บลจ.ไทยพาณิชย์ เปิดกลยุทธ์ปี 60 ตั้งเป้าบลจ.อันดับหนึ่ง

บลจ.ไทยพาณิชย์ เปิดกลยุทธ์ปี 60 ตั้งเป้าบลจ.อันดับหนึ่ง

บลจ.ไทยพาณิชย์ เปิดกลยุทธ์ปี 60 ตั้งเป้าบลจ.อันดับ 1 ในใจลูกค้าเฟ้นกองทุนตอบโจทย์ บริหารเพื่อความเป็นเลิศ เอาชนะการลงทุนผันผวน

นายสมิทธ์ พนมยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ไทยพาณิชย์ เปิดเผยถึงแผนงานปี 2560 ว่า บริษัทตั้งเป้าการเป็นบลจ.อันดับ 1 ในใจลูกค้า หรือ The Most Admired Asset Management ซึ่งสอดคล้องและเป็นทิศทางเดียวกันกับธนาคารไทยพาณิชย์ที่วางเป้าหมายในการเป็นธนาคารแห่งอนาคตที่ลูกค้าชื่นชมและยอมรับ รวมทั้งนำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนที่หลากหลายพร้อมการบริการที่เหมาะสมกับลูกค้า

ปีที่ผ่านมาบลจ.ไทยพาณิชย์ ได้ตั้งเป้าผลักดันผลการดำเนินงานกองทุนให้ดีขึ้นต่อเนื่องซึ่งถือว่าประสบผลสำเร็จ มีกองทุนที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีในหลายสินทรัพย์ โดยข้อมูล ณ เดือนธ.ค.2559 อาทิ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นทุน Mid/Small Cap หรือ SCBMSE ที่ลงทุนในหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีผลตอบแทนในปี 2559 อยู่ที่ 33.74% เป็นอันดับ 1 ในกลุ่มอุตสาหกรรมกองทุนประเภท Equity Small-Mid Cap ของสมาคมบริษัทจัดการลงทุน และกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ซีเล็คท์ อิควิตี้ ฟันด์ หรือ SCBSE ที่เน้นการคัดเลือกหุ้นรายตัวที่มีความสามารถที่จะเติบโตได้ดีกว่าตลาด และมีผลการดำเนินงานในปี 2559 อยู่ที่ 23.88%

ขณะที่เกณฑ์มาตรฐานอยู่ที่ 19.79% รวมทั้งยังได้นำเสนอกองทุนกลุ่ม Income ที่เหมาะสมกับสภาวะตลาด คือกองทุน SCBPLUS และกองทุน SCBGPLUS ที่เน้นผสมสินทรัพย์ที่หลากหลายทั่วโลก สามารถสร้างรายได้ระหว่างทางซึ่งพิสูจน์แล้วว่าเป็นที่ต้องการของนักลงทุน โดยสิ้นปี 2559 มีเงินไหลเข้ากองทุนประเภทนี้กว่า 46,800 ล้านบาท

สำหรับแผนงานปีนี้ นอกจากจะมุ่งขยายฐานไปสู่กลุ่มลูกค้าใหม่ๆ โดยเฉพาะกลุ่ม Digital Age ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่แล้ว ยังต้องการเพิ่มจำนวนลูกค้าที่ Active มากขึ้นด้วยเพราะพอร์ตการลงทุนที่ไม่เคลื่อนไหวอาจได้รับผลกระทบจากความผันผวนของตลาด รวมทั้งยังพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาได้ออกกองทุนกลุ่ม Income ไปแล้วคือ กองทุน SCBGIN และ กองทุน SCBMPLUS

