ถกร่างกม.คุ้มครองสื่อ หวั่นคนใช้เฟซบุ๊กต้องขอใบอนุญาต

ถกร่างกม.คุ้มครองสื่อ หวั่นคนใช้เฟซบุ๊กต้องขอใบอนุญาต

วารสารฯ ธรรมศาตร์ จัดถกร่างกฎหมายคุ้มครองสื่อ วงเสวนาหวั่นกฎหมายผ่าน คนใช้เฟซบุ๊กต้องขอใบอนุญาต บีบข่าวตรวจสอบทุจริตน้อยลง

วานนี้ (18 ก.พ.) คณะวารสารศาสตร์และสื่อมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) ท่าพระจันทร์ มีการจัดโครงการวารสารฯ เสวนาวิชาการ เรื่อง "ร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ : คุ้มครอง หรือคุกคาม เสรีภาพสื่อไทย โดยมีรศ.รุจน์ โกมลบุตร อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์และสื่อมวลชน นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และนายจักร์กฤษ เพิ่มพูน กรรมการจริยะธรรมสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เป็นคณะผู้บรรยาย

นายชวรงค์ กล่าวว่า การกำกับแลสื่อมี 3 ระดับ 1.โดยรัฐ 2.กำกับดูร่วมระหว่างรัฐกับสื่อ ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ไม่ขึ้นกับรัฐบาล 3.การดูแลกันเอง ไม่มีรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยประเทศที่พัฒนาแล้วปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย จะใช้ระบบดูแลกันเองเป็นหลัก โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์เพราะต้องมีการลงทุนเองโดยรัฐไม่เกี่ยวข้อง ซึ่งในประเทศเยอรมันนีมองว่า สื่อที่เป็นสื่อกระจายเสียงซึ่งเป็นสื่อที่ใช้ความถี่ของรัฐ ผู้ที่จะมาประกอบกิจการนี้ต้องมาใช้คลื่นความถี่ของรัฐ เมื่อยอมรับว่า ต้องใช้ทรัพยากรของชาติ ก็จะให้มีหน่วยงานของรัฐมาดูแลด้วย อย่างในประเทศไทย ก็มี กสทช. ก็คอยส่งเสริมให้องค์วิชาชีพดูแลกันเองก่อน ถ้าทำไม่ได้ กสทช. อาจจะเข้ามาแทรกเเซง ส่วนประเทศที่รัฐควบคุมก็มาจากประเทศที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ อาทิ สปป.ลาว บรูไน ก็จะมีการกำกับดูแลโดยรัฐเข้มงวด แต่ระบบดูแลกันเองส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในประเทศฝั่งยุโรป ขณะที่ในประเทศสหรัฐ อเมริกานั้นมีระบบสังคมเข้มแข็ง เหมือนสังคมคอยกำกับดูแลสื่อไปด้วย

“สิ่งที่เรากังวลนั้น เกรงว่า ความหวังดีจะเป็นการประสงค์ร้าย สื่อมีหน้าที่ตรวจสอบ แต่การมีปลัดกระทรวงเป็นภาพลวงตา วันนี้มี 2 มุม 1.การทำหน้าที่ของสื่อถูกตรวจสอบโดยสังคมเยอะกว่าเมื่อก่อน เช่นถ้าผมเขียนชื่อตำแหน่งผิด เขียนชื่อผิดในข่าวออนไลน์ เพียแค่ 5 นาทีผมโดนแค็ปหน้าจอไปตรวจสอบในสังคมออนไลน์แล้ว 2.ปัญหาทุกวันนี้เกิดจากเสรีภาพจากโซเชี่ยลมีเดีย ต้องมีการตรวจสอบอะไรจริงไม่จริง ก็เป็นหน้าที่สื่อมวลชนไปคอยตรวจสอบข่าวเหล่านี้ ซึ่งคนเสพสื่อโซเชี่ยลก็เสพแต่สื่ดราม่า ข่าวคุณภาพไม่มีคนดู เมื่อไม่มีคนดูไม่มีโฆษณา วันนี้จึงลำบากในการทำข่าวสืบสวน ถ้ามีกฎหมายแบบนี้เข้ามา ก็ทำให้มัดมือมัดเท้ามากขึ้น แต่ในวันจันทร์นี้จะมีประชุมว่า มาตรการจากองค์กรสื่อจะเป็นอย่างไรต่อไป เพราะถ้าปล่อยกฎหมายนี้ไปสังคมเสียประโยชน์แน่ๆ ซึ่งที่ผ่านมาไม่ว่ารัฐบาลไหนคุมสื่อเป็นสัญญาณว่า รัฐบาลนั้นใกล้จะไปแล้ว”นายชวรงค์ กล่าว

นายจักร์กฤษ กล่าวว่า สำหรับประเด็นร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพฯนั้น ก่อนที่จะมีรัฐบาลชุดนี้ สังคมไทยแตกแยก มีสื่อออนไลน์ เคเบิ้ลทีวี ใช้วาทะกรรมเกลียดชังถล่มใส่กัน จากนั้นเมื่อมีการยึดอำนาจเขาก็ตั้งสมมุติฐานว่า สื่อเป็นต้นเหตุให้สังคมแตกแยก จึงเป็นที่มาของการปฏิรูปสื่อสารมวลชนอยู่ในการปฏิรูป 11 ด้านขึ้นมา โดยเมื่อสปท.เข้ามาดูแลเรื่องการปฏิรูปสื่อ ก็ไปนำกฎหมายที่ค้างไว้ใน สปช.เข้ามาพิจารณา มีร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพฯ และพรบ.จดแจ้งการพิมพ์ เมื่อมาถึง สปท.ซึ่งตนเข้าไปร่วมพิจารณาในชั้นอนุกรรมาธิการ ด้านสื่อสิ่งพิมพ์ขณะนั้น ก็คิดว่า จะเน้นเรื่องสื่อต้องกำกับกันเอง โดยอยู่ใต้สภาวิชาชีพ แต่เมื่อร่างกฎหมายออกมากลับกลายเป็นการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดให้สภาวิชาชีพให้ใบอนุญาต หรือเพิกถอนใบอนุญาตได้ ซึ่งเป็นมาตรานี้มาตราเดียวทุกอย่างจบเลย ไม่ต้องมีข้ออื่นแล้ว ทำให้ 30 องค์กรสื่อมวลชนได้ออกมาคัดค้าน เพราะขัดหลักกับรัฐธรรมนูญ และขัดกับหลักการพื้นฐานประเทศประชาธิปไตย ทำให้เขาต้องถอยหลัง 2 ก้าวกลับไปทบทวนแก้ไข

นายจักร์กฤษ กล่าวต่อว่า การถอยครั้งนี้ ไม่ได้ถอยแบบยอมแพ้ เพราะมีการดูท่าทีของ 30 องค์กรสื่ออยู่ เพราะเขากำลังคิดหาวิธีเพื่อลดความกดดัน พร้อมประเมินสังคมว่า เห็นด้วยกับการทำงานของสื่อหรือไม่ ซึ่งบางคนบอกว่า ถ้าสื่อจะมีใบอนุญาตก็ดีแล้ว จะมาเรียกร้องทำไม เขาก็ฟังตรงนั้นแล้ว นำมาคิดว่าจะไม่ถอยสุดทาง แต่ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ โดยเฉพาะเขายืนยันในเรื่องตัวแทนรัฐเข้ามาเป็นกรรมการ ทั้งนี้ ถ้าร่างกฎหมายฉบับนี้ออกไป ตนยังเชื่อว่า ไม่สามารถบังคับและปฏิบัติได้ เพราะนิยามความเป็นสื่อมวลชนที่ผู้ร่างได้บอกนั้น ก็รวมไปเฟซบุ๊ก สังคมออนไลน์ ซึ่งกลุ่มนี้ ต้องมีการจดทะเบียนให้หมดใน 1 ปี ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ในแง่การปฏิบัติ และตนมองอนาคตว่า สุดท้ายถ้าร่างกฎหมายฉบับนี้ออกไป พวกเราก็ต้องยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ เพราะร่างกฎหมายไปขัดแย้งรัฐธรรมนูญในมาตรา 34 -35 ส่วนทางปฏิบัติจะให้คนที่มีเฟซบุ๊คมีใบอนุญาตก็ไม่มีทางเป็นไปได้เลย

ด้าน รศ.รุจน์ กล่าวว่า เราปฏิเสธไม่ได้ว่าสื่อมวลชนไปละเมิดแหล่งข่าว ต้องไปแก้จุดนั้น แต่ความจริงแล้วต้องส่งเสริมให้มีการตรวจสอบอำนาจรัฐ ซึ่งทั้ง 2 เรื่องกำลังปนกันอยู่ จึงต้องแยกให้ชัดเจน โดยในมาตรา 41 ในร่างกฎหมายฉบับนี้พบว่ามีปลัดกระทรวง 4 คนอยู่ในคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติทั้งหมด 13 คน โดย 4 ปลัดกระทรวงที่เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ประกอบด้วย 1.ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี 2.ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 3.ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และ4.ปลัดกระทรวงการคลัง ซึ่งเรื่องนี้ ต้องปลอดข้าราชการเพื่อให้มีเสรีภาพได้จริงๆ ซึ่งกรรมการที่เป็นตัวแทนนักการเมืองอันตรายจริงๆ เพราะปลัดกระทรวงถูกแต่งตั้งรัฐมนตรี ก็เป็นการให้นักการเมืองควบคุมสื่อผ่านปลัดกระทรวง จึงสงสัยว่าใบอนุญาตที่จะออกจะต้องออกให้ใครบ้าง ต้องให้คนที่โพสต์เฟซบุ๊ก หรือใครเฟซบุ๊กไลฟ์ต้องขออนุญาตด้วยหรือไม่ เพราะกฎหมายยังเขียนไม่ชัด ในการนิยามคำว่าสื่อมวลชน ไม่นับเรื่องการถอนใบอนุญาตนั้นเป็นเรื่องลำบากใจ เพราะเป็นการหมดอาชีพไปเลย

“ส่วนผลกระทบจากร่างกฎหมายนี้ เชื่อว่า ข่าวจะมีแต่คลิปหมาเเมวในทีวีมากขึ้น ข่าวสืบสวนสอบสวน ข่างตรวจสอบทุจริตจะยิ่งหายไป และลดน้อยจากท้องตลาด เพราะถ้ามีข่าวตรวจสอบ แต่ถ้ามีคนไปร้องเรียน ก็อาจจะถูกถอนใบอนุญาตได้ และถ้ามีทุจริตเกิดขึ้นในประเทศ ก็ทำให้คนลงบนท้องถนนมากขึ้น สุดท้ายก็อยู่ในวงจรเดิม และนำไปสู่การปฏิวัติได้อีก ซึ่งร่างกฎหมายนี้นักการเมืองชอบมากๆ ถ้าทำสำเร็จจะเป็นกฎหมายที่ใส่มือให้รัฐบาลชุดต่อไป” รศ.รุจน์ กล่าว