เปิดใจ‘โหน่ง วงศ์ทนง’ลาออกอะเดย์ตั้งบริษัทใหม่

 เปิดใจ‘โหน่ง วงศ์ทนง’ลาออกอะเดย์ตั้งบริษัทใหม่

การตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งบรรณาธิการอำนายการ และกรรมการผู้จัดการ บริษัทเดย์ โพเอทส์ จำกัด ของ“โหน่ง วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์” ผู้ก่อตั้ง a day 

 ที่ประกาศผ่าน ทวิตเตอร์ เช้าวันที่ 17 ก.พ.ที่ผ่านมา จากสาเหตุไม่เห็นด้วยกับดีลขายหุ้น “เดย์ โพเอทส์”มูลค่า 308 ล้านบาท ให้กับบริษัทโพลาริส แคปปิตัล จำกัด (มหาชน)

ในวันเดียวกับที่ประกาศลาออก “วงศ์ทนง” ให้สัมภาษณ์“เนชั่นทีวี”ถึงสาเหตุการลาออกและแนวทางการทำงานในสายงานสื่อมวลชนหลังจากนี้ 

วงศ์ทนง  เล่าว่าได้ตัดสินใจเกี่ยวกับแนวทาง“ลาออก”มาระยะหนึ่ง จากสาเหตุกรณีบริษัท เดย์ โพเอทส์ จำกัด ประกาศขายหุ้นให้บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วยราคา 308 ล้านบาท ซึ่งรู้สึกไม่สบายใจกับดีลนี้ จึงประกาศ "จุดยืนว่า“ไม่เห็นด้วยกับดีลนี้” หากยังดำเนินการต่อไป จะขอลาออกจากเดย์ โพเอทส์  

 มาถึงวันนี้ยังยืนยันว่า“ไม่เคยรู้เรื่องดีลนี้” มาก่อนหน้าวันที่ 28 ธ.ค.2559  ที่โพลาริส แจ้งตลาดฯ ซื้อหุ้น 70% ในบริษัทเดย์ โพเอทส์ จำกัด จำนวน 490,000 หุ้น จากบริษัทไทยฟู้ด โลจิสติกส์ จำกัด และบริษัท ธนวรินทร์ จำกัด เจ้าของหุ้นเดิม ราคารวม 308.7 ล้านบาท หุ้นละ 630 บาท

“ผมรู้ข่าวดีลนี้ครั้งแรกจากทวิตเตอร์ นั่นหมายถึงรู้พร้อมคนทั่วไปว่าเดย์ โพเอทส์ ขายหุ้นให้กับบริษัทในตลาดหลักทรัพย์”

หลังจากนั้นได้โทรศัพท์คุยกับผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งได้รับคำอธิบายว่าไม่มีอะไรและเป็นเรื่องทางธุรกิจ เดิมไม่ได้ติดใจ ที่ผ่านมาบริษัทได้เคยเปลี่ยนผู้ถือหุ้นมาก่อน เพราะเป็นเรื่องทางธุรกิจที่ต้องลงทุนและนี่ไม่ใช่ครั้งแรก

แต่หลังจากมีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับดีลนี้ออกมาอย่างต่อเนื่อง หลังจากอ่านข้อมูลจึงไม่สบายใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบ้างข้อสังเกต ที่ให้คำอธิบายกับสังคมได้ไม่แน่ชัด

เดย์โพเอทส์ เป็นบริษัทผลิตสื่อและบางสื่อเป็นลักษณะข่าว เช่น a day bulletin และ The Momentum  มองว่าถ้าบริษัทที่ทำสื่อ หากไปพัวพันกับเรื่องที่ตอบคำถามของสังคมได้ไม่เต็มปาก จึงไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง เมื่อไม่สามารถเปลี่ยนแปลงดีลนี้ได้ จึงตัดสินใจว่า “ไม่สามารถอยู่ต่อในบริษัทได้”เช่นกัน  และประกาศลาออกในสิ้นเดือน ก.พ.นี้ 

