คลังย้ำใช้จ่ายเงินคงคลังตามกฎหมายกำหนด

คลังย้ำใช้จ่ายเงินคงคลังตามกฎหมายกำหนด

คลังย้ำใช้จ่ายเงินคงคลังตามกม.กำหนด ชี้ “สศค.-สบน.-บัญชีกลาง” ประชุมรายไตรมาสประเมินภาระรายจ่าย-รายรับของรัฐบาลว่าเงินคงคลังมีเพียงพอหรือไม่

แม้รัฐบาลและกระทรวงการคลัง จะออกมาชี้แจงถึงที่มาที่ไปของระดับเงินคงคลังที่ปรับลดลงเหลือราว 7 หมื่นล้านบาท จากที่เคยอยู่ในระดับสูงหลายแสนล้านบาทว่า เป็นเพราะการบริหารจัดการเงินคงคลังให้มีต้นทุนต่ำสุด เพราะเงินคงคลังเป็นเงินที่กู้มา เพื่อเป็นสภาพคล่องของรัฐบาล แต่หลายฝ่ายยังตั้งข้อสังเกตถึงการใช้จ่ายเงินของรัฐบาลผ่านเงินคงคลังว่า มีรายละเอียดการใช้จ่ายอย่างไร รวมถึง มีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด

นางสาวอรนุช ไวนุสิทธิ์ ที่ปรึกษาพัฒนาระบบการเงินการคลัง กรมบัญชีกลาง กล่าวว่า การเบิกจ่ายเงินคงคลัง จะเป็นไปตามกฎหมายเงินคงคลังที่ให้สามารถเบิกจ่ายตามกฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปี กฎหมายงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม กฎหมายโอนงบประมาณ รวมถึงมติสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่ให้ใช้เงินคงคลังไปก่อน เป็นต้น ดังนั้น การใช้จ่ายเงินคงคลังจะต้องมีกฎหมายรองรับ

ในแง่การวัดประสิทธิภาพการใช้จ่ายเงินงบประมาณ จะขึ้นอยู่กับการเบิกจ่ายเงินของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งแต่ละหน่วยงานจะมีตัวชี้วัดของการใช้จ่ายที่ต้องทำคำรับรองกับหน่วยงานต้นสังกัด และ หน่วยงานต้นสังกัดก็จะต้องทำคำรับรองกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ หรือกพร.อีกต่อหนึ่ง เพื่อประเมินออกมาเป็นตัวชี้วัดการใช้จ่ายงบประมาณ

"3หน่วยงาน" เกาะติดระดับเงินคงคลัง

ส่วนระดับเงินคงคลังที่เหมาะสม กระทรวงการคลัง จะมีคณะทำงานที่มาจากหน่วยงานต่างๆ ประกอบด้วย กรมบัญชีกลาง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ซึ่งร่วมประชุมกันทุกต้นไตรมาส เพื่อประเมินภาระรายจ่ายและรายรับของรัฐบาลในช่วงเวลาต่างๆ โดยรายรับและรายจ่ายดังกล่าวจะเป็นตัวกำหนดระดับเงินคงคลังในแต่ละช่วง ซึ่งแน่นอนว่า จะต้องเพียงพอต่อการใช้จ่ายเงินของรัฐบาล

“เงินคงคลังที่มีอยู่ในระดับต่างๆ จะไม่เป็นปัญหาต่อสภาพคล่องของรัฐบาล เพราะคณะทำงานชุดดังกล่าว จะคอยดูว่า มีรายรับ และ รายจ่ายจำนวนเท่าใด ซึ่งเงินคงคลังในแต่ละเดือน ก็จะมีจำนวนไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับรายรับและรายจ่ายในแต่ละเดือน แต่เงินคงคลังจะต้องอยู่ในระดับที่รองรับการใช้จ่ายในระยะ 10 วันข้างหน้า”

ไตรมาสแรกขาดดุล 4.15 แสนล้าน

แหล่งข่าวจากกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า ยอดการเบิกจ่ายเงินคงคลังในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2560 (ต.ค.-ธ.ค.2559) มียอดการเบิกจ่ายรวม 969,104.61 ล้านบาท แบ่งเป็น รายจ่ายในเดือนต.ค.จำนวน 435,355.25 ล้านบาท เดือนพ.ย.จำนวน 175,711.92 ล้านบาท เดือนธ.ค.จำนวน 358,037 .44 ล้านบาท

