พลังงานชงครม.ชี้ขาดขั้นตอนโรงไฟฟ้ากระบี่

พลังงานชงครม.ชี้ขาดขั้นตอนโรงไฟฟ้ากระบี่

พลังงานลุ้น ครม.เคาะโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ต้องเริ่มต้นกระบวนการจัดทำอีไอเอและอีเอชไอเอใหม่หรือไม่ ด้านท่องเที่ยวรุมค้านหวั่นกระทบรายได้

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (21ก.พ.) พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะนำเสนอผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เมื่อวันที่17 ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งเห็นชอบให้เดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ แต่ให้ดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายให้ครบถ้วน เพื่อให้ที่ประชุมครม.พิจารณาอีกครั้ง

พล.อ.อนันตพร กล่าวว่าขณะนี้ โรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ยังอยู่ในขั้นตอนจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(EHIA)และท่าเทียบเรือโรงไฟฟ้ากระบี่คลองรั้ว ที่อยู่ในขั้นตอนจัดทำ รายงานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA) ดังนั้นจะต้องหารือกับครม.ว่า กระบวนการจัดทำEIAและEHIAจะเป็นการทบทวนหรือจะต้องเริ่มต้นกระบวนการใหม่ทั้งหมด หลังมติ กพช.สั่งการให้นำข้อเสนอของคณะกรรมการไตรภาคี ที่ต้องการให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมไปประกอบการพิจารณาด้วย

กระทรวงพลังงาน เห็นว่าขั้นตอนในการจัดทำ EIAและEHIA ไม่ควรเริ่มต้นใหม่เพราะจะทำให้การก่อสร้างโรงไฟฟ้าล่าช้าออกไป ซึ่งหากเริ่มต้นกระบวนการใหม่ทั้งหมด จะส่งผลให้การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ล่าช้าออกไปจากแผน5ปี หรือก่อสร้างเสร็จในปี2567 จากเดิมต้องก่อสร้างในปี2562 แม้ปัจจุบันจะมีไฟฟ้าสำรอง 30%ของกำลังการผลิต แต่หากล่าช้าออกไปปริมาณไฟฟ้าสำรองจะเพียงพอหรือไม่

หากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ จะต้องเลื่อนออกไปเป็นปี2567 กระทรวงพลังงาน ยอมรับว่าอาจจะต้องทบทวนแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า(พีดีพี) ปี2558-2579ใหม่ โดยจะต้องเพิ่มกำลังเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพื่อดูแลการผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศ

พร้อมฟังเหตุผลกลุ่มค้าน

กรณีที่มีกลุ่มคนคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่นั้น ยืนยันว่ากระทรวงพลังงานไม่ได้ดื้อดึง และพร้อมรับฟังเหตุผลที่เป็นวิทยาศาสตร์และเชิงประจักษ์ ซึ่งจะต้องพูดคุยถึงความจำเป็นในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน

ขณะเดียวกันแม้จะมีกระแส การคัดค้าน กระบวนการจัดจ้างบริษัทจัดทำEIAและEHIAให้ กฟผ.ที่อ้างไม่เป็นไปตามมาตรฐานนั้น ยืนยันว่าการจัดจ้างบริษัทฯดังกล่าว ไม่มีผลกระทบต่อโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้า เพราะมีคณะกรรมสิ่งแวดล้อม ที่จะเป็นผู้พิจารณาว่าขั้นตอนต่างๆถูกต้องหรือไม่ และถ้าไม่เป็นไปตามขั้นตอนบริษัทเหล่านี้ อาจถูกถอนใบอนุญาตได้

กฟผ.รอครม.เคาะวันนี้

นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.ยังรอฟังความชัดเจนจาก การประชุม ครม.วันนี้ก่อน ว่าจะให้ดำเนินการอย่างไรกับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ซึ่งหากต้องทบทวนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(EHIA)คาดว่าจะใช้เวลา 1 ปี แต่หากต้องเริ่มต้นทำEHIAใหม่ คาดว่าจะต้องใช้เวลา 2-2.5 ปี และจะส่งผลกระทบไปยังแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทำให้เกิดความล่าช้าเพิ่มขึ้น จากเดิมคาดการณ์ว่าจะก่อเสร็จภายในปลายปี 2564 หรือต้นปี 2565