แม้ประกาศลาออกจากเดย์ โพเอทส์แล้ว ยังมีประเด็นที่เป็นคำถามจากสังคมว่า "จะเป็นไปได้อย่างไร ในฐานะผู้ถือหุ้นและกรรมการผู้จัดการบริษัท ว่าจะไม่รู้ดีลขายหุ้นอะเดย์"

วงศ์ทนง  อธิบายว่าเขาเป็นกรรมการผู้จัดการด้านบริหารงาน เป็นคนทำงาน รับเงินเดือนเหมือนพนักงานทั่วไป จึงไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องหุ้นและมอบหมายให้ผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นผู้ดูแล  อีกการยืนยันที่เป็นรูปธรรมชัดเจนคือสัดส่วนการถือหุ้น

"ผมเพิ่งทราบว่า ถือหุ้นในบริษัทเดย์ โพเอทส์  1 หุ้น ไม่ใช่ 1%  การเป็นเจ้าของ 1 หุ้น จากจำนวนล้านหุ้น ถือว่าน้อยมาก จนทุกคนเข้าใจได้ว่าไม่มีความหมายอะไร เพราะไม่ต้องประชุมกรรมการบริษัท ไม่ต้องเซ็นเอกสารใดๆ ในการไปเสนอขายหุ้นกับบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ถือเป็นข้อยืนยันว่า ผมไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับดีลนี้"

 กรณีที่เกิดขึ้นมีข้อกล่าวหาว่า"ผมขายอุดมการณ์แลกเงิน 300 ล้าน” ซึ่งไม่เป็นความจริงโดยสิ้นเชิงเพราะยืนยันว่าไม่เคยรับรู้เรื่องดีลนี้ และเมื่อรู้แล้วก็ไม่เห็นด้วย จึงประกาศจุดยืนว่า “ถ้ามีดีลนี้เกิดขึ้นผมจะลาออก”

 บริษัทเดย์ โพเอทส์ เกิดขึ้นเมื่อ 16 ปีก่อน จากรูปแบบ คราวด์ฟันดิง (Crowdfunding) เป็นการร่วมลงขันของคน 459 คน ที่ส่งเงินมาให้รายละ 1,000 บาทบ้าง 2,000  บาท 3,000 บาท  กระทั่ง 5000 บาท และ 10,000 บาท  แล้วแต่ความสมัครใจ จนเกิดเป็นเงินลงทุนก่อนแรก 2.5 ล้านบาท เพื่อทำหนังสือ “อะเดย์”

ตลอดเวลา 16 ปีที่ผ่านมา มีการปันผลให้กับผู้ร่วมลงขันเป็นระยะ ยกเว้น 3 ปีแรกที่เป็นช่วงเริ่มต้นธุรกิจและไม่มีกำไร เพราะนิตยสาร 1 เล่ม ต้องใช้เวลาคุ้มทุน 3-5 ปี

นับจากปีที่ 4 หรือ 13 ปีที่ผ่านมา บริษัทจ่ายเงินปันผลรวม 6 ครั้ง หรือเป็นการปันผลปีเว้นปี ซึ่งครั้งแรกเป็นการปันผล 100% คือหากลงทุน 1,000 บาท ได้คืน 1,000 บาท เพื่อตอบแทนคนที่ร่วมลงขันว่าเงินจะไม่สูญหายและได้คืนกลับไปทั้งหมด

"ผมเกิดจาก เดย์โพเอทส์และอะเดย์ ไม่เคยลืมผู้ร่วมลงขัน 459 คน เมื่อ 16 ปีก่อน เพราะเป็นการให้เงินตั้งต้นที่ลึกซื้งและยิ่งใหญ่ และได้พยายามดูแลตอบแทน 459 คน อย่างเต็มที่" 

วันนี้ได้ตัดสินใจลาออกจากเดย์โพเอทส์แล้ว นอกจากการย้ำจุดยืนว่าไม่รู้เรื่องและไม่เห็นด้วยกับดีลขายหุ้นแล้ว มีความตั้งใจว่าจะไปตั้ง “บริษัทใหม่” เพื่อจัดโครงสร้างของผู้ถือหุ้นใหม่ โดยเฉพาะคนที่ร่วมลงขัน 459 คน ในยุคก่อตั้งเดย์ โพเอทส์ให้ชัดเจน เพราะที่ผ่านมาการมีบริษัทแม่ ทำให้โครงสร้างผู้ถือหุ้นไม่ได้อยู่ในมือตนเอง

