วิพากษ์ ‘หุ้นมีเดีย’ สถาบันจู่โจมหนักก่อนข้ามปี

วิพากษ์ ‘หุ้นมีเดีย’ สถาบันจู่โจมหนักก่อนข้ามปี

นักลงทุนมืออาชีพสบโอกาส 'ทีวีดิจิทัลฝุ่นตลบ' ปลายปีก่อน สะสมหุ้นมีเดียเบอร์ใหญ่ ตอกย้ำเรื่องจริงผ่านมุมมอง 'สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์'

ผ่านมาเกือบสองเดือน 'ราคาหุ้นกลุ่มมีเดีย' โดยเฉพาะเบอร์ใหญ่แห่งวงการทีวีดิจิทัลต่างพากันขยับตัวเลยเส้นแดงเข้าสู่โหมดเขียว โดยเฉพาะหุ้น อาร์เอส หรือ RS ,หุ้น เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ หรือ WORK และหุ้น โมโน เทคโนโลยี หรือ MONO หุ้น จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ หรือ GRAMMY และหุ้น บีอีซี เวิลด์ หรือ BEC เป็นต้น

โดยราคาหุ้นปรับตัวขึ้นเฉลี่ย 25.64% 17.61% 27.46% 19.54% และ 10.24%ตามลำดับ ส่งผลให้ 'ตัวเลขมาร์เก็ตแคป' ขยับขึ้นจากช่วงสิ้นปี 2559 ที่อยู่ 7,877 ล้านบาท 18,359 ล้านบาท 9,090 ล้านบาท 7,133 ล้านบาท 33,200 ล้านบาท ตามลำดับ มายืนระดับ 9,897 ล้านบาท 21,655 ล้านบาท 12,105 ล้านบาท 8,527 ล้านบาท และ 36,600 ล้านบาท ตามลำดับ

แต่ก่อนหุ้นเหล่านี้จะออกสตาร์ท หากย้อนกลับไปดูความเคลื่อนไหวปีก่อนหน้าจะพบว่า ราคาหุ้นมีเดียหลายตัว โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ ต่างถูกนักลงทุนลดระดับชั้น สะท้อนผ่านราคาหุ้นที่ปรับตัวลดลงหลายเปอร์เซ็นต์ ทว่านักลงทุนสถาบันบางรายกับอาศัยจังหวะ 'ดัชนีหุ้นกลุ่มมีเดีย' ที่ปรับตัวลดลงเฉลี่ย 7.93% ในช่วงปี 2559 โกยหุ้นมีเดียบางตัวเข้าพอร์ต

หลังมีความเชื่อว่า การลงทุนหุ้นมีเดียในช่วงฝุ่นตลบอาจเป็น 'Good Timing' ในรอบหลายปี แม้ปี 2558 ดัชนีหุ้นกลุ่มมีเดียจะเคยปรับตัวลดลงมากถึง 22.39% ก็ตาม เพราะภายใน 1-2 ปีจากนี้ แวดวงทีวีดิทัลคงถึงคราวสะเด็ดน้ำ ในแง่ของจำนวนผู้เล่นที่จะเหลือเพียง ตัวจริงไม่กี่รายเท่านั้น
สะท้อนผ่านการล้มหายตายจากของผู้ประกอบการบางราย โดยเฉพาะเคสดังต้นปีก่อนอย่างช่องทีวีพูลของเจ๊ติ๋ม เป็นต้น ขณะที่บางเจ้ายกธงขาวยอมแพ้ขายหุ้นทิ้ง หรือปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา เช่น ช่องวัน และช่องอมรินทร์ สวนทางกับช่องใหญ่อย่างอาร์เอส ,เวิร์คพอยท์ และโมโน ที่ออกมาตอกย้ำแผนการณ์แย่งชิงสายตาคนดู

สอดคล้องกับความเห็นของ 'สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ บมจ.อาร์เอส หรือ RS ที่ปิดห้องประชุมให้สัมภาษณ์พิเศษ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ว่า แม้ธุรกิจมีเดียในปีก่อนจะตกอยู่ในสถานการณ์ไม่ปกติ แต่นักลงทุนสถาบันบางแห่งมองเป็น 'โอกาสแห่งการลงทุน' 

หลังราคาหุ้นหลายตัวปรับตัวลดลงจากพื้นฐานค่อนข้างมากในรอบหลายปีที่ผ่านมา ที่สำคัญนักลงทุนบางรายมีความเชื่อว่า อีกไม่นานวงการทีวีดิจิทัลจะเหลือผู้ชนะตัวจริงเพียงไม่กี่ราย สะท้อนผ่านการทยอยขึ้นราคาค่าโฆษณาของผู้เล่นเบอร์ใหญ่

เช่นเดียวกับ หุ้น อาร์เอส ตลอดสองปีที่ผ่านมามีนักลงทุนแวะเวียนเข้ามาขอซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นเดิมไม่ขาดสาย ดีลล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อเดือนต.ค.ที่ผ่านมา หลัง “กลุ่มเชษฐโชติศักดิ์” ขายหุ้นบิ๊กล็อต 49 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 7 บาท คิดเป็น 4.85% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ให้กับธนาคารกรุงเทพ ในฐานะพันธมิตรที่สนับสนุนเรื่องเงินกู้ให้กับบริษัทมายาวนาน 35 ปี