ทั้งนี้ หากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ ต้องล่าช้าออกไป ขะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อความมั่นคงด้านไฟฟ้าของภาคใต้ ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเติบโตอย่างรวดเร็วเฉลี่ยปีละ 4-5% ขณะที่ภาคใต้ฝั่งอันดามัน มีแค่โรงไฟฟ้ากระบี่ปัจจุบันที่เดินเครื่องด้วยน้ำมันเตา กำลังผลิต 315 เมกะวัตต์ และต้องพึ่งพาสายส่งไฟฟ้าจากภาคกลาง ซึ่งมีความเสี่ยงหากเกิดเหตุไม่คาดคิด เช่นกรณีฟ้าผ่าในปี 2556 ที่ทำให้เกิดปัญหาไฟฟ้าดับทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ หรือ หากจะใช้วิธีรับซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซียเข้ามาเสริมระบบ ก็จะนำไปสู่ปัญหา ค่าไฟฟ้ามีราคาแพงตั้งแต่ 2 - 8 ต่อหน่วย และรับซื้อได้ไม่จำกัดเพียง 300 เมกะวัตต์เท่านั้น

ดังนั้น จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าหลักเกิดขึ้นในพื้นที่ ทั้งการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ 800 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าถ่านหิน อ.เทพา จ.สงขลา อีก 2,000 เมกะวัตต์ พร้อมกับการลงทุนก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าจากภาคกลางไปใต้ 500 เควี จาก บางสะพาน - หาดใหญ่ กำหนดแล้วเสร็จในปี2562-2563 ซึ่งเพิ่มความสามารถในการส่งไฟฟ้าได้ 800-900 เมกะวัตต์ จากปัจจุบัน มีสายส่ง 500 เควี ไปภาคใต้ ที่ส่งไฟฟ้าได้เพียง 500-600 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเป็นการช่วยเสริมสร้างความมั่นคงในระบบไฟฟ้าเพิ่มขึ้น

เอกชนจี้รัฐลงทุนระบบสายส่ง

นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคเอกชน เห็นด้วยหากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ จะต้องล่าช้าออกไปจากแผน เพื่อดำเนินการตามขึ้นตอนต่างๆ ให้ครอบถ้วนตามกฎหมาย โดยเฉพาะกระบวนการศึกษารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA) และรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ เพื่อให้เกิดการยอมรับจากทุกฝ่าย แต่ต้องยอมรับว่า การก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ล่าช้าออกไปจะเพิ่มความเสี่ยงด้านความมั่นคงไฟฟ้าในภาคใต้เพิ่มขึ้น

ดังนั้นภาคเอกชน มองว่า จำเป็นที่ภาครัฐจะเร่งลงทุนระบบสายส่งเข้ามารองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในภาคใต้ ขณะเดียวกันภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ที่มีความพร้อมอาจต้องลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าขนาดเล็กที่ใช้เชื้อเพลิงพลังงานหมุนเวียน เช่น ขยะ ไบโอแก๊ส เพื่อปั่นไฟฟ้าใช้ แต่จะมีความเสี่ยงจากค่าไฟฟ้าในอนาคต

แม้จะมีการลงทุนสายส่ง หรือ เอกชนจะปั่นไฟใช้เอง แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ไฟในพื้นที่ อย่างไรภาคใต้ก็ควรจะต้องมีการสร้างโรงไฟฟ้าหลักในพื้นที่ และต้องใช้เชื้อเพลิงที่ไม่แพงเกินไป เพราะเช่นนั่นจะส่งผลกระทบต่อการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม และกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย

ท่องเที่ยวกระบี่แถลง“คัดค้าน”

นายอิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (21 ก.พ.)ที่กระทรวงพลังงานจะหารือครม.ถึงแนวทางการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือEIAและรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือEHIA ประกอบการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าถ่านหินที่ จ.กระบี่ หลังรัฐประกาศชะลอโครงการออกไปก่อน โดยภาคธุรกิจท่องเที่ยวจะติดตามกระบวนการดำเนินงานของรัฐบาลในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

พร้อมกันนี้สมาคมด้านธุรกิจที่เกี่ยวข้อง อาทิ สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจ.กระบี่, สทท.จ.กระบี่, หอการค้าจังหวัด, สมาคมโรงแรม จ.กระบี่ ฯลฯ เตรียมจัดแถลงข่าวในวันที่ 22 ก.พ.นี้ แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน

โดยเฉพาะในแง่ความกังวลเรื่องการกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ที่จะมีผลโดยตรงต่อการท่องเที่ยวในจ.กระบี่ ที่มีอุทยานแห่งชาติหลักถึง 4 แห่งที่ทำรายได้เข้าประเทศจำนวนมาก และอาจกระทบภาพลักษณ์โดยรวมของทะเลอันดามันที่ผ่านมาได้คัดค้านการสร้างแหล่งพลังงานไฟฟ้า แต่กังวลในการควบคุมและบริหารจัดการ ไม่ให้เกิดมลภาวะต่อระบบนิเวศวิทยา