วงศ์ทนง บอกว่าบริษัทใหม่มีความตั้งใจ ที่จะจัดสรรโครงสร้าง ให้ผู้ถือหุ้นทั้ง 459 คนในยุคก่อตั้งอะเดย์  มาถือหุ้นในบริษัทใหม่รวมสัดส่วน 10%  โดยการทำงานของบริษัทใหม่จะแสดงผลประกอบการเป็นรายไตรมาส ว่ามีรายได้ กำไร ขาดทุนเท่าไหร่ สิ้นปีจะระบุเงินปันผลที่ชัดเจน  “ถือเป็นความตั้งใจที่ต้องการตอบแทนผู้ร่วมลงขันในยุคแรก”

การทำงานใหม่ คิดว่าจะตั้งบริษัทผลิตคอนเทนท์เล็กๆ ทั้งใจทำคอนเทนท์ที่ดี สำหรับคนอ่าน คนดู คนฟังในสังคม ส่วนคอนเทนท์ที่ว่าจะไปปรากฎในแพลตฟอร์มใด อีกไม่นานจะได้เห็นแน่นอน 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ตนเองและ นิติพัฒน์ สุขสวย ผู้ร่วมก่อตั้ง อะเดย์ ได้กลับมาทบทวนว่า "ชีวิตการทำงานแบบไหนที่เราน่าจะมีความสุขและได้คำตอบว่า เราอยากกลับไปเป็นบริษัทเล็กๆ แบบอินดี้ ที่ไม่ต้องมีโครงสร้างซับซ้อน เป็นบริษัทเล็กๆ ที่เรียบง่าย เห็นว่าทำอะไร มีรายได้ และผลตอบแทนเท่าไหร่"

ดังนั้นการออกไปตั้งบริษัทใหม่ “อุดมการณ์ของผมและคนทำงานทุกคน ไม่มีอะไรสูงส่งมากมาย” เพียงต้องการเป็นสื่อมวลชนที่ดี ทำสื่อสร้างสรรค์สังคม ให้ความรู้ความคิดกับผู้คน ขณะเดียวกันคนทำงานต้องมีคุณภาพชีวิตที่พออยู่ได้ ทำงานแล้วมีความสุข มีความมั่นคงในอาชีพยาวนาน

เราคิดแค่นี้ เราไม่หวังร่ำรวยจากอาชีพการทำสื่อ นี่เป็นความสัตย์จริง”

อีกเหตุผลที่เป็นความเชื่อพื้นฐานว่า "คนที่เป็นสื่อมวลชนทุกคน มีอุดมการณ์ที่ดี มีความคิดที่ดี ที่ต้องการทำอะไรเพื่อผู้คนและสังคม แต่ก็เข้าใจว่าในเชิงธุรกิจ คนที่เป็นนักลงทุน ต้องการเห็นผลกำไรจากเงินลงทุน เพียงแต่ว่าที่ผ่านมาสมดุลทั้งคู่อาจยังเข้ากันไม่ได้ และคิดกันคนละอย่าง ดังนั้นเมื่อรู้สึกว่า “เข้ากันไม่ได้” และคิดกันคนละอย่าง “แยกกันเดิน”จะเป็นเรื่องที่ดีกว่า และไปตามวิถีที่แต่ละฝ่ายเชื่อ

วันนี้แม้ประกาศลาออกจากบริษัทเดย์โพเอทส์แล้ว  วงศ์ทนง บอกว่าก็ยังมีคนไม่เชื่อว่า "ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือส่วนได้ส่วนเสียกับเงิน 300 ล้าน" เขามองว่าความเชื่อดังกล่าว "ไม่ใช่ปัญหาของผม แต่เป็นปัญหาของคนที่ยังเชื่อเรื่องนี้อยู่"

