ไทยแอร์เอเชียรั้งแชมป์โกยผู้โดยสารในประเทศ

ไทยแอร์เอเชียรั้งแชมป์โกยผู้โดยสารในประเทศ

ไทยแอร์เอเชียโชว์อัตราบรรทุกผู้โดยสารรั้งแชมป์ปี 59 มั่นใจได้รับใบอนุญาตใหม่เดือน เม.ย.-พ.ค.เปิดทางภาครัฐดึงร่วมพัฒนาสนามบินรกร้างตามภูมิภาค

นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่าได้รับรายงานผลการดำเนินงานของสายการบินในไทยที่ให้บริการเส้นทางในประเทศทั้งหมดในปี 2559 โดยไทยแอร์เอเชียยังครองส่วนแบ่งอันดับ 1 ที่อัตรา 29.5% ปีนี้ตั้งเป้าเพิ่มให้ถึง 30% โดยเชื่อมั่นว่าแนวโน้มของธุรกิจปีนี้จะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ส่วนยอดฟอร์เวิร์ดบุคกิ้งยังทยอยเข้ามาเป็นปกติ ยังไม่ได้รับผลกระทบจากการเพิ่มค่าธรรมสรรพสามิตน้ำมันแต่อย่างใด ซึ่งในสัปดาห์นี้ได้เข้าชี้แจงกับกระทรวงคมนาคมถึงหลักการในการคำนวณต้นทุนแล้ว เป็นที่เข้าใจกันทั้งสองฝ่าย จึงไม่จำเป็นต้องพิจารณาปรับลดลงแต่อย่างใด

ภาษีน้ำมันที่ขึ้นพร้อมกันทุกสายการบิน จึงไม่ทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบในการแข่งขัน ขณะนี้มองไปถึงยอดจองเดือนเม.ย.ช่วงสงกรานต์ ที่น่าจะมีอัตราบรรทุกเฉลี่ยได้สูงกว่า 80% และเชื่อว่าจะไปดีขึ้นมากอีกครั้งในช่วงไตรมาสสุดท้าย เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งคนไทยชะลอการเดินทางลง ซึ่งแม้ว่าคู่แข่งจะเริ่มตีตื้นขึ้นมา แต่เชื่อว่าผลกระทบจะไปตกอยู่กับอันดับ 2-3 ที่กำลังชิงส่วนแบ่งการตลาดกันเองมากกว่า

ทั้งนี้ ส่วนแบ่งการตลาดของสายการบินที่เหลือได้แก่ อันดับ 2 นกแอร์ 20.3% ตามด้วย ไทย ไลอ้อนแอร์ 18.7%, บางกอกแอร์เวยส์ 11%, ไทยสมายล์ 10.5% และการบินไทย 9.1%

อย่างไรก็ตาม เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศ ในการเตรียมโปรโมชั่นเข้าร่วมงานเที่ยวทั่วไทยไปทั่วโลก ซึ่งจัดไปถึงวันที่ 19 ก.พ.นี้ จึงได้เตรียมที่นั่งราคาโปรโมชั่นกว่า 1 หมื่นที่นั่งมาจำหน่ายในราคา 540 บาทสำหรับเส้นทางในประเทศ และ 990 บาทสำหรับเส้นทางต่างประเทศ ซึ่งต่ำกว่าคู่แข่งอาทิ นกแอร์ ตั้งราคาที่ 899 บาท, ไทยสมายล์ 1,050 บาท และบางกอกแอร์เวยส์ 1,090 บาท โดยการเตรียมจำนวนที่นั่งดังกล่าว อยู่ในระดับเพียงพอเนื่องจากประมาณการณ์ยอดขายจากภายในงานแต่ละครั้งจะอยู่ราว 8,000-9,000 ที่นั่ง