การเข้าลงทุนในครั้งนี้ของแบงก์กรุงเทพ ถือเป็นการอาศัยจังหวะราคาหุ้นตกต่ำตาม สถานการณ์ทีวีดิจัลที่ไม่ได้อยู่ภาวะปกติ ซึ่งการลงทุนรอบนี้คงบอกไม่ได้ว่า แบงก์กรุงเทพจะถือลงทุนนานเท่าไหร่ ตอบได้เพียงว่า ตามสถิติแบงก์กรุงเทพ มักถือหุ้นหนึ่งตัวนานกว่า 10 ปี บางครั้งถือจนลืม เพราะแบงก์กรุงเทพมองการลงทุนในลักษณะระยะยาว (Long Term Investments)

'ไม่ขอออกความเห็นกรณี 'กลุ่มคิงพาวเวอร์' ขายหุ้นบิ๊กล็อต 94 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 9% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด มูลค่า 1 พันล้านบาท หลังเข้าถือลงทุนได้เพียงสองเดือนนับจากเดือนก.ค.2558 เพราะทุกคนย่อมมีเหตุและผลเป็นของตัวเอง' เฮียฮ้อ ปฎิเสธตอบคำถามคาใจนักลงทุน

ปัจจุบัน 'สุรชัย' ถือหุ้นอาร์เอสเฉลี่ย 34% จากเคยถือสูงสุดเฉลี่ย 37-39% วันนี้คงบอกกรอบการครอบครองหุ้นอาร์เอสไม่ได้ เพราะอนาคตไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น แต่หากพันธมิตรที่ต้องการเข้ามาลงทุนในองค์กรแห่งนี้สามารถช่วยเสริมความแข็งแกร่งระยะยาว หรือเข้ามาช่วยสนับสนุนเรื่องการเงินได้ บางครั้งก็จำเป็นต้องเสียสละ ขณะเดียวกันก็ไม่ลืมที่จะเก็บหุ้นเพิ่มเติม เพราะวันนี้ 'เฮียฮ้อ' ไม่ได้เป็นเพียงผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่มุมหนึ่งยังเป็นนักลงทุนด้วย

'ก่อนตัดสินใจขายหุ้นให้ใครต้องคิดเสมอว่า เพื่อนใหม่จะสร้างประโยชน์ต่อบริษัท ราคาหุ้น และฐานะการเงิน ได้หรือไม่'

'ทำงานเชิงรุก' รับเศรษฐกิจฟื้นตัว

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อาร์เอส ตอกย้ำยุทธศาสตร์ปี 2560 ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงในหลากหลายอุตสาหกรรมว่า ในฝั่งของอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล แม้ปีก่อนเม็ดเงินโฆษณาจะหดหายไปเฉลี่ย 7-8% หลังเกิดเหตุการณ์ไม่ปกติ ทำให้ทุกอย่างผิดเพี้ยนไปหมดอาร์เอสเองก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน

แต่มีความเชื่อมั่นว่า สถานการณ์จะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งในปีนี้ สะท้อนผ่านตัวเลขเศรษฐกิจภายในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 6 เดือนหลังของปี 2560 ดังนั้นเม็ดเงินโฆษณาหวนคืนแน่นอน

ฉะนั้นตลอดปี 2560 อาร์เอสจะทำงาน ภายใต้กลยุทธ์ 'เชิงรุก' เพื่อผลักดันผลประกอบการให้กลับมา 'ฟื้นตัวแรง' ในทุกๆ กิจการ แม้จะเดินหน้าเต็มสูบ แต่จะทำงานภายใต้ 'ความรัดกุมรอบคอบ' ตรงข้ามกับเจ้าอื่นที่ยังคงกล้าๆกลัวๆที่จะทำงาน

'สิ่งที่ต้องจับตาดูเหมือนเดิม คือ สุดท้ายใครจะเป็นผู้ชนะในทีวีดิจิทัล แน่นอนว่า คนรอดต้องมีทั้งความเข้าใจ ประสบการณ์ คอนเทนต์ และเงินทุน มีอย่างใดอย่างหนึ่งไม่น่ารอด แต่จะเป็นการเผาเงินทิ้งเล่นๆ 15 ปี บางคนมีครบทุกอย่างก็แพ้ได้'

ผู้ก่อตั้งอาร์เอส ย้ำว่า ปี 2560 จะจัดหมวดธุรกิจออกเป็น 2 กลุ่ม นั่นคือ 1.ธุรกิจที่ต้องโฟกัส และ 2.ธุรกิจที่มองดูห่างๆ เพราะการทำงานเชิงรุกที่มีประสิทธิภาพและมีพลังงานไม่ควรเปิดแนวรบ หรือกระจายกำลัง และทรัพยากรมากเกินไป ซึ่งแนวทางนี้จะทำให้ปีนี้มีรายได้รวมตามเป้าหมาย 3,500 ล้านบาท

