บจ.แจกหุ้นปันผล หวัง'ลดหนี้-ตุนเงินสด'

บจ.แจกหุ้นปันผล หวัง'ลดหนี้-ตุนเงินสด'

"บจ.กลาง-เล็ก" ปันผลเป็นหุ้นแทนเงินสด เพื่อสำรองไว้ใช้ขยายธุรกิจ

ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา หลายบริษัททยอยประกาศจ่ายเงินปันผลสำหรับปี 2559 ออกมาต่อเนื่อง แต่มีบางบริษัทขนาดกลาง-เล็ก ตัดสินใจปันผลเป็นหุ้นแทนการจ่ายเงินสด อาทิ บริษัทสัมมากร (SAMCO) จ่ายปันผล 12 หุ้นเดิม ต่อ 1 หุ้นใหม่ บริษัท ลีซ อิท (LIT) จ่ายปันผล 10 หุ้นเดิม ต่อ 1 หุ้นใหม่ และ บริษัทไอเอฟเอส แคปปิตอล (IFS) จ่ายปันผล 20 หุ้นเดิม ต่อ 1 หุ้นใหม่ ขณะเดียวกันบางบริษัทก็ตัดสินใจที่จะงดจ่ายเงินปันผลแม้จะมีกำไรในปีที่ผ่านมา อย่างบริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท (J) 

บล.เอเซียพลัส ตั้งข้อสังเกตว่าบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ ที่มีฐานะทางการเงินแข็งแกร่ง และมีกระแสเงินสดในมือเพียงพอ จะยังสามารถจ่ายเงินปันผลออกมาในรูปเงินสดได้ ยกเว้นบางบริษัทที่เริ่มตระหนักถึงปัญหา วิกฤติการผิดนัดชำระหนี้ โดยเฉพาะตั๋วสัญญาใช้เงิน (B/E) ที่บางบริษัทเริ่มประสบปัญหา ทำให้กระทบต่อความเชื่อถือและอาจจะทำให้การระดมเงินในลักษณะของการก่อหนี้ผ่านหุ้นกู้ หรือ B/E อาจจะทำได้ไม่ง่ายเหมือนที่ผ่านมา

จึงเห็นว่าบางบริษัทเริ่มตระหนักถึงปัญหาและเตรียมเก็บเงินสดไว้ขยายธุรกิจ และเปลี่ยนการจ่ายปันผลเป็นหุ้นแทน ที่เห็นได้ชัดจะเป็นผู้ประกอบการในกลุ่มเช่าซื้อ-ลิสซิ่ง ซึ่งโครงสร้างธุรกิจปกติแล้วจะมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) สูง (หนี้สินหลักๆ คือ เงินกู้ยืม) ซึ่งที่ผ่านมาได้ประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ สะท้อนจากที่โครงสร้างหนี้สินระยะสั้นต่อหนี้สินระยะยาวเพิ่มมากขึ้น

โดยอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนของกลุ่มเช่าซื้อ-ลิสซิ่ง เพิ่มขึ้น จาก 2.64 เท่า ณ สิ้นปี 2558 สู่ 2.91 เท่า ณ 9 เดือน ปี 2559 ซึ่งบริษัทที่มีสัดส่วนหนี้สินต่อทุนสูงกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่ม คือ เอเซียเสริมกิจลิสซิ่ง (ASK) ราชธานีลิสซิ่ง (THANI) และอิออน ธนสินทรัพย์ (AEONTS) ที่ 6.0 เท่า 5.6 เท่า และ 4.6 เท่า ตามลำดับ

ดังนั้นเพื่อลดสัดส่วนหนี้สินต่อทุนลง บริษัทในกลุ่มเช่าซื้อ-ลิสซิ่ง จึงนำร่องในการจ่ายปันผลเป็นหุ้นแทน ดังจะเห็นตัวอย่างได้จาก ลิซ อิท และไอเอฟเอส

โดยรวมเชื่อว่าแนวคิดนี้น่าจะสมเหตุสมผลในภาวการณ์ปัจจุบัน ประกอบกับราคาหุ้นของบริษัทจดทะเบียนบางแห่งได้ปรับตัวขึ้นมาในระดับสูง การเพิ่มทุนผ่านการจ่ายการจ่ายหุ้นปันผลอาจจะได้รับความนิยมมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะเกิดตามมาคือ Dilution Effect แต่ก็คาดว่าไม่มากนัก ถือเป็นปัจจัยกดดันตลาด แม้ไม่มากนักแต่ทำให้ดัชนีหุ้นไทยแกว่งตัวต่ำกว่า 1,600 จุด ตราบที่ยังไม่มีประเด็นใหม่

ด้าน อภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการสายงานวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า การปันผลเป็นหุ้นของบริษัทจดทะเบียน อาจเป็นเพราะบริษัทต้องการสำรองเงินไว้เพื่อลงทุน หรืออาจต้องการเสริมสภาพคล่องให้กับหุ้นของบริษัท แต่โดยภาพรวมแล้วมองว่าบริษัทที่ปันผลเป็นหุ้นในช่วงนี้ยังไม่ได้มากนัก และยังไม่น่าจะเป็นการสะท้อนถึงฐานะการเงินที่ไม่ดีแต่อย่างใด

ส่วนการลงทุนภาคเอกชนโดยภาพรวมปีนี้ มองว่าน่าจะเติบโตดีขึ้นจากปีก่อนราว 1.5% ขณะที่ปีก่อนเติบโตประมาณ 1% โดยส่วนมากน่าจะเป็นการลงทุนเพื่อรักษาระดับกำลังการผลิตเป็นหลัก