วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (20 ก.พ.60)

วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (20 ก.พ.60)

ราคาน้ำมันดิบทรงตัว กังวลอุปทานเพิ่มและสต็อกสูง

- ราคาน้ำมันดิบทรงตัว โดยได้รับแรงกดดันจากจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันสหรัฐ ที่ปรับเพิ่มขึ้น และปริมาณน้ำมันดิบและน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐ ที่ยังคงอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงหนุนจากข่าวการลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบของผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ทั้งในและนอกกลุ่ม

- Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐ สัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 17 ก.พ. 60 ปรับเพิ่มขึ้น 6 แท่น มาอยู่ที่ 597 แท่น แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 58 และถือเป็นการปรับเพิ่มขึ้นเป็นเวลา 5 สัปดาห์ติดต่อกัน

- สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) เผย ปริมาณน้ำมันดิบและน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐ ปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันลดกำลังการผลิตลงและความต้องการใช้น้ำมันเบนซินลดลง

+ ความหวังว่ากลุ่มโอเปคจะปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง หากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังในตลาดโลกยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้

+ CFTC รายงานว่า ผู้จัดการกองทุนมีปริมาณการถือครองสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขาย NYMEX สุทธิ (Net Long Position) ปรับเพิ่มขึ้น 12,839 สัญญา มาอยู่ที่ 432,594 สัญญา สัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 14 ก.พ. 60


ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากยังคงได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังของสหรัฐที่อยู่ในระดับสูง อย่างไรตาม คาดว่าความต้องการนำเข้าจากบริษัทน้ำมันในตะวันออกกลางจะยังช่วยหนุนตลาดน้ำมันเบนซินอย่างต่อเนื่อง

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังที่สิงคโปร์ยังคงอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม คาดว่าอุปทานน้ำมันดีเซลในญี่ปุ่นมีแนวโน้มปรับลดลงช่วง เม.ย. - พ.ค. เนื่องจากเป็นช่วงการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น


ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้

           ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 51-56 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
           ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 53-58 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล



ปัจจัยที่น่าจับตามอง

- ติดตามการประชุมระหว่างผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปคในวันที่ 21 – 22 ก.พ. เกี่ยวกับข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิต ซึ่งมีแนวโน้มเป็นไปในทางที่ดี หลังรายงานประจำเดือน ก.พ. 2560 ของโอเปค เปิดเผยว่า ประเทศผู้ผลิตกลุ่มโอเปค ทั้ง 11 ประเทศ ไม่รวม ลิเบีย ไนจีเรีย และอินโดนีเซีย ปรับลดปริมาณการผลิตในเดือนม.ค. 2560 ลงราว 1.16 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาสู่ระดับ 29.88 ล้านบาร์เรลต่อวัน

- กำลังการผลิตของลิเบียมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังแหล่งน้ำมันดิบ El Feel กำลังการผลิต 75,000 บาร์เรลต่อวัน จะกลับมาดำเนินการอีกครั้ง ซึ่งปัจจุบันปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียแตะระดับ 0.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน และคาดว่าจะแตะระดับ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนส.ค. นอกจากนี้รัฐบาลลิเบียยังคาดการณ์ว่าปริมาณการผลิตจะมาอยู่ที่ 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2561

- ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale Oil) มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น โดยล่าสุดสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) คาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดานในเดือนมี.ค. ปรับเพิ่มขึ้นราว 0.08 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับปริมาณการผลิตในเดือนก.พ. มาสู่ระดับ 4.87 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นจากแหล่งผลิต Permian ราว 0.07 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากแหล่งผลิต Eagle Ford ยังปรับเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบปี โดยปรับเพิ่มขึ้นราว 0.014 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ที่มา : บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)          

โทร.02-797-2999