ท้องต้อง “เลือก”

ท้องต้อง “เลือก”

เพราะ “ลูก” ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ….ท้องทั้งที จึงต้องขอแบบที่เราเลือกได้

“ถ้ามีลูก ชีวิตคงต้องเปลี่ยน แค่ทุกวันนี้ยังรู้สึกว่าเวลาในชีวิตยังไม่พอ” เบล อายุ 29 ปี สมรสแล้ว 2 ปี

“คุณแม่ยังสาวกับคุณพ่อมาดเท่ ดูแล้วน่ารักดีครับ แต่เรายังมีความสุขกับการอยู่ด้วยกัน 2 คน เรื่องลูกคงเอาไว้ทีหลัง” นัท อายุ 34 ปี เพิ่งสมรส

“ลูกคือความสุขในชีวิตเราเลย แต่พอมีลูกแล้ว ลืมเวลาส่วนตัวไปได้เลยนะ ดีที่ตอนนี้เขาโตมาหน่อย ไม่ได้ติดเรามาก เราเลยให้ไปอยู่กับคุณยาย” เปิ้ล อายุ 35 ปี มีลูก 1 คน

ไม่ใช่แค่ ของขวัญจากฟ้า-แก้วตาของพ่อ ซึ่งเป็นถ้อยคำเปรียบเปรยความสุขของการมีลูกเท่านั้น เพราะอีกด้านหนึ่ง ลูกมากจะยากจน –มีลูกกวนตัว มีผัวกวนใจ ก็เป็นอีกถ้อยคำที่อธิบายความจริงอีกด้าน ซึ่งนั่นก็เพียงพอที่จะเข้าใจเรื่องทำนองนี้ว่า ไม่มีสูตรสำเร็จ

 

ลูกนั้น สำคัญไฉน

เพราะโครงการ “ส่งเสริมสาวไทยแก้มแดง มีลูกเพื่อชาติ ด้วยวิตามินแสนวิเศษ” กำลังถูกผลักดัน หัวข้อสนทนาที่ว่าด้วยเรื่อง “มีลูก” จึงกลายเป็นประเด็นสนทนาในวงกว้างอีกครั้ง ไล่ตั้งแต่บนเตียงนอน- ในสำนักงาน หรือร้านอาหารกับเพื่อนสนิท

ไม่ใช่แค่การแจกวิตามิน แล้วเชื้อเชิญกันให้มีลูกกันเสียดื้อๆ เพราะต่อให้ไม่ใช่นักประชากรศาสตร์ ก็ย่อมรู้ดีว่า โครงสร้างของสังคมไทย ว่าด้วยจำนวนประชากรกำลังเปลี่ยนไป ไลฟ์สไตล์และวิถีชีวิตแบบใหม่ทำให้วัยเจริญพันธุ์แต่งงานช้าลง เด็กเกิดน้อย ขณะที่ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นจากความก้าวหน้าทางการแพทย์

นโยบายยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยเจริญพันธุ์แห่งชาติฉบับที่ 2 (พ.ศ.2560-2569) ว่าด้วยการส่งเสริมการเกิดและการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ จึงมุ่งไปที่การเพิ่มจำนวนการเกิดทดแทนประชากร การวางแผนช่วยเหลือแก่ครอบครัวที่พร้อมมีบุตร และการส่งเสริมสุขภาพทารก แต่ถึงเช่นนั้นก็ยังไม่มีใครรู้ว่าจะบรรลุผลไปขนาดไหน

จะรู้กันก็แค่ว่าปัจจุบันอัตราการเพิ่มของประชากรไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 ซึ่งครั้งนั้นมีนโยบายวางแผนครอบครัว ซึ่งได้ผลจนทำให้อัตราการเพิ่มประชากรเทียบกับการตายอยู่ที่ 2.7 และลดเรื่อยมาจนถึง พ.ศ. 2558 ซึ่งอยู่ในอัตราร้อยละ 0.4 และหากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ ในอีก 10 ปีข้างหน้าคาดว่าจะเหลือระดับที่ร้อยละ 0.0

