเน้นกำหนดกรอบหลักและมอบหมายอำนาจให้ผู้เกี่ยวข้องตัดสินใจ เพื่อให้การกำกับดูแลอุตสาหกรรมการบินมีประสิทธิภาพและสามารถปรับเปลี่ยนตามมาตรฐานสากลอย่างรวดเร็ว

ร่างกฎหมายได้มอบอำนาจการออกใบอนุญาตประกอบกิจการเดินอากาศ (AOL) ให้คณะกรรมการการบินพลเรือน (บอร์ด กบร.) ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธานและประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายภาคส่วน จากเดิมที่ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมอนุมัติและยกเลิก AOL ผู้เดียวเท่านั้น

เปิดทางต่างชาติถือหุ้นอุตฯการบินเกิน49%

นายจุฬา กล่าวอีกว่ากฎหมายใหม่มอบอำนาจให้ กบร. พิจารณาสัดส่วนการถือหุ้นในอุตสาหกรรมศูนย์ซ่อมบำรุงและผลิตชิ้นเครื่องบินระหว่างชาวไทยและต่างชาติ จากเดิมกฎหมายกำหนดไว้ว่าต่างชาติห้ามถือหุ้นในอุตสาหกรรมการบินไม่เกิน 49%เพราะกลไกใหม่จะช่วยดึงดูดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนและถ่ายทอดความรู้ได้มากขึ้น

การเปิดทางให้ต่างชาติถือหุ้นเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในการสนับสนุนอุตสาหกรรมสมัยใหม่และรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี

นอกจากนี้ มอบอำนาจให้ กพท.เป็นหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลความปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัย โดยผู้อำนวยการ กพท. มีหน้าที่ออกกฎหมายลูกให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยมาตรฐานไอซีเอโอ รวมถึงแยกกรมท่าอากาศยาน (ทย.) หน่วยค้นหาและช่วยเหลืออากาศยาน และหน่วยสอบสวนอากาศยานประสบเหตุออกจากกัน

รับไอซีเอโอตรวจสอบกลางปี

นายจุฬา กล่าวต่อว่าไอซีเอโอยังได้ส่งหนังสือแจ้ง กพท. ว่า จะดำเนินโครงการตรวจสอบการกำกับดูแลด้านการรักษาความปลอดภัย (Universal Security Audit Programme : USAP) ในประเทศไทยระหว่างวันที่ 13-21 ก.ค. นี้

การตรวจสอบจะแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ1.มาตรฐานการกำกับดูแลด้านการรักษาความปลอดภัยสนามบินของไทยของ กพท. 2.มาตรฐานการรักษาความปลอดภัยของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมือง และ3.มาตรฐานการรักษาความปลอดภัยของผู้ประกอบการสายการบินในไทย ซึ่งไม่ได้ระบุว่าจะตรวจสอบสายการบินใด

สำหรับตรวจสอบ กพท. นั้น แจ้งว่าจะมีการตั้งคำถามให้ กพท. 8 ประเด็น เช่น การปรับปรุงพัฒนากฎหมาย การปรับโครงสร้างองค์กร การจัดคู่มือการปฏิบัติด้านการบินตามมาตรฐานสากล เป็นต้น โดยขณะนี้ กพท. เตรียมความพร้อมและหลักฐานประกอบการตอบคำถามไว้เรียบร้อยแล้ว

ต้องแก้ข้อบกพร่องให้เสร็จก่อนมิ.ย.

นายจุฬา กล่าวว่า กรณีที่ประเทศไทยติดธงแดงโครงการUSOAPนั้น จะต้องมีการแก้ไขข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญ (SSC) ให้ครบ 33 ข้อก่อนไอซีเอโอเข้าตรวจในเดือน มิ.ย. โดยขณะนี้แก้ไขคืบหน้า 75%แล้วและวันที่ 27 ก.พ. นี้ จะสามารถมอบใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (AOC) ใหม่ให้สายการบินบางกอกแอร์เวย์เป็นแห่งแรก จากนั้นคาดว่าจะมอบAOCให้สายการบินแอร์เอเชียและสายการบินไทยเป็นลำดับถัดไป

ขณะเดียวกัน กพท. จะรายงานความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาให้สำนักงานบริหารการบินแห่งสหรัฐอเมริกา (FFA) รับทราบ รวมถึงรายงานความคืบหน้าต่อสำนักงานความปลอดภัยด้านการบินยุโรป (European Aviation Safety Agency : EASA)ในเดือน มี.ค. นี้ ซึ่งเป็นการรายงานความคืบหน้าทุกๆ 6 เดือน และEASAจะประกาศการประเมินผลความปลอดภัยในการบินเดือน เม.ย. ต่อไป

ปลายปี2561เริ่มเปิดศูนย์ซ่อมเต็มรูปแบบ

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างศูนย์ซ่อมอากาศยานที่สนามบินอู่ตะเภาของ บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) ว่าปัจจุบันการบินไทยมีศูนย์ซ่อมอยู่แล้วและเตรียมที่จะทำข้อตกลงการร่วมลงทุนแบบรัฐเอชนร่วมลงทุน (พีพีพี) กับเอกชนที่สนใจ คาดว่าจะได้ตัวเอกชนผู้ร่วมทุนและสามารถลงนามในสัญญาได้ประมาณ 1 ปีหรือกลางปี 2561 โดยขณะนี้การบินไทยมีรายละเอียดรายชื่อสายการบินเอกชนที่สนใจร่วมทุน

“ปลายปี 2561 จะเริ่มมีการทยอยเปิดศูนย์ซ่อมเครื่องบินและจะเปิดให้บริการศูนย์ซ่อมเต็มรูปแบบเพื่อรองรับสายการบินทั่วโลกได้ในปี 2563 ซึ่งตามแผนการบินไทยได้หารือร่วมกับพันธมิตรบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ของโลก ทั้งโบอิ้งและแอร์บัส ไว้แล้ว เพื่อรองรับการซ่อมเครื่องบินขนาดใหญ่ทั่วโลก” นายชัยวัฒน์ กล่าว