‘ธันยวัฒน์ จิตติพลังศรี’ผู้นำ IoT เปลี่ยนโลก

‘ธันยวัฒน์ จิตติพลังศรี’ผู้นำ IoT เปลี่ยนโลก

‘ซัยโจ เด็นกิ’แอร์อัจฉริยะยุคInternet of Things ผลงานเปลี่ยนโลกผู้นำรุ่นใหม่'ธันยวัฒน์ จิตติพลังศรี'จากความเชื่อไม่มีใครเป็นพระเจ้า

“3-4 ปีก่อน ถ้าเราทำแค่ Smart แปลว่า ตกยุค ตอนนี้ถ้าเริ่มทำแค่ IoT ก็ตกยุคเช่นกันในมุมมองของผม เพราะคนอื่นเขาทำมานานแล้ว”

คำท้าทายโลก Internet of Things (IoT) จาก “ธันยวัฒน์ จิตติพลังศรี” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ วัย 31 ปี บริษัท ซัยโจ เด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ทายาทคนกลางของ “สมศักดิ์ จิตติพลังศรี” ผู้ก่อตั้งเครื่องปรับอากาศ(แอร์)สัญชาติไทย “ซัยโจ เด็นกิ” ขึ้นเมื่อ 30 ปีก่อน สะท้อนความสำคัญของการคิดให้เท่าทันโลกเทคโนโลยีและนวัตกรรม

เช่นเดียวกับการปรับตัวครั้งสำคัญของซัยโจ เด็นกิ เมื่อประมาณ 3 ปีก่อน ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง กับจำนวนผู้เล่นที่เท่าทวีขึ้น และส่วนใหญ่ก็เป็นแบรนด์ระดับโลกทั้งสิ้น แม้แต่แอร์จีนแสนถูกก็เข้ามาป่วนตลาด ทางออกเดียวที่แอร์ไทยอย่างพวกเขาจะทำได้ ไม่ใช่สู้ด้วยราคา

ทว่าต้องทำให้แบรนด์ “ซัยโจ เด็นกิ” ติดตลาด ด้วยการพัฒนาคุณภาพ ทำสิ่งที่แตกต่างและดีกว่า ที่มาของการมุ่งมั่นพัฒนา “นวัตกรรม” โดยการคิดให้ล้ำและนำคนอื่นไปเรื่อยๆ

“ตัวเราเล็กกว่า ก็ต้องวิ่งให้เร็วกว่าเขา เราจึงจะชนะ” เขาบอกวิถีคนตัวเล็กต่อกรกับยักษ์ใหญ่

ในวันที่ทุกคนคิดถึงคำว่า “Smart” เขากลับเห็นสัญญาณของ “IoT” เลยมามุ่งพัฒนาเรื่องนี้อย่างเต็มที่ โดยใช้แต้มต่อขององค์กรไซส์เล็ก ที่รวดเร็วและคล่องตัว รีบพัฒนานวัตกรรม แล้วจดสิทธิบัตรไว้ อาศัยความเร็วเข้าสู่ตลาดให้ได้ก่อนใครเขา

นั่นคือที่มาของแบรนด์ไทย “ซัยโจ เด็นกิ” ที่สามารถพัฒนาสิ่งประดิษฐ์แรกให้กับโลก เป็นเจ้าของสิทธิบัตรกว่า 30 รายการ ตลอด 3 ปี ที่ผ่านมา โดยปีที่แล้วเพียงปีเดียวก็จดสิทธิบัตรไปกว่า 20 รายการ เป็นเจ้าของแอร์ประหยัดไฟที่สุดในไทยและสิงคโปร์ เจ้าของนวัตกรรมแอร์ที่สามารถเชื่อมต่อกับแอพพลิเคชั่นบนมือถือ ควบคุมแอร์ได้ไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของโลก สามารถแจ้งเตือนก่อนถึงบ้าน เพื่อเปิดแอร์รอรับ และแม้ไม่ใช่ช่างมืออาชีพ แต่ก็สามารถเอ็กซเรย์อาการแอร์ได้ถึง 30 อาการ เรียกว่า จะมอเตอร์เสีย วงจรพัง น้ำยาขาด ก็ไล่เช็คดูได้เองผ่านมือถือ ไม่ต้องกลัวจะถูกหลอกจากช่างมั่ว

