ธอส.ชี้สินเชื่อปีนี้โต6%เล็งออกสลากลดต้นทุนเงินฝาก

ธอส.ชี้สินเชื่อปีนี้โต6%เล็งออกสลากลดต้นทุนเงินฝาก

ตลาดอสังหาฯไม่ได้ชะลอตัวลง แม้แบงก์พาณิชย์เข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ แต่ลูกค้ากลุ่มดังกล่าว หันมายื่นกู้สินเชื่อกับเรา

ความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวผสมกับภาระหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงกว่า 80% จีดีพี ทำให้ธนาคารพาณิชย์เพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ ส่งผลให้ยอดการปฎิเสธสินเชื่อเพิ่มสูงขึ้น โดยบางธนาคารมียอดปฎิเสธสูงถึง 40-50% ทำให้ลูกค้าของธนาคารพาณิชย์ที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ธนาคารพาณิชย์หันมาพึ่งพาธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) มากขึ้น 

ฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เปิดเผยเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อใหม่ของธนาคารในปีนี้ว่า จะสามารถปล่อยได้ 1.78 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% จากยอดสินเชื่อปล่อยใหม่ในปี 2559 ที่สามารถปล่อยได้ 1.68 แสนล้านบาท โดยยอดสินเชื่อใหม่ที่เติบโต 6% ดังกล่าวเป็นอัตราการเติบโตที่สูงกว่าอัตราการเติบโตตามปกติของสินเชื่อบ้านที่จะเติบโต 3% ต่อปีเมื่อเทียบกับจีดีพี

"ในปีนี้ ประเมินว่า ตลาดอสังหาฯไม่ได้ชะลอตัวลง แม้ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ จะเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ แต่ลูกค้ากลุ่มดังกล่าว หันมายื่นกู้สินเชื่อกับเรา แต่การปล่อยสินเชื่อยังเป็นไปตามเกณฑ์ที่แบงก์ชาติกำหนด”

ทั้งนี้ หากเป้าการปล่อยสินเชื่อเป็นไปตามเป้าหมาย ปีนี้มียอดสินเชื่อคงค้างแตะ 1 ล้านล้านบาทเป็นครั้งแรก และมีสัดส่วน 1 ใน 3 ของตลาดสินเชื่อบ้าน โดยสิ้นปี 2559 ธนาคารมียอดสินเชื่อคงค้างรวม 9.36 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.58% จากปีก่อนหน้า ส่วนสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 9.77 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.63% จากปีก่อน มียอดเงินฝากรวม 7.8 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.48% จากปีก่อนหน้า

ด้านหนี้เสียสิ้นปี 2559 อยู่ที่ 4.74 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 5.06% ของยอดสินเชื่อรวมลดลง 0.39% เป็นผลจากการจัดทำมาตรการช่วยเหลือลูกค้าในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้กลับมามีสถานะปกติและยังคงได้มีบ้านเป็นของตนเองเช่นเดิม โดยมีการกันสำรองหนี้เสียไว้ถึง 126% 

ปีนี้ตั้งเป้าหนี้เสียลดลงมาอยู่ 3.9-4.0% โดยมีแผนบริหารให้หนี้เสียลดลงตามมาตรการปกติ 0.2% และตัดขายหนี้เสีย 1.4 หมื่นล้านบาท เพื่อให้หนี้เสียลดลงอีก 0.8-0.9%

“อาจมองว่า หนี้เสียสูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด แต่เราไม่มีการตั้งเอเอ็มซีขึ้นมารับหนี้เสียของธนาคารเลย ตั้งแต่ตั้งแบงก์มา 60 ปี เราเพิ่งตัดขายหนี้เสียมา 2 ครั้ง และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3  ซึ่งเมื่อปลายปีก่อน กระทรวงการคลังเห็นชอบในหลักการตัดขายหนี้เสียวงเงิน 1.4 หมื่นล้านบาท ขณะนี้ อยู่ระหว่างการทำรายละเอียด เพื่อเสนอขายให้กับเอเอ็มซีต่อไป”

เป้าหมายกำไร ในปีนี้ที่ 1.1 หมื่นล้านบาท ขยายตัว 5% จากปี 2559 ที่มีผลกำไร 9.6 พันล้านบาท ถือว่าต่ำกว่าการทำกำไรในปีก่อนที่ขยายตัวถึง 10.53% เป็นเพราะนโยบายของรองนายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ไม่ต้องการให้ธนาคารตั้งเป้าหมายผลกำไรมากกว่าการทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงสินเชื่อบ้านในต้นทุนต่ำได้มากขึ้น

มีแผนออกสลากวงเงิน3-5หมื่นล.