“ปัจจุบันนี้ตราเจริญพันธุ์รวมของประเทศไทยอยู่ที่ 1.6 หรืออธิบายได้ว่า 1 ครอบครัวเฉลี่ยมีลูก 1.6 คน ซึ่งถือว่าไม่สมดุล ถ้าจะให้เพียงพอกับการทดแทน คือ จะต้องให้อยู่ที่ระดับ 2.1 นั่นคือเพื่อทดแทนพ่อ 1 คน และแม่อีก 1 คน บวกการสูญเสียอีก 0.1 ดังนั้นครอบครัวหนึ่งควรมีลูกมากกว่า 2 คน” นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย บอกถึงจำนวนสมาชิกใหม่ที่มีผลต่อโครงสร้างประชากรไทย

ท้องเลือกได้

ต่อให้สถิติจะน่าเป็นห่วงกว่านี้ แต่การมีลูกไม่ใช่เรื่องภาคบังคับ ดังนั้นที่สุดแล้วเป็นเรื่องที่คนจะเป็นพ่อแม่ต้อง “เลือก” ตัดสินใจด้วยตัวเอง

จิตติมา ภาณุเตชะ ผู้อำนวยการมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพเพศหญิง ยกเรื่อง “สิทธิอนามัยเจริญพันธุ์” มาอธิบายว่า ที่ถูกต้อง…สิทธิเหล่านั้นต้องมาจากการเลือกทั้งกระบวนการ ตั้งแต่ 1.การมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งทั้งคู่ต้องพร้อม ยินยอม 2.การ “เกิด” ของเด็กซึ่งต้องมาจากความตั้งใจ เต็มใจ และยินยอมของทั้ง 2 ฝ่ายบนพื้นฐานความรู้ด้านเพศศึกษา อนามัย ก่อนมาสู่ขั้นตอนที่ 3. คือคุณภาพของเด็ก ที่ต้องคลอดอย่างปลอดภัย กระทั่งเลี้ยงดูให้มีคุณภาพทั้งร่างกายและจิตใจ

“คุณภาพของการเกิด ยังหมายถึงการที่สังคมจะมีความพร้อม และเอื้อประโยชน์ต่อการมีสมาชิกใหม่ ทั้งความปลอดภัยมั่นคง สวัสดิการสังคม โภชนาการที่มีคุณภาพ การได้รับการศึกษา สิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ ต้องประกอบด้วย 3 ส่วนหลักที่ว่านี้ถึงจะเรียกว่ามีคุณภาพ ส่วนการตัดสินใจว่า จะมีลูกหรือไม่นั้นเป็นเรื่องของพ่อแม่ต้องเลือกเอง ไม่มีใครตัดสินใจให้ นโยบายของรัฐเป็นเพียงเหตุผลหนึ่งที่จะช่วยประกอบการตัดสินใจ”

นุ่น-ศิรพันธ์ วัฒนจินดา นักแสดงสาวที่คุ้นเคยกันเป็นอย่างดี บอกมุมมองส่วนตัวว่า แม้จะสมรสมาสักระยะแล้ว แต่เธอก็ไม่ได้คิดจะมีลูกอยู่ดี และสาเหตุไม่ใช่เพราะเรื่องเศรษฐกิจอย่างที่หลายคนเป็นห่วง แต่เป็นเพราะสังคมที่เป็นอยู่เช่นทุกวันนี้ “ไม่เหมาะ” กับการมีสมาชิกใหม่ ทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทรุดโทรมลง ปัญหาสังคมที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ ปัญหาอาชญากรรม

“คนที่มีความสุขเราก็ดีใจด้วย แต่สำหรับเรายังคิดเหมือนเดิม บางคนอาจจะตัดสินใจไม่มี เพราะเรื่องค่าใช้จ่าย แต่เรามองว่าปัจจัยตรงนั้น สามารถควบคุมได้ ถึงมีไม่พอก็ต้องกินอย่างประหยัด หรือหามาเติมภายหลังได้ แต่กับเรื่องสิ่งแวดล้อม ขยะ มลพิษ น้ำเสีย อาชญากรรมไม่ได้ขึ้นอยู่กับเราคนเดียว”