“ถ้าแค่ทำแอร์ที่เชื่อมต่อกับแอพในมือถือเพื่อ เปิด ปิด ปรับอุณหภูมิ แบบนี้ใครๆ ก็ทำได้ แต่จะทำอย่างไรถึงจะดีกว่านั้น เราเลยเอา IoT มาบวกกับวิศวกรรม (Engineer) โดยมองว่าอะไรคือสิ่งที่ลูกค้าเจ็บปวด (Customer pain point) กลัวช่างคิดราคาเว่อร์ๆ ซ่อมไม่จบ ใช่ไหม อย่างนั้นเราจะทำให้แอร์สามารถเอ็กซเรย์ตัวเองได้ และบอกได้ถึง 30 อาการ”

นั่นคือตัวอย่างของการคิดนวัตกรรมที่ไม่สิ้นสุดแค่คำว่า IoT เขาย้ำว่า IoT คือ “พื้นฐานที่ต้องมี” แต่ต้องคิดให้ต่อยอด คิดให้ยาก และเกิดประโยชน์มากขึ้นเรื่อยๆ โดยต้องคิดให้ล้ำกว่าสิ่งที่คนอื่นทำ 2-3 ก้าว

“วิธีการคือ ดูเลยว่าเบอร์หนึ่งในตลาดกำลังทำอะไรอยู่ แล้วพยายามคิดให้ดีกว่านั้น แต่แค่ 1 ก้าว ไม่พอ ต้องคิดก้าวที่ 2 ที่ 3 ต่อ เพราะถ้าคิดว่าดีกว่าเขาแค่ก้าวเดียว บอกได้เลยเขากำลังทำอยู่แน่ๆ ฉะนั้นอะไรที่ดีที่สุดในตลาด เราคิดต่อไปอีก 2-3 ทอด แล้วไปจดสิทธิบัตรไว้”

หัวใจของการเกิดนวัตกรรม ไม่ได้มาจากผู้นำอย่างเขา ทว่า เป็นพลังของคนในองค์กร โดยเฉพาะฝ่ายวิจัยและพัฒนาที่มีอยู่ประมาณ 40-50 ชีวิต ที่น่าภูมิใจคือเป็นคนไทยล้วนๆ แถมส่วนใหญ่ยังจบในไทยเสียด้วย

“สิ่งที่ทำให้เกิดนวัตกรรมคือความสามารถของคนในองค์กร และ ‘วัฒนธรรมองค์กร’ เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรม” เขาย้ำ

แล้ววัฒนธรรมแบบไหนกัน ที่ช่วยก่อเกิดนวัตกรรม ผู้บริหารหนุ่มไล่เรียงให้ฟังว่า ต้องมีวัฒนธรรมที่สร้างแรงบันดาลใจ ให้พนักงานอยากทำของที่ดีที่สุด และเป็นที่หนึ่งให้ได้ ต้องทบทวนตัวเอง ไม่ฝันฟุ้งไปเรื่อยๆ เพื่อทำให้นวัตกรรมใช้ได้จริง ไม่ “เพ้อเจ้อ” ต้องมีวัฒนธรรมที่ไม่ต่อว่ากัน คนนั้นห่วย คนนี้โง่ แต่ให้ดูกันที่เนื้องาน และต้องมองว่า ไม่มีใครเป็นพระเจ้า