ส่วนรายได้ของรัฐบาลมีเข้ามารวม 553,864.03 ล้านบาท ส่งผลให้รัฐบาลขาดดุลงบประมาณ 415,240.58 ล้านบาท เมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุล 55,339.05 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลขาดดุลเงินสดก่อนกู้จำนวน 470,597.63 ล้านบาท ขณะที่รัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลมาจำนวน 104,186.90 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลขาดดุลเงินสดหลังกู้จำนวน 366,392.73 ล้านบาท เมื่อหักจากเงินคงคลังต้นงวดที่มีอยู่ 441,299.71 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลเหลือเงินคงคลังปลายงวดในสิ้นเดือนธ.ค.ที่จำนวน 74,906.98 ล้านบาท

ชี้ส่วนใหญ่เป็น "รายจ่ายประจำ" 

โดยรายละเอียดของการเบิกจ่ายเงินคงคลัง ในเดือนต.ค.2559 ถูกเบิกจ่ายไปเพื่อรายจ่ายหลัก อาทิ 1.งบบุคลากร 5.5 หมื่นล้านบาท 2.งบดำเนินงาน 5.7 พันล้านบาท 3.งบลงทุน 6.1 พันล้านบาท 4.งบอุดหนุน 1.3 แสนล้านบาท 5.รายจ่ายอื่น 8.7 หมื่นล้านบาท(จ่ายคืนให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือธ.ก.ส.ที่สำรองจ่ายให้แก่เกษตรกรตามนโยบายรัฐบาล 5.4 หมื่นล้านบาท และชำระหนี้) 6.งบกลาง 3.2 หมื่นล้านบาท 7.กองทุนหมุนเวียน 5.5 หมื่นล้านบาท(จ่ายให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ สปสช.5.2หมื่นล้านบาท)และ 8.เงินกันเหลื่อมปี 1.3 หมื่นล้านบาท

โดยงบกลาง ไว้สำหรับใช้จ่ายกรณีฉุกเฉินซึ่งเป็นอำนาจนายกรัฐมนตรี เช่นกรณีเกิดอุทกภัย วาตภัย และภัยพิบัติ ต่างๆ

ส่วนเดือนพ.ย.2559 เงินคงคลังถูกเบิกจ่ายไปเพื่อรายจ่ายหลัก อาทิ 1.งบบุคลากร 5.1 หมื่นล้านบาท 2.งบดำเนินงาน 1 หมื่นล้านบาท 3.งบลงทุน 1.1 หมื่นล้านบาท 4.เงินอุดหนุน 6.2 หมื่นล้านบาท (เบิกทั้งก้อนให้ประกันสังคม 4 หมื่นล้านบาท) 5.งบรายจ่ายอื่น 2.3 หมื่นล้านบาท (ตั้งงบชำระหนี้ สบน. ที่เหลือจ่ายให้หน่วยงานราชการ) 6.อุดหนุนกองทุนหมุนเวียน 2.3 พันล้านบาท 7.งบกลาง 3.1 หมื่นล้านบาท และ 8.เงินกันเหลื่อมปี 2.7 หมื่นล้านบาท

ส่วนเดือนธ.ค.2559 เงินคงคลังถูกเบิกจ่ายไปเพื่อรายจ่ายหลัก อาทิ 1.งบบุคลากรจำนวน 5.1 หมื่นล้านบาท 2.งบดำเนินงาน 1.3 หมื่นล้านบาท 3.งบลงทุน 3.8 หมื่นล้านบาท 4.งบอุดหนุน 3.3 หมื่นล้านบาท(ให้ท้องถิ่นและจ่ายรายหัว สปฐ.) 4.งบรายจ่ายอื่น 9.9 หมื่นล้านบาท (ชำระหนี้เงินกู้ของสบน. 8.4 หมื่นล้านบาท ที่เหลือให้หน่วยงานราชการเร่งเบิกจ่ายอบรม สัมมนา) 5.งบอุดหนุนกองทุนหมุนเวียน 3.9 พันล้านบาท 6.งบกลาง 4 หมื่นล้านบาท 7.เงินกันเหลื่อมปี 5.2 หมื่นล้านบาท

หนุนใช้นโยบายคลังฟื้นศก.

