ไอเดียหางาน หาคน บนโซเชี่ยล ‘แคเรีย โบลท์’

ไอเดียหางาน หาคน บนโซเชี่ยล ‘แคเรีย โบลท์’

อยู่ในแวดวงธุรกิจจัดหางาน และเป็นแคเรียโค้ช ให้คำปรึกษาเหล่ามนุษย์เงินเดือนมายาวนาน ที่สุดทดลองมาเป็นสตาร์ทอัพ

เหตุผลเพราะต้องการเติบโตแบบก้าวกระโดด และมองไกลไปถึงตลาดระดับโกลบอล


นี่คือ ความคิดของ “มาร์ค เหล่าถาวรวงศ์” ฟาวเดอร์&ซีอีโอ กับ “ชุติพงศ์ เบญจสัตย์กุล” โคฟาวเดอร์&ซีโอโอ ของ “Career Bolt” (แคเรีย โบลท์)


แต่แม้จะมีประสบการณ์มีความเชี่ยวชาญ ก็ไม่ใช่พอคิดแล้วทำได้เลย และต้องมีการ pivot เพื่อให้มีความเป็นไปได้ทางธุรกิจ


มาร์ค เรียนจบมหิดล อินเตอร์ ด้านการท่องเที่ยว จากนั้นก็บินไปอเมริกาทำหลากหลายธุรกิจรวมถึงสตาร์ทอัพ และได้ลงเรียนคอร์ส “แคเรียโค้ช” ที่นั่น จากนั้นก็กลับมาเมืองไทยและทำงานเป็นเฮดฮันเตอร์ของบริษัทจัดหางานระดับเวิล์ดคลาส ในเวลาเดียวกันเขาก็เปิดบริษัททำธุรกิจที่ปรึกษาคนทำงานไปด้วย


ส่วน ชุติพงศ์ จบจากเอแบค ด้านบริหารธุรกิจ และมีประสบการณ์ทำงานอยู่กับบริษัทที่เป็นคอนซูมเมอร์โปรดักส์มาโดยตลอด ที่สุดก็ตัดสินใจออกมาเปิดธุรกิจเป็นของตัวเองด้านจัดหางาน


"ผมรู้จักกับชุติพงศ์มาสองสามปีแล้ว เพราะเราอยู่ในแวดวงเดียวกัน เขาเป็นแคเรียโค้ชเหมือนผม ซึ่งอาชีพนี้ไม่ค่อยมีในเมืองไทย เราต่างก็ทำสัมมนา ทำเวิร์คชอบ เนื้อของงานที่เราทำคล้ายๆกัน ผมเลยเอาโปรเจ็คแคเรีย โบลท์มาคุยกับเขาเมื่อปีที่แล้ว พอได้นั่งคุยกันจริงๆ เลยรู้ว่าพวกเรามีแพชชั่นที่คล้ายๆ กัน"


ภาพของแคเรีย โบลท์ในตอนแรก จะเป็นเว็บไซต์หางานสำหรับเจ้าหน้าที่ระดับกลางไปจนถึงหัวหน้างาน แต่ทำไปสักพักหนึ่งก็ต้องปรับเปลี่ยนใหม่ เนื่องจากเห็นว่าจำนวนพนักงานกลุ่มนี้ไม่ใหญ่ รวมถึงเมื่อได้ไปเปิดบูธตามงานต่างๆ กลับมีคนมาไถ่ถามถึงตำแหน่งงานเล็กๆกันค่อนข้างมาก


"พวกเราเลยไม่คิดจำกัดตัวเอง จึงเปลี่ยนแผนปรับเว็บเป็นแคเรียคิวแอนด์เอ เปิดพื้นที่ให้คนมาถามตอบทุก ๆปัญหาเรื่องงาน ถามอะไรก็ได้ และพวกเราทีเป็นแคเรียโค้ชตัวจริงทั้งคู่ ก็เป็นคนตอบ ให้ความรู้คนไปฟรีๆ ซึ่งฝั่งคิวแอนด์เอ จะเป็นการสร้างทราฟฟิกเรียกคนเข้ามา ส่วนอีกฝั่งจะเป็นจ็อบบอร์ดให้ใครก็ได้มาโพสต์หางาน เราเพิ่งเปิดตัวแพลตฟอร์มนี้ไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา และมีคนเข้าเว็บราว 3 พันคนต่อเดือน"