หวั่นฉุดรายได้ท่องเที่ยวกระบี่

ทั้งนี้ ภาคท่องเที่ยวให้ความสำคัญต่อประเด็นดังกล่าว เนื่องจากปัจจุบันการท่องเที่ยวกลายเป็นอุตสาหกรรมที่ทำรายได้หลักให้กับจังหวัดแซงหน้าภาคการเกษตรไปแล้ว โดยมีสัดส่วนรายได้ราว 60% เพราะหลายปีที่ผ่านมาราคายางพาราและปาล์มตกต่ำ สวนทางกับการเติบโตด้านท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องใน 3-4 ปีที่ผ่านมา

ปี2559 มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติกว่า 6 ล้านคน สร้างรายได้สูงกว่า 7 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น15-20% เทียบปี 2558 ขณะที่ปี 2556 หรือ4 ปีที่ผ่านมา กระบี่มีรายได้ราว 6.4 หมื่นล้านบาท

“ต้องย้ำถึงเจตนารมณ์ของภาคธุรกิจท่องเที่ยวว่า เราไม่ได้กีดกันโรงไฟฟ้า แต่ไม่ต้องการโรงงานไฟฟ้าถ่านหินซึ่งปัจจุบันทั่วโลกพยายามยกเลิกการใช้งานไปหมดแล้ว นโยบายดังกล่าวจึงย้อนศรกับทั่วโลกชัดเจน"

แม้ปัจจุบันภาครัฐจะพยายามนำคณะผู้เกี่ยวข้องไปเดินสายศึกษาดูงานการบริหารจัดการของประเทศที่ยังมีระบบดังกล่าวใช้ เช่น เยอรมนี, ญี่ปุ่น กันอย่างหนัก แต่สิ่งที่ยังสร้างความกังวลคือ เมื่อมาถึงการบริหารจัดการของไทยเอง มีความรัดกุมพอหรือไม่

นายอิทธิฤทธิ์ กล่าวด้วยว่า ไม่เฉพาะด้านท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบ แต่ระบบนิเวศวิทยาโดยรวมจะเกิดความเสียหายทั้งระบบ โดยเฉพาะการขนถ่ายถ่านหินขาเข้ามาทางเรือกว่า 2 รอบๆละเป็นหมื่นตันที่เกาะศรีบอยา ปัจจุบันถือเป็นแหล่งหญ้าทะเลที่อุดมสมบูรณ์ และเป็นแหล่งทรัพยากรหลักของชาวบ้านทั่วไป ซึ่งยังไม่มีข้อรับรองใดถึงการดูแลไม่ให้กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่

ท่องเที่ยวกระบี่โตกว่า10%ต่อเนื่อง

นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว จ.กระบี่ และอดีตนายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยว จ.กระบี่ กล่าวว่าในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา การท่องเที่ยวกระบี่เติบโตเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 10%ต่อเนื่องปัจจุบันสนามบินนานาชาติมีเที่ยวบินเข้าออกมากเป็นอันดับ 4 ของประเทศ โดยมติการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ยังประเมินไม่ได้ว่าจะมีผลกระทบอย่างไร
แต่ด้วยกระแสข่าวสารที่ไหลหลั่งผ่านสังคมออนไลน์ไปทั่วโลกและจากการพูดคุยกับคู่ค้าต่างชาติเบื้องต้นเชื่อว่าหากเดินหน้าโครงการจะมีผลต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะความไม่เข้าใจว่า เหตุใดจึงต้องนำโครงการดังกล่าวมาสร้างในแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก

สำหรับกระบวนการเคลื่อนไหวของธุรกิจท่องเที่ยว เพื่อต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินใน จ.กระบี่นั้น เริ่มก่อตัวตั้งแต่ปี 2558 โดยมีการรวมตัวเป็นเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ประกอบด้วยภาคเอกชนและประชาสังคมจาก สตูล ตรัง พังงา กระบี่ ภูเก็ต ยื่นหนังสือต่อรัฐบาลขอให้ยกเลิกแผนดำเนินการดังกล่าวในพื้นที่อันดามัน เนื่องจากเป็นกังวลว่าจะกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง จากการขนถ่ายถ่านหินจากอินโดนีเซียเข้ามายังโรงไฟฟ้า ซึ่งมีความเสี่ยงจากสารพิษ

ในปี2558มีการสอบถามความคิดเห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติต่อการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน สำรวจบนเกาะลันตา จ.กระบี่ จำนวน 624 คนจาก 37 ประเทศ พบว่า 88% เห็นว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และมีถึง 85% ที่ตอบว่าจะไม่กลับมาเที่ยวอีก