นอกจากนี้ในส่วนของการพัฒนาบุคลากร ทั้งความชำนาญของผู้จัดการกองทุนที่ต้องมีการจัดการลงทุนอย่างรอบคอบ รวมทั้งคุณภาพพนักงานขาย โดยเน้นการสร้างความรู้ให้กับทีมขายของธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งบลจ.ไทยพาณิชย์ได้พัฒนาศักยภาพของทีมขายด้วยการเดินสายให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ วิธีการเสนอขายอย่างถูกต้อง รวมทั้งเทคนิคการปรับพอร์ต ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ทีมขายมีความรู้ความเชี่ยวชาญในการดูแลพอร์ตของลูกค้า และสามารถให้คำแนะนำในการกระจาย

การลงทุนในลักษณะ Asset Allocation ให้ลูกค้าได้อย่างผู้แนะนำการลงทุนมืออาชีพ ขณะเดียวกันบลจ.ไทยพาณิชย์ ก็ได้นำระบบ Call-back verification มาใช้ควบคุมกระบวนการการเสนอขายให้เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละรายและป้องกันการเกิด mis-selling

“การฝึกอบรมพนักงานมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มศักยภาพให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกันบลจ.ไทยพาณิชย์ ก็ปรับผลิตภัณฑ์ให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าในแต่ละกลุ่ม และภาวะตลาดการเงินปีนี้ด้วย เพราะขณะนี้ผลตอบแทนดอกเบี้ยเงินฝากไม่เพียงพอ ทำให้ลูกค้าต้องการทางเลือกอื่นๆเพิ่มขึ้น การให้ข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนโดยบุคลากรที่มีใบอนุญาตและความรู้ความเชี่ยวชาญ จะก่อให้เกิดประโยชน์และเป็นผลดีกับลูกค้าในที่สุด” นายสมิทธ์กล่าวย้ำ

สำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีในการให้บริการให้ลูกค้าได้รับความสะดวกรวดเร็ว ทั้งการซื้อ ขาย สับเปลี่ยนหน่วยลงทุน อาทิ Mobile Banking ผ่าน SCB Easy ซึ่งธนาคารไทยพาณิชย์ได้วางรากฐานการพัฒนาระบบต่างๆ เพื่อสนับสนุนลูกค้าด้านการลงทุนเป็นอย่างดี นอกจากนี้ บลจ.ไทยพาณิชย์ยังคงเน้นการให้ความรู้ลูกค้าทุกกลุ่มอย่างสม่ำเสมอโดยการจัดสัมมนา เพื่อให้ข้อมูลที่ทันกับสถานการณ์การลงทุนที่ผันผวนรวมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับกองทุนที่มีนโยบายซับซ้อนเพื่อช่วยลูกค้าในการตัดสินใจและสามารถนำข้อมูลที่ได้รับไปต่อยอดการลงทุนของตนเองได้ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ ในปี 2559 บลจ.ไทยพาณิชย์ มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การจัดการ (AUM) รวม 1,307,408 ล้านบาท ยังคงเป็นอันดับ 1 ในอุตสาหกรรม ด้วยส่วนแบ่งตลาดสูงสุดที่ 20.52% เติบโตจากปี 2558 คิดเป็นอัตรา 12% ที่มี AUM รวม 1,163,079 ล้านบาท กองทุนของบลจ.ไทยพาณิชย์ มีการเติบโตมากที่สุดในกลุ่มธุรกิจกองทุนส่วนบุคคล (Private Fund) โดยมี AUM ณ สิ้นปี 2559 สูงถึง 325,122 ล้านบาท เติบโต 33% จากสิ้นปี 2558 ทำให้บริษัทมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 43.60% และยังครองอันดับ 1 อย่างต่อเนื่องจากปี 2557

ธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) มี AUM ณ สิ้นปี 2559 อยู่ที่ 120,111 ล้านบาท เติบโต 2% จากปี 2558 และธุรกิจกองทุนรวม (Mutual Fund) มี AUM ณ สิ้นปี 2559 อยู่ที่ 862,174 ล้านบาท ซึ่งรวมกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน Infrastructure Fund มูลค่ารวม 84,325 ล้านบาท และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ 56,407 ล้านบาท (ข้อมูลจากสมาคมบริษัทจัดการลงทุน)