'กอช.'ชงรัฐเพิ่มเงินสมทบเท่าตัวแบกภาระเพิ่มปีละ2.5พันล้าน

'กอช.'ชงรัฐเพิ่มเงินสมทบเท่าตัวแบกภาระเพิ่มปีละ2.5พันล้าน

"กอช." เสนอระดับนโยบายพิจารณาเพิ่มเงินสมทบจากฝั่งรัฐบาลเป็น 2,500 บาท จาก 1,200 บาทต่อคนต่อปี หวังจูงใจยอดสมาชิกกองทุนเพิ่มเป็น 1 ล้านคน

นายสมพร จิตเป็นธม เลขาธิการกองทุนเงินออมแห่งชาติ (กอช.) เปิดเผยว่า ได้เสนอระดับนโยบายพิจารณาเพิ่มเงินสมทบฝ่ายรัฐบาลเป็น 2,500 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปัจจุบัน เพื่อผลักดันให้ยอดสมาชิกกอช.เพิ่มขึ้นในระดับ 1 ล้านคน หรือ เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปัจจุบัน

“กอช.ได้เสนอเพิ่มแรงจูงใจในการออมดังกล่าว ให้กระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาแก้ในกฎกระทรวง จากปัจจุบันที่รัฐบาล จะช่วยสมทบเงินให้แก่สมาชิก ที่ออมเงิน สูงสุดไม่เกิน 1,200 บาทต่อคนต่อปี เป็น 2,500 บาทต่อคนต่อปี โดยภาครัฐมีภาระสูงสุดประมาณปีละ 2.5 พันล้านบาท ทั้งนี้ในปีที่แล้ว รัฐใส่เงินสมทบแล้วประมาณ 200-300 ล้านบาท”

ปัจจุบันเงินที่รัฐบาลสมทบให้แก่สมาชิก ยังขึ้นอยู่กับช่วงอายุของสมาชิกด้วย กล่าวคือ สมาชิกอายุตั้งแต่ 15 ปี จนถึง 30 ปี รัฐบาลสมทบให้ไม่เกิน 50% ของเงินออม แต่สูงสุดไม่เกิน 600 บาทต่อคนต่อปี

ส่วนสมาชิกที่มีอายุมากกว่า 30 ปี แต่ไม่เกิน 50 ปี สมทบให้ 80% ของเงินออม แต่สูงสุดไม่เกิน 960 บาทต่อคนต่อปี และสมาชิกที่มีอายุมากกว่า 50 ปี แต่ไม่เกิน 60 ปี สมทบให้ 100% ของเงินที่ออม แต่ไม่เกิน 1,200 บาทต่อคนต่อปี

การแก้ไขแรงจูงใจด้านเงินสมทบของรัฐบาลดังกล่าว จะยังคงสัดส่วน เงินสมทบที่เป็นเปอร์เซ็นต์ คือ 50% 80% และ 100% ตามช่วงอายุดังกล่าวไว้ แต่สมาชิกทุกช่วงอายุ สามารถได้รับเงินสมทบสูงสุดที่ 2,500 บาทต่อคนต่อปี กรณีที่มีการออมในอัตราที่สูง เช่น สมาชิก อายุ 15 ปี ออมปีละ 5 พันบาท จากเดิมจะได้เงินสมทบที่ 600 บาท แต่การแก้ไขใหม่ จะได้ถึง 2,500 บาท

ในปัจจุบัน กอช. มีสมาชิก 5.25 แสนราย มีเงินกองทุนรวม 1.96 พันล้านบาท เพื่อเพิ่มจำนวนสมาชิกให้เป็นไปตามเป้าหมายในปีนี้ที่ 1 ล้านคน และเงินกองทุนเพิ่มขึ้นเป็น 3-4 พันล้านบาทในสิ้นปีนี้ กอช.จะร่วมมือกับ สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เพื่อให้เป็นหน่วยรับเงินออมเพื่อนำส่งต่อให้แก่ กอช. ซึ่งจะเป็นการเพิ่มหน่วยรับเงินออมในแต่ละหมู่บ้าน จากปัจจุบันที่ให้ ธกส.,ออมสิน, กรุงไทย และ ธอส. ที่มีสาขารวม 3 พันกว่าสาขา เป็นหน่วยรับเท่านั้น

สำหรับการลงทุนของกองทุนนั้น ในช่วงปีที่แล้ว ได้ลงทุนในตราสารที่มีความมั่นคงสูง คือ พันธบัตรของ ธปท. พันธบัตรของกระทรวงการคลัง และหุ้นกู้ภาคเอกชน โดยได้ผลตอบแทนที่ Mark to market เมื่อสิ้นปีที่แล้วที่ 2% ในปีนี้  กอช.กำลังพิจารณาที่จะนำเงินกองทุนส่วนหนึ่งไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งกำลังพิจารณาอยู่ว่าจะว่าจ้าง บลจ.มาช่วยบริหารหรือจะบริหารด้วยตัวเอง

ด้านนายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธาน กอช. กล่าวว่า แม้การเพิ่มเงินสมทบของรัฐบาล จะเป็นการเพิ่มภาระภาครัฐ แต่ในระยะยาวแล้ว จะช่วยลดภาระทางการคลังของรัฐบาลในการดูแลคนสูงอายุที่ปัจจุบันมีภาระงบประมาณราว 6-7 แสนล้านบาทต่อปี หากไม่ทำอะไรในอีก 10-15 ปีข้างหน้า อาจกลายเป็นวิกฤตการคลังของรัฐบาลได้

“ผมอยากให้คนที่อายุน้อยๆ โดยเฉพาะที่ยังเป็นนักเรียน นักศึกษา ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป เข้าออมใน กอช.ให้มากขึ้น โดยกำลังพิจารณาว่า กรณีที่เด็กเหล่านี้ เป็นสมาชิก กอช.ตั้งแต่ยังไม่ได้ทำงาน และเมื่อทำงานแล้ว และเป็นสมาชิก กองทุนประกันสังคม หรือ กบข. รัฐจะหยุดส่งเงินสมทบ เพื่อจูงใจให้คนกลุ่มนี้ที่ออมตั้งแต่เด็ก กระทรวงกำลังพิจารณาว่า อาจจะเสนอให้รัฐสมทบต่อเนื่อง แม้ว่าเขาหรือเธอเหล่านั้น เป็นสมาชิกประกันสังคม หรือ กบข.ด้วยก็ตาม อย่างไรก็ตามประเด็นนี้ ยังไม่ได้ข้อสรุป เนื่องจากเป็นการเพิ่มภาระงบประมาณ”