มาร์ค เล่าต่อว่า แต่เมื่อได้ไปคุยกับนักลงทุน ปรากฏว่านักลงทุนกลับมองก็ไม่เห็นภาพที่พวกเขาต้องการจะทำ ปัญหาหลักๆ ก็คือ แคเรียโค้ชชิ่งยังไม่เป็นที่รู้จักในเมืองไทย คนไม่รู้ว่าอะไรคือคุณค่าในเรื่องนี้ สรุปก็คือ เมื่อโปรดักส์กับมาร์เก็ตไม่ฟิตกัน สุดท้ายธุรกิจก็จะสเกลได้ยาก


เมื่อต้นปี พวกเขาเลยคิดปรับบิสิเนสโมเดลอีกครั้ง โดยเปลี่ยนจาก “เว็บไซต์” มาเป็น “แอพ”


"แอพเราจะเป็นหมือนอินสตาแกรมที่คนใช้แชร์ภาพกับเพื่อนๆ แต่ของเราจะเป็นการแชร์คอนเทนท์ทั้งรูปภาพ วิดีโอ ในเรื่องของงาน เกี่ยวกับผลงานความสำเร็จที่แต่ละคนสร้างขึ้นมา เป็นรูปที่แต่ละคนไปเข้าร่วมอบรมสัมมนาพัฒนาศักยภาพ ตอนขึ้นรับรางวัลในฐานะพนักงานดีเด่นของบริษัท หรือเป็นรูปที่ขึ้นพูดเป็นวิทยากรในงานสัมมนาต่างๆ เป็นต้น เราดีไซน์แอพนี้ขึ้นมา เพื่อให้เป็นพื้นที่ให้ทุกคนได้โชว์ของ โชว์ผลงาน ซึ่งคนที่เข้ามาดูไม่ได้มีแค่เพื่อนๆ แต่พวกรีครูทเตอร์ก็เข้ามาดูได้ พอเขาเห็นว่าคนไหนมีทักษะหรือผลงานที่โดดเด่นก็อาจสนใจ"


ทำไมเป็นแอพ? มาร์คมองว่า เนื่องจากอยู่ในวงการจัดหางาน และได้ศึกษาแนวโน้มของธุรกิจมาโดยตลอด ก็ได้พบว่า คนหางานผ่านทางมือถือมากขึ้น รวมถึงใช้โซเชี่ยลมีเดียหางานเยอะขึ้น


" เราต้องการสร้างแอพตัวนี้ให้เป็น โปรเฟสชั่นนอล โซเชียล เน็ทเวอร์ค เป็นเหมือนลิงค์อินในเวอร์ชั่นของแอพ แต่ใช้งานได้ง่าย เราทำให้มันสนุก เป็นแอพให้คนได้มาแชร์ภาพ ได้แชร์ผลงาน และยังให้สามารถค้นย้อนกลับไปได้ด้วยว่า ผลงานที่ผ่านมามีอะไรบ้าง ทั้งมันก็เป็นข้อพิสูจน์ให้กับทางรีครูทเตอร์ได้เห็นว่า นี่คือผลงานที่เราทำมาจริงๆ "


ด้าน ชุติพงศ์ มองว่า ประเด็นเรื่องของการจัดหารงานในอนาคตจะต้องมาอยู่บนมือถืออย่างแน่นอน ซึ่ง “โซเชี่ยลรีครูทติ้ง” หรือการหาคนหางานบนโซเชี่ยล เป็นอะไรที่บริษัทจัดหางานคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เพราะเวลาได้รายชื่อของผู้สมัครงานมาหนึ่งชื่อ ก็ต้องเข้าไปค้นหาตรวจสอบประวัติกันในกูเกิลบ้าง ในลิงค์อินบ้าง ขณะที่เฟสบุ๊คนั้นคนส่วนใหญ่จะใช้โพสต์เกี่ยวกับเที่ยว ชิม ดื่มและครอบครัวเป็นหลัก


"เวลาลูกค้าให้หาคนตำแหน่งสูงๆ เฮดฮันเตอร์ก็เข้าไปหาในลิงค์อิน ซึ่งจะไม่มีคนระดับล่างๆอยู่ในลิสต์ แต่ในวันนี้เราเริ่มเห็นคนหางานกันทางเฟสบุ๊คด้วย โปรดักส์ใหม่ของเราจึงจะเป็นพื้นที่ให้คนได้มาโพสต์ และได้บันทึกข้อมูลเรื่องผลงานต่างๆ ส่วนฝั่งหาคนก็มาดูได้ว่าคน ๆนี้เคยทำอะไรมาแล้วบ้าง เราจึงเป็นเหมือนลูกผสมระหว่างเฟสบุ๊ค อินสตาแกรม และลิงค์อิน"


