แบงก์ชาติกล่าวโทษ 'PayAll' ของ 'ฟิล์ม รัฐภูมิ'

แบงก์ชาติกล่าวโทษ 'PayAll' ของ 'ฟิล์ม รัฐภูมิ'

"แบงก์ชาติ" กล่าวโทษ "PayAll" ของ "ฟิล์ม รัฐภูมิ" ทำธุรกิจอีมันนี่โดยไม่ได้รับอนุญาต ย้ำที่ผ่านมาได้แจ้งให้มายื่นขอใบอนุญาตแล้ว แต่เพิกเฉย

นายพฤธิพงศ์ ศรีมาจันทร์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายช่วยงานบริหาร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า วานนี้ (20 ก.พ.) ธปท.ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ให้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษบริษัท เพย์ออลล์ กรุ๊ป จำกัด ผู้ให้ บริการแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือภายใต้ชื่อ "PayAll" ต่อกองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ

เนื่องจากบริษัททำธุรกิจ การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-มันนี่ (e-Money) โดยไม่ได้รับอนุญาตจาก ธปท. ซึ่งถ้าประชาชนมาใช้บริการจำนวนมาก อาจจะเกิดความเสียหายขึ้น โดยการกล่าวโทษดังกล่าว ธปท.กล่าวโทษต่อนิติบุคคลซึ่งกระบวนการหลังจากนี้ เป็นเรื่องของทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องสืบสวนและเอาผิดกับทางกรรมการและผู้บริหารของบริษัทต่อไป สำหรับบทลงโทษตามกฎหมาย กรณีที่มีผู้ประกอบธุรกิจที่เข้าข่ายให้บริการอีมันนี่โดยไม่ได้รับอนุญาตจากทางการนั้น มีโทษสูงสุดคำจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

"ฟิล์ม รัฐภูมิ" นั่งประธาน-ถือหุ้นใหญ่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามข้อมูลในเว็บไซต์ www.payallgroup.com บริษัทเพย์ออลล์ทำธุรกิจหลากหลาย ทั้งการรับจ่ายบิลค่าสาธารณูปโภค ใช้ซื้อสินค้าและบริการ ผ่านแอพพลิเคชั่นบนมือถือ โดยเติมเงินเข้าบัญชี หรือผูกบัญชีธนาคาร

ขณะที่ผู้บริหารและกรรมการของบริษัท มี "ฟิล์ม" หรือ นายรัฐภูมิ โตคงทรัพย์ ดาราดังเป็นประธานบริษัท มีนายสมคิด ลวางกูร เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) มีนางเพ็ญทิพย์ พรจะเกิด นายกสมาคมส่งเสริมผู้ประกอบการ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย เป็นประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์

ส่วนรายชื่อกรรมการบริษัท จากข้อมูลการจดทะเบียนบริษัทของกระทรวงพาณิชย์พบว่า บริษัทเพย์ออลล์มีกรรมการ 5 คน คือ นายรัฐภูมิ โตคงทรัพย์ ถือหุ้น นายภูมิพัฒน์ ประเสริฐวิทย์ นายธเนศ จัตวาพรวนิช นางสุภัสฐิณี ศรีสอาด และ5 นายชนะศักดิ์ ศรีสะอาด

ขณะที่ผู้ถือหุ้น ประกอบด้วย นายธเนศ 30% นายภูมิพัฒน์ 20% นายรัฐภูมิ 20% น.ส.ธมลพรรณ์ ประเสริฐวิทย์ และนายภูมิทัต โตคงทรัพย์รายละ 10% น.ส.กัญญาลัคน์ ภัคเครือพันธุ์ และ นางสุภัฐิณี ศรีสอาด รายละ5% มีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 10 ล้านบาท

ธปท.แจ้งบริษัทแล้วแต่ไม่หยุดทำธุรกิจ

น.ส.สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีการเงิน ธปท. เปิดเผยว่า ธปท.ได้เข้าไปตรวจสอบบริษัทเพย์ออลล์ตั้งแต่ปลายปี 2559 ที่ผ่านมา หลังได้รับการแจ้งข้อมูลจากบุคคลภายนอก และการตรวจสอบจากสื่อประชาสัมพันธ์ของบริษัท จึงพบว่าเป็นการทำธุรกิจอีมันนี่ โดยไม่ได้รับอนุญาต

