‘ทีเอ็มบี’ชี้หลักประกันธุรกิจหนุนเอสเอ็มอีเข้าถึงทุน

‘ทีเอ็มบี’ชี้หลักประกันธุรกิจหนุนเอสเอ็มอีเข้าถึงทุน

ทีเอ็มบี ฟันธงกฎหมายหลักประกันช่วยปลดล็อกธุรกิจเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุน แนะภาครัฐ-เอกชนทำงานร่วม หนุนเอสเอ็มอีโต

ในปัจจุบันธุรกิจขนาดกลางและย่อม(SME) เข้าถึงสินเชื่อของสถาบันการเงินประมาณเพียงแค่กว่า 40% ของจำนวน SME ทั้งหมด โดย พ.ร.บ. หลักประกันทางธุรกิจ ซึ่งประกาศใช้เมื่อ 2 ก.ค.2559 อาจสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในแวดวงสินเชื่อธุรกิจ SME เพิ่มเติม โดยพบว่า ณ วันที่ 31 ม.ค.2560 หรือ 7 เดือนแรกนับจากเริ่มใช้กฏหมาย มีการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ จำนวนกว่า 115,000 คำขอ เพิ่มขึ้น 4.4% จาก ณ สิ้นปี 2559 ในขณะมูลค่าทรัพย์สินที่นำมาจดทะเบียนเพิ่มขึ้นกว่า 10.5% ในช่วงเวลาดังกล่าว หรือคิดเป็น 1.63 ล้านล้านบาท

โดยสินทรัพย์ที่ถูกนำมาขึ้นทะเบียนมีความหลากหลายครอบคลุมหลายหมวด เช่น เงินฝากธนาคาร ลูกหนี้การค้า สินค้าคงคลังและวัตถุดิบ เครื่องจักรและยานยนต์ ทั้งนี้ เงินฝากธนาคารยังนับเป็นสัดส่วนใหญ่ที่สุดหรือถึง59% ของสินทรัพย์ที่นำมาจดทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจทั้งหมด ในขณะที่สินทรัพย์หมวดใหม่ๆอย่าง ทรัพย์สินทางปัญญา และกิจการ ยังไม่รับความนิยมมากนัก

นายเบญจรงค์ สุวรรณคีรี หัวหน้านักวิเคราะห์ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี เปิดเผยว่า “ที่ผ่านมา หลักประกันที่ผู้ประกอบการใช้เป็นหลักประกัน คือ สินทรัพย์ถาวร เช่น ที่ดิน โรงงาน ที่พักอาศัย ดังนั้น จะเห็นได้ว่ากฏหมายหลักประกันทางธุรกิจ ตอบโจทย์ให้กับผู้ประกอบการ SME เพราะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ SME ไทยได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น”

จากการศึกษาของศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจฯ พบว่า 80% เป็นธุรกิจค้าปลีก/ค้าส่งและธุรกิจบริการ ที่ส่วนใหญ่มีสินทรัพย์ถาวรน้อยแต่มีทรัพย์สินอื่นๆ จำนวนมาก ดังนั้น หากมูลค่าทรัพย์สินที่จดทะเบียนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ผู้ประกอบการ SME เข้าถึงแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงินได้ง่ายขึ้น และมีเงินทุนมากขึ้นในการดำเนินกิจการและลงทุนเพิ่มเติมเพื่อสร้างการเติบโตของธุรกิจด้วยวงเงินสินเชื่อใหม่ๆ โดยศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจฯ ประเมินว่า หากนำมาใช้ได้อย่างเต็มศักยภาพ กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจนี้สามารถส่งผลให้อัตราการขยายตัวของสินเชื่อ SME เร่งตัวเร็วกว่าเดิมได้ถึง 2 เท่าจากอัตราการขยายตัวปกติ

“อย่างไรก็ตาม การนำกฏหมายหลักประกันทางธุรกิจ ไปใช้ในทางปฏิบัติระยะ 7 เดือนแรก มีอุปสรรคอยู่บ้าง เนื่องจากยังเป็นเรื่องใหม่ซึ่งภาครัฐ เอกชน และผู้ประกอบการ SME ยังไม่มีประสบการณ์และความคุ้นเคยมาก่อน อีกทั้งยังมีรายละเอียดของกระบวนการและระบบที่ต้องได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในปีนี้ ดังนั้น เพื่อให้กฏหมายดังกล่าวเอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการ SME เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ง่าย รวดเร็ว และต้นทุนต่ำ ทุกภาคส่วนควรร่วมมือกันเพื่อบูรณาการกระบวนการทำงานร่วมกัน อันจะส่งผลให้ผู้ประกอบการ SME สามารถสร้างการเติบโตทางธุรกิจได้ดีขึ้นและเป็นฐานสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยระยะยาว”