ทีเส็บตั้งเป้าดึงทุกศูนย์ประชุมไทยรับ ISO

ทีเส็บตั้งเป้าดึงทุกศูนย์ประชุมไทยรับ ISO

ทีเส็บตั้งเป้าโกยศูนย์ประชุมทุกแห่งในไทยเข้ารับมาตรฐาน ISO สร้างความเชื่อมั่นดึงจัดงานระดับนานาชาติ หวังรักษาตำแหน่งโกยมาตรฐานมากที่สุดในโลก

นายนพรัตน์ เมธาวีกุลชัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (ทีเส็บ) กล่าวว่า เตรียมผลักดันให้ศูนย์ประชุมทุกแห่งประเทศไทยได้รับมาตรฐาน ISO (International Standards Organization) เพื่อสร้างความมั่นใจสำหรับธุรกิจการจัดประชุมจากต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีการผลักดันมาตรฐาน ISO รวม 6 ตัว และสถานประกอบการไทยที่ได้รับมาตรฐานมีแล้ว 19 แห่ง และอยู่ระหว่างการเตรียมเพื่อเข้ารับมาตรฐานราว 9 แห่ง รวมเป็น 28 แห่ง ปัจจุบันถือว่าเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีสถานประกอบการได้รับการรับรองมากที่สุดในโลก

การได้รับมาตรฐานดังกล่าวจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นยิ่งขึ้นเมื่อไทยไปเสนอตัวเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมนิทรรศการระดับนานาชาติ พร้อมกันนี้ เตรียมยกระดับมาตรฐาน Thailand MICE Venue Standard (ทีเอ็มวีเอส) ที่ไทยพัฒนาขึ้นมาเอง ให้เป็นต้นแบบของมาตรฐานอาเซียน หรือ ASEAN MICE Venue Standard (เอเอ็มวีเอส) ตามที่ประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนมีมติประกาศรองรับในหลักการให้ไทยเป็นผู้จัดทำมาตรฐาน เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีความคืบหน้าในการดำเนินงานต่อเนื่อง ในวันที่ 15-18 มี.ค.ตัวแทนจาก 10 ประเทศอาเซียน จะเข้าการอบรมเพื่อเป็นผู้ตรวจสอบ (Auditor Training) เพื่อไปตรวจสอบสถานประกอบการในประเทศของตัวเอง และผู้ที่ได้รับมาตรฐานเข้ารับประกาศนียบัตรระหว่างการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน ในต้นปี 2561 ที่ จ.เชียงใหม่เป็นเจ้าภาพ

นางนิชาภา ยศวีร์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์ ทีเส็บ กล่าวว่า การพัฒนามาตรฐานสถานประกอบการดังกล่าวเป็นกลยุทธ์ภายใต้ยุทธ์ 2 เรื่องที่จัดทำขึ้นพัฒนาไมซ์ที่มุ่งทำให้เกิดความครบวงจรทั้งในระดับบุคลากรและสถานประกอบการ โดยทั้งหมดมี 4 กลยุทธ์รองรับ ซึ่งนอกจากการจัดทำมาตรฐานสถานประกอบการแล้ว ยังมีกลยุทธ์  MICE Sustainability มุ่งพัฒนาการอบรมหลักสูตร Sustainable Events Professional Certificate (SEPC) ให้องค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการไมซ์ในการจัดงานโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ เริ่มการจัดอบรมครั้งแรกขึ้นในไทยปี 2561 พร้อมต่อยอดโครงการ Farm to Functions ส่งเสริมผู้ประกอบการไมซ์ในการจัดซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์จากเกษตรกรโดยตรง และการจัดงานแบบไร้คาร์บอน (Carbon Neutral Events) โดยในปีนี้จะมีการจัดงานแบบไร้คาร์บอนจำนวน 5 งาน คาดว่าจะช่วยลดคาร์บอนได้ทั้งสิ้น 100 ตัน

ด้านการพัฒนาบุคลากรมี 2 กลยุทธ์ ได้แก่ การศึกษาไมซ์เพื่อภาคธุรกิจ (Trade Education) มุ่งให้ไทยเป็นเจ้าภาพการจัดอบรมหลักสูตรด้านไมซ์นานาชาติให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการทุกสาขา ประกอบด้วย การประชุม, การจัดแสดงสินค้านานาชาติ หรือ อีเว้นท์ โดยมีหลักสูตรที่ทีเส็บดึงมาจัดในประเทศไทยที่สำคัญหลายสาขา อาทิ Certified in Exhibitions Management (CEM)  ซึ่งเป็นหลักสูตรเกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านงานแสดงสินค้านานาชาติ มีการสร้างบุคลากรได้แล้วกว่า 57 ราย และ Certified Meeting Professional (CMP) ซึ่งเป็นหลักสูตรเกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านการประชุมนานาชาติ มีผู้ที่ผ่านมาตรฐานแล้ว 49 ราย 

นอกจากนั้น ดำเนินงานด้านการศึกษาสำหรับสถาบันการศึกษาและเยาวชน (ไมซ์ อะคาเดมี) พัฒนาหลักสูตรใหม่ภายใต้วิชาการจัดงานอีเว้นท์ หรือ Event 101 เพื่อต่อยอดองค์ความรู้ในวิชาการจัดงานอีเว้นท์โดยเฉพาะ บรรจุไว้ในสถาบันอุดมศึกษากว่า 60 แห่ง และอาชีวศึกษา 47 แห่งทั่วประเทศไทยที่เป็นพันธมิตร ตั้งเป้าสร้างบุคลากรในระดับอุดมศึกษาจำนวน 4,000 คน และในระดับอาชีวศึกษา 1,000 คน

นอกจากนั้น มีแผนการตั้ง “ASEAN MICE Institute” เพื่อเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ กำหนด รับรองมาตรฐานต่างๆ รวมถึงออกแบบหลักสูตรพัฒนาผู้ประกอบการไมซ์ทั้งระดับบุคคล และองค์กรให้มีศักยภาพที่แข่งขันได้ในระดับนานาชาติต่อไป ซึ่งตอบโจทย์กลยุทธ์ของทีเส็บ และสามารถดึงนักเดินทางกลุ่มไมซ์เดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้จำนวน 1.1 ล้านคน สร้างรายได้ 101,000 ล้านบาท