"ผมวันนี้ได้เคลียร์ตัวเองแล้ว ได้แสดงจุดยืนของผมแล้ว ได้แก้ข้อกล่าวหาทั้งหมดด้วยการลาออกจากเดย์ โพเอทส์ ซึ่งหมายถึงผมไม่ได้อะไรเลยสักบาทเดียว ออกไปแต่ตัว หากใครยังคิดปักใจว่าผมมีนอกมีในกับเรื่องนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องของผม แต่เป็นเรื่องของคนที่คิดแบบนั้น"

บทเรียนที่เกิดขึ้น วงศ์ทนง  บอกว่าเขาเป็นคนทำสื่อที่เข้าใจเรื่องธุรกิจ ไม่มีอคติกับนายทุนหรือนักลงทุน เพราะการทำสื่อทุกประเภทต้องใช้เงิน ไม่ใช่เรื่องทำการกุศล ดังนั้นคนที่มาลงทุนและถือหุ้นในบริษัทสื่อ ต้องคาดหวังถือผลกำไรและรายได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะสื่อ คือ คอมเมอร์เชียล อาร์ท ที่ต้องผสมผสานเรื่องธุรกิจและการอยู่ให้ได้ พร้อมทั้งต้องรักษาอุดมการณ์ความคิดความเชื่อที่ดี ที่มีกับสังคมไว้ 

หากวันหนึ่งสมดุลในเรื่องดังกล่าวเสียไป ก็ขึ้นอยู่ว่าจะเลือกทางไหน "สำหรับผมไม่เลือกที่จะร่ำรวย แต่เลือกทำงานที่ผมรัก เป็นสื่อมวลชนที่ทำหน้าที่สื่อสารสิ่งดีๆ ให้สังคม"

"เหตุการณ์ช่วงเช้าวันที่ 17 .. ที่ทวิตข้อความ ลาออกจาก เดย์ โพเอทส์ รู้สึกอธิบายไม่ถูก เป็นความรู้สึกใจหาย น้ำตาไหล ผมเข้าใจว่ามันเป็นความผูกพัน ที่ทำอะเดย์ มา 16 ปี ทำมาตั้งแต่วันแรก เป็นคนคิดชื่อนี้ขึ้นมา  ช่วง 16 ปีที่ผ่านมา เป็นเวลาที่มีค่ามาก วันหนึ่งสิ่งที่เราสร้างมากับมือ เราต้องมาทิ้งมันไป ลาออกจากมัน ก็เป็นเรื่องที่ยอมรับว่าเจ็บปวด"

นับจากประกาศลาออก ได้รับโทรศัพท์ ได้รับข้อความตลอดเวลา ในทวิตเตอร์ มีคนเมนชั่นให้กำลังใจตลอดเวลา ข้อความถูกรีทวิตกว่า 10,000 คน (ช่วงครึ่งวัน) เป็นสิ่งที่รู้สึกดีและขอบคุณ ทำให้รู้สึกว่าคนที่เข้าใจผมและเข้าใจอะเดย์ ยังมีอยู่จำนวนมากกว่าคนที่ไม่เข้าใจ หรือพยายามไม่เข้าใจ

"16 ปีที่ทำอะเดย์และสื่อต่างๆในเครือ ได้สร้างคุณค่าและความหมายบางอย่าง และขอบคุณทุกคนที่ติดตาม ขอบคุณผู้ร่วมลงขันที่ทำให้มีประสบการณ์ชีวิตที่ดีกับ 16 ปีที่ได้ทำนิตยสารอะเดย์ และย้ำว่าจะไม่ทิ้งพวกเขา จะพาไปกลับผมด้วยและดูแลไปตลอดชีวิต"

สิ้นเดือนก.พ.นี้ "ผมจะไม่ใช่ โหน่ง อะเดย์ แล้ว  ไม่มีนามสกุล อะเดย์ เพราะไม่ได้ทำงานที่นี่แล้ว จะเป็น โหน่ง วงศ์ทนง  เหมือนที่เคยเป็นมา ก่อนหน้า 16 ปี แต่ยังเป็นคนที่เชื่อมั่นในอาชีพคนทำสื่อ มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นสื่อมวลชนที่ดี ให้กับคนและสังคมของประเทศนี้ต่อไป"