ทั้งนี้ ธปท.จึงได้เชิญบริษัทเข้ามาชี้แจงรูปแบบการประกอบธุรกิจ และได้แจ้งให้บริษัทหยุดให้บริการอีมันนี่ แต่บริการอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับอีมันนี่ยังสามารถให้บริการได้ และให้คำแนะนำบริษัทยื่นขอใบอนุญาตตามขั้นตอนทางกฎหมาย

อย่างไรก็ตามบริษัทไม่ได้หยุดการให้บริการ และไม่ได้ขอใบอนุญาตให้ถูกต้องตามประเภทธุรกิจ โดยได้ยื่นแบบบัญชี ก (เป็นการให้บริการอีมันนี่ที่ใช้ซื้อสินค้าหรือรับบริการเฉพาะอย่างตามรายการที่กำหนดไว้ล่วงหน้าจากผู้ขายสินค้า หรือให้บริการเพียงรายเดียว ซึ่งไม่ต้องใบอนุญาตแค่แจ้งให้ธปท.รับทราบ) แต่ธุรกิจของบริษัทเป็นอี มันนี่ บัญชี ค.ประเภทที่ 6 คือการให้บริการอีมันนี่ใช้ซื้อสินค้า หรือบริการจากผู้ขาย หรือผู้ให้บริการหลายราย ซึ่งหลังจากนั้นก็ได้เรียกให้บริษัทมาพบและแจ้งให้ยื่นขอใบอนุญาตให้ถูกต้อง แต่บริษัทก็ยังไม่ดำเนินการ

ยังไม่พบเสียหายแต่มีความเสี่ยง

โดยตอนที่ขอให้บริษัทมาพบ เค้าก็ไม่ได้แจ้งว่าติดขัดอะไร ซึ่งตามเกณฑ์การขอใบอนุญาตก็มีหลักเกณฑ์หลายอย่างที่ธปท.ดูแลใกล้ชิด ทั้งฐานะการเงินที่ต้องมีทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว 200 ล้านบาทท การดูแลเงินประชาชนที่เติมเข้ามา และกำหนดคุณสมบัติกรรมการที่ต้องไม่มีคุณสมบัติต้องห้าม ซึ่งแม้ในช่วงที่กล่าวโทษแล้ว บริษัทยื่นขอเข้ามา ก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะได้รับใบอนุญาตหรือไม่ เพราะต้องดูหลายหลักเกณฑ์ประกอบกัน”

“ขณะนี้ยังไม่มีการร้องเรียนเรื่องความเสียหาย แต่เราก็เป็นห่วงว่าประชาชนจะมีความเสี่ยง ในการใช้บริการกับผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ได้รับใบอนุญาต ก่อนใช้บริการจึงอยากให้ประชาชนตรวจสอบรายชื่อบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตจาก ธปท.ซึ่งมี 22 ราย ส่วนผู้ที่เข้าไปใช้บริการเพย์ออล์แล้ว ก็ได้ตรวจสอบสิทธิและเงื่อนไขในการใช้บริการ เพื่อรักษาสิทธิที่ตกลงไว้กับบริษัท”

ธปท.เผยชื่อ 22 บริษัทอีมันนี่ถูกก.ม.

ทั้งนี้ ธปท.ได้เปิดรายชื่อผู้ให้บริการ e-Money บัญชี ค (ใช้ซื้อสินค้าหรือบริการ จากผู้ขายหลายราย โดยไม่จากัดสถานที่) มี 22 ราย ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารทหารไทย ธนาคารทิสโก้ ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย)

ส่วนบริษัทที่ไม่ได้เป็นสถาบันการเงินได้รับอนุญาต คือ บริษัท ทรู มันนี่,บริษัท ทีทูพี, บริษัท ทูซีทูพี พลัส (ประเทศไทย) , บริษัท ไทยสมาร์ทคาร์ด, บริษัท บางกอก สมาร์ทการ์ด ซิสเทม ,บริษัท เพย์สบาย,บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส , บริษัท แรบบิท-ไลน์ เพย์ ,บริษัท เอ็มโอแอล เพย์เมนท์ ,บริษัท แอดวานซ์ เมจิคการ์ด ,บริษัท แอดวานซ์ เอ็มเปย์, บริษัท แอร์เพย์ (ประเทศไทย) ,บริษัท ไอพี เพย์เมนท์ โซลูชั่น และ บริษัท เฮลโลเพย์