สำหรับกิจการที่ต้องโฟกัส นอกจากช่อง 8 ที่มีแผนจะขึ้นค่าโฆษณา 35-40% และตั้งเป้าจะมีจำนวนสายตาผู้ชม (Eye ball) เฉลี่ย 500,000 รายต่อนาที จากปัจจุบันอยู่ที่ 350,000 รายต่อนาทีแล้ว ก็มีงานตัวใหม่ล่าสุด 'ธุรกิจสุขภาพและความงาม'

เป้าหมายสำคัญของกิจการความงาม ปีนี้ตั้งใจกวาดรายได้ 440 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 15% ของรายได้ทั้งหมด เทียบกับ 6 เดือนหลังของปี 2557-2559 ที่มีรายได้ 100 กว่าล้านบาท 280 ล้านบาท และ 240 ล้านบาท ตามลำดับ

'ภายในปี 2562 ธุรกิจความงามต้องมีรายได้ใกล้เคียงกับธุรกิจมีเดียที่ปีนี้จะสร้างรายได้ 2,700 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 75% ของรายได้รวม' เจ้าของอาร์เอส ยืนยันเป้าหมาย

ความน่าสนใจของธุรกิจความงามอยู่ตรงที่มี 'อัตรากำไรสุทธิ' สูงถึง 30-35% แม้จะเป็นกิจการที่มีคู่แข่งมาก แต่สุขภาพและความงามเป็นเทรนด์ของโลก สะท้อนผ่านมูลค่าที่มหาศาลและมีแนวโน้มเติบโตเรื่อยๆ หลังคนเริ่มใส่ใจตัวเองมากขึ้น

ส่วนตัวมองว่า ภายใน 3 ปีข้างหน้าจะคว้าตัวเลขนี้มาครอบครอง หลังตลอดปีนี้คงทำอัตรากำไรสุทธิได้ในระดับ 15% เมื่อถึงวันนั้นอาจมีร้านค้าเป็นของตัวเอง แต่ตอนนี้เน้นขายผ่านร้านความงาม ร้านไฮเปอร์มาร์ทขนาดใหญ่ และทางโทรศัพท์ไปก่อน

'กิจการที่ดูอยู่ห่างๆอย่างธุรกิจเพลงคงจะทำงานภายใต้กลยุทธ์ 'มิวสิค มาร์เก็ตติ้ง' ซึ่งเป็นโมเดลแรกในโลก ส่วนธุรกิจวิทยุ แม้ที่ผ่านมาจะเป็นคลื่นเพลงอันดับ 1 มา 13 ปีเต็ม แต่ไม่เคยประมาท ฉะนั้นปีนี้จะทำงานเชิงรุกในแง่ของการขายมากขึ้น' 

'เฮียฮ้อ' ทิ้งท้ายบทสนทนาว่า มีความเชื่อเรื่องหนึ่ง 'ทฤษฎีบลูโอเชี่ยนไม่มีจริง' บนโลกนี้ไม่มีทะเลสีครามให้ทำธุรกิจ ต่อให้มีเมื่อมีคนไปเจอ ก็จะกลายเป็นเรดโอเชี่ยนทันที เช่นเดียวกับชีวิตมนุษย์ที่วันนี้ไม่มี comfort zone ฉะนั้นใครคิดจะใช้ชีวิตสบายๆชิลๆคงไม่ได้แล้ว แต่ถ้าสามารถยืนอยู่ในจุดที่อยู่ยากได้ก็จะสบาย เพราะภูมิต้านทานจะเริ่มสูงขึ้น

ยกตัวอย่างให้พอเห็นภาพ เฮียเป็นคนไม่ดื่มเหล้า ไม่ทานอาหารฝรั่ง ที่สำคัญไม่เที่ยวกลางคืน คนใกล้ตัวรู้ดี แต่ทำไมตัดสินใจลงทุนเปิดร้านอาหาร ภายใต้ชื่อ 72 คอร์ทยาร์ด ซอยสุขุมวิท 55 ทั้งที่รู้ว่า ย่านนั้นเป็นแหล่งปราบเซียน เพราะการแข่งขันสูง ใครเปิดไม่เกิน 3 เดือนก็ต้องปิด โอกาสแพ้สูงมาก นั่นเป็นเพราะเฮียมีความกล้าที่จะต่าง แต่ต้องอยู่บนความรอบคอบ

จากนี้อาร์เอสจะเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจบนโอกาส หลายสิบปีที่ดำเนินธุรกิจไม่เคยหยุดคิดเรื่องใหม่ๆ หากค้นลิ้นชักส่วนตัวจะเห็นว่า มีเรื่องราวมากมายที่คิดแล้วยังไม่ได้ลงมือทำอย่างธุรกิจความงาม คิดมาแล้วหลายปี เหตุที่นำออกมาทำในตอนนี้ เพราะเวลานี้เหมาะสมที่สุด

'บางเรื่องต้องรอจังหวะ เข้าเร็วได้เปรียบก็จริง แต่ไม่ใช่ทุกครั้ง ฉะนั้นต้องรู้จักรอ' ผู้ก่อตั้งอาร์เอส ยืนยันอย่างนั้น