นอกจากนั้น ยืนยันว่าขณะนี้ขั้นตอนการตรวจเพื่อขอใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ (Re-Aoc) ยังอยู่ตามขั้นตอนที่เดินมาถึงเฟส 4 จากทั้งหมด 5 เฟสแล้ว และเรียบร้อยจะได้รับใบอนุญาตภายในเดือน เม.ย.-พ.ค.นี้แน่นอน แต่ไทยจะปลดล็อคธงแดงจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอซีเอโอ) ได้ภายในกรอบเวลาใดนั้น ต้องขึ้นอยู่กับการหารือระหว่างสถาบันการบินพลเรือน กับ ไอซีเอโอ เท่านั้น

นายธรรศพลฐ์ กล่าวว่าจากการร่วมทีมกับ นายโทนี เฟอร์นานเดส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มแอร์เอเชีย เข้าพบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงคมนาคม ได้มีการนำเสนอความพร้อมของแอร์เอเชียในการเข้าไปพัฒนาสนามบินในภูมิภาคของไทย เพื่อช่วยให้ยุทธศาสตร์ท่องเที่ยวที่ต้องการกระจายความเจริญไปสู่ท้องถิ่น ประสบความสำเร็จได้มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบัน ไทยมีปัญหาการกระจุกตัวของแหล่งท่องเที่ยวสูง แต่สนามบินในจังหวัดที่มีศักยภาพด้านท่องเที่ยวกลับไม่ได้รับการพัฒนาและใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น พะเยา, แพร่, แม่ฮ่องสอน, ลำปาง, ตาก เป็นต้น บางแห่งมีเที่ยวบินต่อวันน้อยมาก หรือบางแห่งมีรันเวย์ที่สั้นเกินไป ไม่รองรับการจอดของเครื่องบินพาณิชย์ขนาดใหญ่

ดังนั้นจึงได้เปิดกว้างให้ภาครัฐพิจารณาว่า หากมีแผนจะขยายการท่องเที่ยวจึงควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาสนามบินเพื่อเชื่อมเส้นทางเข้าออก อำนวยความสะดวกให้คนเดินทางเข้าถึงง่ายขึ้น หากสนามบินใดต้องลงทุนเพิ่มความยาวรันเวย์หรือสิ่งอำนวยความสะดวก แอร์เอเชียก็สามารถช่วยเหลือได้ทุกรูปแบบตามแต่ที่ภาครัฐจะพิจารณา และหากมีแผนการส่งเสริมท่องเที่ยวชัดเจน ก็พร้อมจะนำเที่ยวบินมาช่วยลงสนับสนุน เมื่อถึงเวลานั้น เชื่อว่าเมื่อมีจำนวนนักท่องเที่ยวจับต้องได้ ธุรกิจอื่นๆ ก็จะตามมา เช่น โรงแรม, ร้านอาหาร ทำให้เกิดการเติบโตของท่องเที่ยวในรูปแบบกระจายตัวสู่ภูมิภาคตรงกับเป้าหมายรัฐบาลได้เร็วขึ้น

"สัดส่วน80% ของผู้โดยสารไทยแอร์เอเชียเป็นนักท่องเที่ยวอยู่แล้ว ดังนั้นเราพร้อมจะช่วยโปรโมต ใส่เที่ยวบินลงไปเพื่อช่วยเพิ่มนักท่องเที่ยว เพราะนักท่องเที่ยวเองก็มีความต้องการที่จะเข้าไปยังแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ เช่นกัน แต่ติดปัญหาเรื่องการเดินทางที่ยังไม่สะดวก จึงเกิดปัญหากระจุกตัวและแออัดในสนามบินหลักไม่กี่แห่ง ทั้งนี้จึงเชื่อว่าการท่องเที่ยวและคมนาคม ต้องมีการวางแผนร่วมกันให้ดี"

ปัจจุบันไทยแอร์เอเชียมีฐานปฏิบัติการภายในประเทศ 6 แห่งคือ กรุงเทพฯ (ดอนเมือง), ภูเก็ต, เชียงใหม่, กระบี่, อู่ตะเภา และหาดใหญ่ โดยมีเส้นทางบินข้ามภูมิภาครวม 11 เส้นทาง จำนวน 16 เที่ยวบินต่อวัน และมีอัตราบรรทุกเฉลี่ย 85% ในปี 2559