“วันนี้เราเพิ่งขับรถผ่านไปย่านหนึ่งในกรุงเทพ และไปมองที่คลองหนึ่ง เชื่อไหมว่า มันแทบไม่มีน้ำเลย มีแต่ขยะเต็มไปหมด เราไม่อยากให้ใครต้องเกิดมาเจอภาพแบบนี้และวันนี้ยังไม่เปลี่ยนความคิด จนกว่ามันจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น มีสัญญาณที่บอกว่าสิ่งแวดล้อมจะดีขึ้น ถึงค่อยคิดถึงการมีสมาชิกใหม่ ซึ่งพอถึงวันนั้นเราอาจไม่อยู่ในวัยที่จะมีลูกแล้วก็ได้” นักแสดงสาวเล่าน้ำเสียงจริงจัง

ราคาที่ต้องจ่าย

ปัจจัยสังคมที่ว่าหนักใจ แต่สำหรับ พ.ศ.นี้ มีไม่น้อยมองว่าปากท้องนี่แหละสำคัญกว่าการท้องเป็นไหนๆ และปัจจัยเช่นนี้คือ เรื่องหลักๆ ของการตัดสินใจ ของพ่อแม่ยุคเจอเนอเรชั่นวาย

รายงานสถานการณ์ประชากรไทย พ.ศ.2558 โฉมหน้าครอบครัวไทย ยุคเกิดน้อย อายุยืน ซึ่งจัดทำโดยกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (United Nations Population Fund – UNFPA) เคยคำนวณมาให้ดูว่า ค่าเฉลี่ยยอดรวมที่พ่อแม่ใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตรตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 20 ปี รวมแล้วเป็นเงิน ประมาณ 2 ล้านบาท แบ่งออกเป็นที่ผู้ปกครองต้องออกค่าใช้จ่ายเองประมาณ 1.1 ล้านบาท ทั้งค่ากิน ค่านม ค่าที่อยู่ และ ฯลฯ ขณะที่รัฐมีการสนับสนุนผ่านมาตรการทางสังคมต่างๆ อาทิ สุขภาพ การศึกษา รวมแล้วประมาณ 8.8-8.9 แสนบาท

นั่นหมายความว่า พ่อแม่จะต้องลงทุนอย่างน้อยเดือนละ 4,000 บาท สำหรับการเลี้ยงดูบุตรแต่ละคนจนกว่าจะอายุครบ 20 ปี ซึ่งเงินจำนวนนี้นับว่าค่อนข้างสูง เมื่อพิจารณาจากจำนวนเงินมากกว่าร้อยละ 15 ของรายได้เฉลี่ยครัวเรือนไทย ซึ่งอยู่ที่เดือนละ 25,194 บาท และจะยิ่งสูงกว่านี้มาก หากพ่อแม่ต้องการให้บุตรได้รับการศึกษาในโรงเรียนเอกชน หรือต้องการลงทุน กับบุตรในรูปแบบอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น กิจกรรมเสริมหลักสูตรต่างๆ

"จากการสำรวจพบว่า หากคู่สามีภรรยารู้สึกว่าตนไม่พร้อมทางการเงินแล้ว การตัดสินใจที่จะมีบุตร อาจต้องถูกเลื่อนออกไปหรือพักไว้ก่อน” มีรายงานกล่าวไว้

รศ.ดร.ปังปอนด์ รักอำนวยกิจ รองคณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายเพิ่มเติมในประเด็นนี้ว่า ไม่ใช่แค่การมีลูกน้อยลงเท่านั้นที่เป็นความจริงของทุกวันนี้ แต่ยังมีคู่สมรสที่มีความพร้อมและไม่ยอมมีบุตรมากกว่า 1 คน เพราะสนใจคุณภาพลูกมาก และกลุ่มพ่อแม่กลุ่มนี้มักจะเป็นกลุ่มคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมที่จริงๆแล้ว“พร้อม” แต่อยาก “ทุ่มเท” ทรัพยากรทั้งหมดให้กับลูกคนเดียว เพื่อความเป็นเลิศ

“ให้สิ่งที่ดีที่สุดกับลูก คือ ความคิดของครอบครัวยุคใหม่ ซึ่งสิ่งที่ดีนี้ต้องลงทุนเองทั้งหมด ทั้งค่าอาหาร ค่าเล่าเรียน หาสิ่งแวดล้อมดีๆ เพื่อลูก ซึ่งทำให้บางครอบครัวตัดสินใจไม่มีไปเลย หรือจะมีก็ขอแค่คนเดียวเท่านั้น ผลการวิจัยในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ พบในทางเดียวกันว่า ครอบครัวที่มีลูกแล้ว จะตัดสินใจมีคนที่ 2 น้อยมาก”