ซึ่งแอพดังกล่าว จะมีชื่อเรียกว่า “BoltSphere”


"มันถือเป็นพื้นที่ในการบิวด์โปรเฟสชั่นนอล แบรนด์ดิ้ง ได้สร้างแบรนด์ตัวของคนแต่ละคน ซึ่งทั่วไปองค์กรต่างๆเขาก็มีการสร้างแบรนด์องค์กร เมื่อโลกเป็นยุคโซเชี่ยล คนก็สามารถสร้างโปรเฟสชั่นนอล แบรนด์ดิ้งของตัวเองได้ มันหมายถึง ชื่อเสียง สิ่งที่อยากให้คนอื่นคิดถึงเราในเรื่องงาน ซึ่งปัญหาที่ผ่านมาก็คือ ไม่มีพื้นที่ให้คนทั่วๆไปได้บิวด์มัน้ได้โดยง่าย"


มาร์คอธิบายต่อว่า แอพของเขาจะสามารถแก้ปัญหาดังกล่าว ทั้งยังมีจุดเด่นตรงที่ในการโพสต์แต่ละครั้งจะเปิดโอกาสให้เพื่อนๆ หรือคนที่รู้จักมา endorse หรือชื่นชมในลักษณะเป็นลูกแก้วให้คนโพสต์ได้สะสม


"การ endorse มันมีความสำคัญอย่างไร คือนอกจากมันทำให้สนุก เพราะเวลามีคนมาชื่นชมมันจะปรากฏเป็นลูกแก้วไปโผล่ที่หน้าโปรไฟล์ที่โพสต์ ถ้าเราได้ลูกแก้วเยอะๆ มันก็เหมือนเป็นการยอมรับถึงความสามารถ แต่การที่จะมีคนมายอมรับ คนโพสต์ต้องมีแชร์และเชื้อเชิญเพื่อนๆ ให้เข้ามาดู ซึ่งแนวคิดแรกๆของเรามีการแชร์น้อย แต่โมเดลนี้การแชร์จะเกิดขึ้นมากเพราะทุกคนต่างก็อยากทำเพื่อตัวเอง"

ทางเลือกใหม่


จะทับซ้อนกับธุรกิจจัดหางานอื่นๆ หรือไม่ ชุติพงศ์ บอกว่าย่อมมีทั้งทับซ้อน แต่แอพของเขาถือเป็นทางเลือกใหม่


" คนหางานจะมีอยู่สองกลุ่ม หนึ่ง แอคทีฟ แคนดิเดท สอง แพซซีพ แคนดิเดท กลุ่มแรกเป็นกลุ่มคนที่ตั้งใจหางานมาก เข้าเว็บหางานตลอดเวลา ส่วนกลุ่มที่สองเขาไม่ต้องการหางาน ในวงการเฮดฮันเตอร์ชอบกลุ่มแพซซีพมากกว่า เพราะกลุ่มแอคทีฟมักจะมีปัญหา ทำงานไม่เก่ง หางานไปเรื่อยๆ ส่วนแพซซีพเป็นคนเก่ง แฮบปี้กับงานที่ทำ การที่เราทำโมเดลเป็นโซเชี่ยลจะสามารถดึงคนทั้งสองกลุ่ม รีครูทเตอร์เองก็จะได้เจอคนทั้งสองกลุ่มด้วย"


ส่วนในการสเกลธุรกิจ มาร์คบอกว่า เวลานี้อยู่ในขั้นตอนการสร้างเอ็มวีพี และจะใช้เวลาเทสต์ราวสองเดือน โดยจะโฟกัสกลุ่มลูกค้าที่เป็นนักศึกษา และจะวัดผลสองอย่าง คือ จำนวนยูสเซอร์ที่ดาวน์โหลดแอพ กับคนที่โหลดเป็นคนหางานกลุ่มแอคทีฟหรือไม่


อย่างไรก็ดี เมื่อเร็ว ๆนี้ “เจสัน โฮ” ผู้ก่อตั้งและประธานบริษัท D8ii จำกัด หรือ D8 บริษัทที่ปรึกษาทางด้านดิจิทัล, เทคโนโลยี, และนวัตกรรมต่างๆ จากซิลิคอนวัลเล่ย์ประกาศจะขยายธุรกิจมายังที่ประเทศไทย โดยมีชื่อของ แคเรีย โบลท์ ปรากฏอยู่ในแผนงานมีภารกิจรีครูทคนมาช่วยขับเคลื่อนเป้าหมายดังกล่าว ซึ่งก็อาจเป็นทางเลือกใหม่ของแคเรีย โบลท์เช่นกัน