ส่วนความคืบหน้าการออสลาก วงเงิน 3-5 หมื่นล้านบาท ถ้าคลังอนุมัติ ให้ดำเนินการ ธอส.พร้อมจะออกสลากได้ทันทีภายใน 3 เดือน เพื่อนำเงินมาปรับโครงสร้างเงินฝากให้สอดคล้องกับการปล่อยกู้ เพราะธนาคารปล่อยกู้นานถึง 30 ปี แต่เงินฝากยังเป็นเงินฝากระยะสั้นไม่เกิน 3 ปี ดังนั้น การออกสลากออมทรัพย์ทำให้ธนาคารมีเงินฝากในระยะยาวถึง 5 ปี

“สำหรับรางวัลใหญ่ และรางวัลที่ 1 กำลังพิจารณา ว่าจะเป็นอะไร เช่นบ้าน คอนโดมิเนียม ทองคำ เงินสด ขณะนี้ยังไม่สรุปชัดเจน”

นำระบบไอช่วยบริการสินเชื่อ

สำหรับการเสนอแก้กฎหมายเปิดโอกาสให้ธนาคารทำบัตรกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (อี-วอลเล็ท) มีแนวคิดทำเป็นบัตรชำระหนี้เงินกู้ของธนาคาร ที่โอนเงินจากธนาคารใดก็ได้มาไว้ในบัตร ไม่จำเป็นต้องเปิดบัญชีเงินฝากกับธอส. รวมถึง เตรียมนำเครื่องคีออสมาชำระหนี้เงินกู้ ตามสถานีรถไฟฟ้า สาขาของธนาคารทุกแห่ง หรือห้างสรรพาสินค้า เพื่อแก้ปัญหาความหนาแน่นของคิวรับชำระเงินงวดในช่วงสิ้นเดือน คาดสิ้นปีนี้ติดตั้งได้กว่า 200 เครื่อง เตรียมติดตั้งสถานีรถไฟฟ้าพระราม 9 ไม่น้อยกว่า20 ตู้

ธนาคารยังมีแผนนำเครื่องขณะนี้วีทีเอ็ม (Video Teller Machine) นำร่องให้บริการลูกค้า ซึ่งตู้วีทีเอ็มจะเปรียบเสมือนกับการมาใช้บริการที่สาขาของธนาคารทั้งในและนอกเวลาทำการ บริการได้ทั้งฝาก - ถอน รับชำระหนี้เงินกู้ รวมถึงให้บริการด้านสินเชื่อ โดยผู้ใช้บริการจะได้พูดคุยกับพนักงานผ่านหน้าจอตู้ กำลังให้ทางบริษัท จีอาร์จี แบงกิ้งของจีนทำเครื่องต้นแบบคาดมีราคา 1 ล้านบาทต่อเครื่อง ปีนี้มีแผนติดตั้ง 20 ตู้

นอกจากนี้ ธนาคารเร่งพัฒนาระบบคอร์แบงก์กิ้งธนาคารใหม่ เพื่อรองรับธุรกิจทางไอที คาดว่าไม่เกินเดือนกันยายนนี้แล้วเสร็จ ส่วนแผนเปลี่ยนระบบคอร์แบงก์กิ้งนั้น อยู่ระหว่างศึกษา ดังนั้น ระหว่างนี้ต้องอัพเดทซอฟแวร์คอร์แบงก์กิ้งเพื่อใช้ของเดิมไปก่อนใช้งบประมาณ 400 ล้านบาท

“การนำดิจิทัลแบงกิ้งเข้ามาช่วยในการทำงาน เพื่อช่วยลดต้นทุน เช่น การส่งใบเสร็จเงินงวดส่งไปตามบ้านลูกค้า ในแต่ละปีมีต้นทุนถึง 40 ล้านบาท คาดลดต้นทุนดังกล่าวได้ 25-30% ยืนยันการนำไอทีมาใช้งานจะไม่ลดพนักงานลง เพราะให้พนักงานส่วนบริการไปทำงานอื่น เช่นด้านการหารายได้เป็นต้น”