ด้านนายสกล วรัญญวัฒนา คณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เห็นด้วยกับรัฐบาลที่ใช้นโยบายการคลังมาช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกในขณะนี้ แต่กังวลในเรื่องของการใช้เงินงบประมาณที่อาจรั่วไหล รวมถึง การใช้เงินนอกงบประมาณจำนวนมาก ที่อาจทำให้มองไม่เห็นภาระหนี้ที่แท้จริงของรัฐบาล

นายสกล กล่าวว่า ทุกรัฐบาลที่ผ่านมา มักจะใช้นโยบายการคลังดูแลเศรษฐกิจ ขณะที่การจัดเก็บรายได้ไม่สัมพันธ์กัน ทำให้รัฐบาลต้องขาดดุลงบประมาณต่อเนื่อง ซึ่งในรัฐบาลนี้ก็เช่นกัน การขาดดุลงบประมาณเป็นผลพวงมาจากการทำงบประมาณที่ขาดดุลมาตั้งแต่อดีต แต่การขาดดุลของรัฐบาลชุดนี้ ก็มีเป้าหมายที่ชัดเจนว่า จะนำไปลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐาน และดูแลเศรษฐกิจระยะสั้น

“ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการใช้นโยบายการคลังของรัฐบาลที่ผ่านมา คือ ใช้เพื่อประชานิยม ทำให้งบประมาณเพื่อใช้ในการลงทุนนั้น ไม่เป็นไปตามที่คาด จะสังเกตว่า ในระยะเวลาที่เกิน 10 ปี งบลงทุนมีสัดส่วนไม่ถึง 20% ผลก็คือ ทำให้ศักยภาพในการแข่งขันของประเทศตกต่ำ ฉะนั้น รัฐบาลนี้ จึงมาเร่งลงทุน ซึ่งก็เห็นชัดว่า รัฐบาลได้ทำเรื่องนี้ ขณะที่ ภาระหนี้ต่อจีดีพีก็อยู่ในระดับประมาณ 42% ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว”

ห่วงรัฐบาลใช้เงินไม่โปร่งใส

อย่างไรก็ดี การกู้เงินของรัฐบาล หากต้องกู้ต่อเนื่อง มองว่า จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการเงินของภาคเอกชน โดยรัฐบาลจะเข้าไปเบียดแทรกการใช้เงินของภาคเอกชน ซึ่งจะบีบให้อัตราดอกเบี้ยในประเทศสูง แต่ก็เชื่อว่า ด้วยนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการภาครัฐ ก็จะไม่ทำให้ต้นทุนการเงินภาคเอกชนสูงขึ้นมากนัก

นอกจากนี้ ยังห่วงเรื่องความโปร่งใสในการใช้จ่ายเงินของรัฐบาล โดยเฉพาะการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณผ่านกองทุนต่างๆ การใช้เงินของท้องถิ่น การใช้เงินของธนาคารรัฐ และ รวมถึง การเข้าไปค้ำประกันเงินกู้ให้แก่รัฐวิสาหกิจต่างๆ ซึ่งการดำเนินการสิ่งเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะไม่ปรากฏในงบประมาณแผ่นดิน ฉะนั้น ความโปร่งใสในเรื่องนี้ ถือว่า เป็นเรื่องที่สำคัญ

ทำงบกลางปีลงกลุ่มจังหวัด

สำหรับการจัดทำงบประมาณกลางปี เห็นด้วยที่จะจัดงบประมาณจำนวนกว่าแสนล้านบาทไปใช้ในท้องถิ่นอย่างเต็มที่ โดยถือเป็นมิติใหม่ในการใช้จ่ายงบประมาณ แต่เนื่องจาก รัฐบาลนี้ เป็นรัฐบาลทหาร จึงคิดแบบทหาร คือ คิดเร็ว ทำเร็ว ขณะที่กลไกระดับจังหวัดอาจจะไม่สามารถขับเคลื่อนได้เร็ว แม้ว่า ระดับจังหวัดจะมีการทำแผนการพัฒนามาบ้างแล้วก็ตาม และ ยังกังวลที่เม็ดเงินดังกล่าวอาจจะเกิดการรั่วไหลมากอีกด้วย เพราะโครงการที่จะดำเนินการอาจจะไม่เป็นโครงการที่จะสามารถพัฒนาท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน

“แนวคิดนี้ เป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องยอมรับว่า เรากำลังจะเปลี่ยนบทบาทของนักปกครองท้องถิ่น มาเป็นนักพัฒนา ซึ่งนักปกครองต้องเข้าใจถึงแนวทางการบริหารและพัฒนาในแต่ละพื้นที่เป็นอย่างดี ขณะที่การปรับเปลี่ยนตัวบุคคลที่มารับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด เปลี่ยนแปลงบ่อย บางจังหวัดเปลี่ยนถึง 3 คนต่อปีก็มี ดังนั้น ความเข้าใจในเรื่องการพัฒนาท้องที่อาจจะมีไม่เพียงพอ เพราะแม้เงินจะลงไป แต่กระบวนการจัดการยังทำได้ไม่เต็มที่ จึงอยากเสนอให้มีการปรับปรุงวิธีการคัดเลือกผู้ว่า ที่ควรจะมาจากการเลือกตั้งแทน”