“ผมมองว่า นักพัฒนาส่วนใหญ่มาจากนรก ไม่ใช่ลอยมาจากสวรรค์ บางทีเราคิดว่าคนคิดนวัตกรรม เป็นเทพเจ้า ต้องเกิดมาสมองไบรท์ ไอคิวสูง แล้วประทานสิ่งอะไรออกมาเป็นนวัตกรรมอย่างที่เราเห็น แต่จริงๆ แล้ว ไม่จำเป็นเลย นวัตกรรมเกิดจากคนธรรมดานี่แหล่ะ แล้วพัฒนาตัวเองขึ้นมา ไม่ใช่พระเจ้า” เขาย้ำ

ต่อมา คนทำนวัตกรรมต้องขยัน ทำงานหนัก และมีวินัย ไม่มีสิทธิพิเศษกว่าใครเพราะทุกคนล้วนเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร ฉะนั้นต้องปฏิบัติอยู่ใต้กฎเดียวกัน คนทำนวัตกรรมต้องติดดิน อยู่กับความเป็นจริง และประหยัด ไม่ใช่ทุ่มใช้เงินไปอย่างฟุ้งเฟ้อ เพราะต่อให้ได้ของใหม่ที่เจ๋งแค่ไหน แต่เขาว่า ถ้าต้นทุนแพงลิบลิ่ว ก็ขายไม่ได้

จะทำนวัตกรรมได้ต้องรู้กระบวนการทำงานในองค์กร ไม่ลัดขั้นตอน เพราะสุดท้ายจะเกิดปัญหา ที่สำคัญต้องมีทัศนคติว่า ไม่มีคำว่าล้มเหลว แค่ได้เรียนรู้วิธีที่ผิดพลาดเท่านั้น

“ความล้มเหลวคือการได้เรียนรู้ นั่นคือเราประสบความสำเร็จในการเรียนรู้แล้วว่า วิธีนี้มันผิด วิธีนี้ไม่ถูกต้อง..ไม่ใช่เราล้มเหลว”

สุดท้ายคนทำนวัตกรรมต้องไม่ท้อ ต้องพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ เพราะไม่มีอะไรที่เวิร์คได้ในวันเดียว ต้องล้มลุกคลุกคลานมาทั้งนั้น แต่ถ้าใจรัก คิดว่าทำนวัตกรรมเพื่อให้โลกนี้ดีขึ้น ให้เรามีสินค้าที่ขายได้ทั่วโลก เช่นนั้นจะไม่มีวันหมดกำลังใจง่ายๆ

การปรับตัวมาขับเคลื่อนองค์กรด้วยนวัตกรรม ทำให้ในปีที่ทุกคนทำธุรกิจอย่างยากลำบาก แต่ซัยโจ เด็นกิ กลับยังทำยอดขายเพิ่มขึ้นถึง 30% (2559) มีรายได้รวมกว่า 2 พันล้านบาท ยังเป็นแบรนด์ไทยแบรนด์เดียวที่ติดอันดับ TOP5 ของตลาดแอร์ในไทย ที่สำคัญเมื่อ 2 ปีก่อน ยังเป็นบริษัทคนไทยรายแรก ที่สามารถส่งแอร์ไปขายในประเทศเจ้าเทคโนโลยีอย่างญี่ปุ่นได้

แต่ที่ดูจี๊ดสุดในชีวิตคนทำนวัตกรรมอย่างเขา ในฐานะศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง คือการที่ “ไมเคิล เดลล์” ผู้ก่อตั้งเดลล์คอมพิวเตอร์ พูดถึงซัยโจ เด็นกิ ในทวิตเตอร์ส่วนตัว ซึ่งสิ่งที่ได้กลับมาไม่ใช่แค่การมีคนดังระดับโลกมาช่วยพีอาร์แบรนด์ให้ฟรีๆ หรือปริมาณความปลาบปลื้มที่เต็มล้นอยู่ในใจเขา

ทว่าเหตุการณ์นี้ยังเหมือนเสียงตอกย้ำกลับมาว่า “ซัยโจ เด็นกิ” ใต้การนำของเขา..เดินมาถูกทางแล้ว