แนะทางสร้างภาพลักษณ์ให้ไทย โดยใช้ Soft Power

แนะทางสร้างภาพลักษณ์ให้ไทย โดยใช้ Soft Power

นักวิชาการแนะใช้ soft power ในการสร้างภาพลักษณ์ให้ประเทศ ชี้ละครไทยดึงดูดคนเข้าประเทศ ช่วยสร้างเศรษฐกิจในไทยได้

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการจิจัย (สกว.) จัดงานสัมมนา “ยุทธศาสตร์ Soft Power ของไทย:บทเรียนจากจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้สู่การประยุกต์ใช้ของไทย” โดยมีภาครัฐ ภาคเอกชน และอาจารย์มหาวิทยาลัย เข้าร่วมเพื่อสร้างความเข้าใจกับนโยบาย soft power ของทั้งสามประเทศ และรู้จักใช้ soft power ของไทยในการสร้างภาพลักษณ์บนเวทีระหว่างประเทศ

อำนาจละมุน(soft ower) คืออำนาจในการดึงดูดความสนใจ และการสร้างการมีส่วนร่วม แต่ไม่ใช่การบังคับให้ทำตาม เพื่อให้สังคมทั้งในประเทศและนอกประเทศ เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิดต่อประเทศของตน ไปในทิศทางที่ดี โดยอาศัย 3 ประการ คือ 1.วัฒนธรรม 2.ค่านิยมการเมือง 3.นโยบายต่างประเทศ

รศ.ดร.กิตติ ประเสริฐสุข อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มธ. กล่าวถึงภาพรวมนโยบาย Soft Power ของทั้งสามประเทศและบทเรียนสำหรับไทยว่า ประเทศญี่ปุ่นมีความเข้มแข็งด้าน soft power ดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิม และวัฒนธรรมสมัยนิยมแนวเสรี อีกทั้งยังมีบทบาทในการสร้างประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในระดับประเทศ ทำให้ภาพลักษณ์ญี่ปุ่นอยู่ในเกณฑ์ดีของทั้ง 3 ประการ

ในส่วนของประเทศเกาหลีใต้และจีนพบว่า มีความใกล้เคียงกันในเรื่อง soft power โดยประเทศจีนยังขาดความยืดยุ่นทางวัฒนธรรมและขาดเสรีภาพทางการเมือง แม้ว่าจีนจะมีนโยบายการพัฒนาประเทศอย่างสันติ แต่ความน่าเชื่อถือกลับลดลง เนื่องการแข็งกร้าวในกรณีปัญหาทะเลจีนใต้เป็นต้น

ด้านประเทศเกาหลีใต้ประสบผลสำเร็จ สามารถส่งออกวัฒนธรรมเป็นสินค้าสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่ประเทศ ส่งผลให้เศรษฐกิจดีตามไปด้วย
อีกทั้งยังผลักดันด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างว่างประเทศ แต่ยังขาดความต่อเนื่องในการใช้ soft power

อาจารย์กิตติยังกล่าวอีกว่า soft power ของทั้งสามประเทศที่มีอิทธิพลต่อประเทศไทยเยอะที่สุดคือ ด้านวัฒนธรรม แต่ยังพบว่ายังขาดความเข้าใจต่อวัฒนธรรมนั้นๆ อย่างลึกซึ้ง เป็นเพียงความชอบที่ฉาบฉวย และยังขาดการรู้จักจุดเด่น จุดด้อย ของประเทศตนเอง รวมถึงการดึงศักยภาพในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในระดับประเทศ

ดร.อัมพร จิรัฐติกร อาจารย์คณะสังคมศาสตร์ มช. กล่าวถึงบทบาท soft power ของประเทศไทย ผ่านสื่อละครโทรทัศน์ในประเทศพม่า กัมพูชา และเวียดนาม พบว่า ละครถือเป็นสื่อรูปแบบหนึ่งในการเผยแพร่ soft power อย่างมีนัยยะ เนื้อหาละครไทยมักแฝงคุณค่าทางวัฒนธรรม ความเชื่อทางศาสนา ค่านิยม และจริยธรรม ทำให้ผู้ชมทั้งสามประเทศเกิดความใกล้ชิดทางวัฒนธรรมและภาษาเพิ่มมากขึ้น รู้จักบริบททางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองและค่านิยมผ่านสื่อละคร ถือเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนข้ามประเทศเพื่อขายแรงงานในประเทศไทย ร่วมถึงการสร้างการท่องเที่ยวให้ประเทศเพื่อนบ้านรู้จัก ทำให้สินค้าในประเทศไทยได้ความรับนิยมเพิ่มมากขึ้น

แต่ทั้งนี้ ละครไทยถูกเผยแพร่ไปประเทศเพื่อนบ้านโดยบังเอิญ ผู้ผลิตละครในประเทศไทยไม่ได้เจาะกลุ่มเป้าหมายในประเทศเพื่อนบ้าน ยังขาดคอนเทนท์ที่หลากหลาย และติดเรื่องลิขสิทธิ์ในการเผยแพร่ เพราะข้อกำหนดขึ้นอยู่กับช่องทีวี อีกทั้งรัฐบาลไม่ได้มีแผนในการดึงละครให้เป็น soft power ในสร้างภาพลักษณ์ให้ประเทศไทย