ท้องไม่พร้อม-พร้อมไม่ท้อง

ในระหว่างที่เรื่อง “พร้อมไม่ท้อง” กำลังถกเถียง เรื่อง “ท้องไม่พร้อม” ก็เป็นปัญหาที่คลาสสิกที่ยังพบอยู่

จากสถิติพบว่า ประเทศไทยยังเจอปัญหาการเกิดน้อยด้อยคุณภาพด้วย โดยในปี 2558 พบอัตราการตายมารดาอยู่ที่ 20 ต่อการเกิดมีชีพ 100,000คน ส่วนใหญ่มาจากการตกเลือด มีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ถึงร้อยละ 39

ส่วนจำนวนทารกคลอดก่อนกำหนด อยู่ที่ร้อยละ 10.4 ทารกเสียชีวิตจากภาวะพิการแต่กำเนิดร้อยละ 7 ขณะที่อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวนาน 6 เดือนมีเพียงร้อยละ 23.9 ซึ่งถือว่าน้อยมาก

จิตติมา ผู้อำนวยการมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพเพศหญิง บอกว่า ระหว่างที่ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาคนรุ่นใหม่ๆ พร้อมไม่ท้อง เวลาเดียวกันนี้เรื่อง “แม่วัยสาว” เปรียบเสมือนเหรียญอีกด้าน และถึงวันนี้เรายังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีสถิติ “คุณแม่วัยรุ่น” (อายุ15-19ปี) มากที่สุดแห่งหนึ่ง โดยจากการสำรวจเมื่อปี 55 พบคุณแม่วัยสาว 50 คน จากแม่ทั้งหมด 1,000คน ขณะที่ปี 58 ลดลงอยู่ที่ 47 คน

 “เราบอกไม่ได้ว่าอายุเฉลี่ยของแม่มีลูกในช่วงอายุ 15-19 คือ การท้องที่ไม่พร้อมหรือไม่ เพราะพื้นฐานแต่ละครอบครัวแตกต่างกัน แต่อายุระดับนี้ส่วนใหญ่กำลังอยู่ในวัยศึกษา ซึ่งการตั้งท้องในช่วงวัยดังกล่าวเชื่อมโยงถึงโอกาสในการศึกษา รายได้ สภาพความเป็นอยู่ และจะส่งผลภายหลังต่อคุณภาพชีวิตของคุณแม่ยังสาว”

ก่อนที่จะพูดถึงการ“ท้องเพื่อชาติ” เพื่อต้อนรับสมาชิกใหม่ ก็ต้องพูดถึงคุณภาพชีวิตของสมาชิกที่มีอยู่แล้วให้ดีเสียก่อน จากนั้นจึงนำไปสู่การวางระบบสวัสดิการเพื่อ “ชนะใจ” ว่าที่คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ด้านวางแผนครอบครัว ระบบสาธารณสุข ที่อยู่อาศัย มาตรภาษีลดค่าใช้จ่าย การขยายจำนวนสถานรับเลี้ยงเด็ก การปรับปรุงนโยบายเวลาทำงานให้ยืดหยุ่น และอีก ฯลฯ

“แต่งงานมีคู่ มีลูกเพื่อสืบพันธุ์เป็นธรรมชาติของมนุษย์อยู่แล้ว แต่เมื่อสิ่งแวดล้อมมันไม่พร้อม พวกเขาจึง‘คิด’แล้วว่าเอาไว้ก่อนดีกว่า หากรัฐอยากให้มีการเพิ่มประชากรก็ต้องแจกแจงให้ชัดว่า สิทธิที่เขาจะได้รับมีอะไรบ้าง ปัญหาเรื่องสัดส่วนประชากรไม่ได้มีแค่ประเทศไทย หลายประเทศอย่างญี่ปุ่น สิงคโปร์ ก็พบกับปัญหานี้และเขาพยายามแก้ด้วยการสร้างสวัสดิการ เพื่อโน้มน้าวใจประชากรวัยเจริญพันธุ์”รศ.ดร.ปังปอนด์ กล่าวเสริม 

แล้วพวกเขาจะ “เลือก”เองว่าการตั้งท้องครั้งนี้ มีเพื่อใคร