บจ.แตกไลน์ธุรกิจใหม่ หวังรักษา 'มาร์จิน’

บจ.แตกไลน์ธุรกิจใหม่ หวังรักษา 'มาร์จิน’

บริษัทจดทะเบียน "แตกไลน์" ธุรกิจใหม่ หวังรักษาความสามารถการทำกำไร

ตั้งแต่ต้นเดือน ม.ค. 2560 บริษัทจดทะเบียนได้ทยอยผลประกอบการปี 2559 รวมถึงแจ้งแผนธุรกิจด้วย จากการสำรวจพบว่าบริษัทจดทะเบียนเริ่มมีการลงทุน รวมถึงร่วมทุนในการจัดตั้งบริษัทย่อยแห่งใหม่ เพื่อสร้างโอกาสในการเพิ่มรายได้และรักษาความสามารถในการทำกำไร

โดยบริษัท เอส เอ็น ซี ฟอร์เมอร์ จํากัด (มหาชน) SNC ได้อนุมัติให้บริษัทย่อย “โอดินพาวเวอร์” เข้าลงทุนซื้อหุ้นสามัญ บริษัท ยะลาฟ้าใสสะอาด จำกัด ดำเนินธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือกในจ.ยะลา เช่น ขยะชุมชน จำนวน 180,000 หุ้น ราคาพาร์หุ้นละ 100 บาท รวมเป็นเงิน 4.5 ล้านบาท พร้อมซื้อหุ้นเพิ่มทุนอีก 1.32 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 100 บาท

บริษัท แม็คกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) MC เปิดเผยว่า บริษัทจะจัดตั้งบริษัทย่อยแห่งใหม่ “อโรมาธิค แอ็คทีฟ จำกัด” เพื่อประกอบกิจการค้าผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและเครื่องหอมทุนจดทะเบียน 8 ล้านบาท โดยบริษัทถือหุ้น 55% ร่วมกับ นาย วิริยะ พึ่งสุนทร ซึ่งไม่เป็นบุคคลที่มีความเกี่ยวโยงกัน จะถือหุ้น 45% โดยเป็นเงินลงทุนตามสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทมูลค่า 4.4 ล้านบาทซึ่งจะมาจากเงินสดจากการประกอบกิจการของบริษัท

บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) TTA จัดตั้งบริษัทย่อย “พี เอช แคปปิตอล” ดำเนินธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม โดยมีทุนจดทะเบียน 60 ล้านบาท โดยบริษัท โทรีเซนไทย ถือหุ้น 70% ทั้งนี้เพื่อเพิ่มโอกาสการลงทุนธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มในประเทศไทย

ขณะที่ บริษัท สิงห์ เอสเตท จำกัด (มหาชน) S แจ้งว่า บริษัท เอส เรสซิเดนเชียล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (SRD) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยได้เข้าลงนามในสัญญาจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนและร่วมทุนกับบริษัท HKL (Thai Developments) Limited ของบริษัท Hongkong Land Holdings Limited เพื่อร่วมลงทุนใน บริษัท เอส36 พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (S36) เพื่อพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมระดับ Super Luxury บนถนนสุขุมวิท 36

และบริษัทซี.ไอ.กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) CIG เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารมีมติอนุมัติการจัดตั้งบริษัทย่อยแห่งใหม่ คือ “สยามเรลเวย์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด” ทุนจดทะเบียนและทุนชำระแล้ว 1,000,000 บาท ประกอบด้วยหุ้นสามัญ 10,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 100 บาท ซึ่งซี.ไอ.กรุ๊ปถือหุ้นในบริษัทย่อย 100% ของทุนจดทะเบียน ลักษณะธุรกิจ เพื่อดำเนินการธุรกิจศูนย์ซ่อมรถไฟ

บริษัท เอส 11 กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) S11 เข้าลงทุนจัดตั้ง บริษัท มดเอส จำกัด ประกอบธุรกิจเร่งรัดหนี้สิน สืบบังคับคดี พร้อมรับซื้อ รับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ หวังสร้างรายได้เพิ่มจากธุรกิจหลัก

ทั้งนี้ สังเกตได้ว่าบางบริษัทจัดตั้งและร่วมทุนในบริษัทย่อยที่ดำเนินธุรกิจ “แตกต่าง” จากธุรกิจเดิมอย่างสิ้นเชิง

สมชัย ไทยสงวนวรกุล ประธานกรรมการบริหารและกรรมการบริษัท เอส เอ็น ซี ฟอร์เมอร์ จำกัด (มหาชน) SNC กล่าวว่า สาเหตุที่บริษัทแตกไลน์ไปสู่ธุรกิจพลังงานทดแทนนั้น เพราะมองเห็นโอกาสของการเติบโตของธุรกิจนี้ อีกทั้งได้มีศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานทดแทน จึงมั่นใจในศักยภาพของธุรกิจนี้ ว่าจะเป็นอีกขาหนึ่งของรายได้ที่จะทำให้บริษัทเกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ เอส เอ็น ซี ฟอร์เมอร์ (SNC) มีบริษัทในกลุ่มทั้งสิ้น 14 บริษัทประกอบด้วย บริษัทย่อยที่เอสเอ็นซีถือหุ้นโดยตรงจำนวน 9 บริษัทและ บริษัทย่อยที่เอสเอ็นซี ถือหุ้นผ่านบริษัทย่อย จำนวน 2 บริษัท บริษัทร่วมจำนวน 2 บริษัท และ กิจการที่ควบคุมร่วมกัน จำนวน 1 บริษัท โดยในปัจจุบันกลุ่มบริษัท มีการประกอบธุรกิจโดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มประกอบด้วยชิ้นส่วนอุปกรณ์สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องปรับอากาศ , ชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับยานพาหนะ , ผลิตและประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้า และการดำเนินงานอื่นๆ เช่นเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ประกอบด้วยโลหะ เหล็ก ทังสแตน คาร์ไบค์

ฉะนั้น การที่เอสเอ็นซี ขยับเข้ามาสู่ธุรกิจพลังงานทดแทน จึงเป็นเรื่องที่ต้องจับตาว่าศักยภาพการทำกำไรของบริษัทเพิ่มขึ้นหรือไม่

บทวิเคราะห์ บล.เอเซียพลัส ระบุว่า ฝ่ายวิจัยได้ปรับประมาณการรายได้ เอสเอ็นซี สำหรับปี 2560 ลดลงจากเดิม 7% เหลือ 7,899 ล้านบาท แต่ปรับเพิ่ม Gross Margin จากเดิม 12.6% เป็น 12.9% จากการควบคุมต้นทุนการผลิตที่ดีขึ้น ขณะที่ SG&A/Sales ปรับเพิ่มขึ้นจากเดิม 6.5% เป็น 6.9% ทำให้กำไรปกติปี 2560 ลดลงจากเดิม 6% อยู่ที่ 456 ล้านบาท แต่ยังเห็นการเติบโต 15% จากการฟื้นตัวของธุรกิจ OEM และธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า อีกทั้งไม่มีค่าใช้จ่ายการย้ายโรงงานเหมือนปีก่อน

ขณะที่แนวโน้มกำไรไตรมาส 1 ปี 2560 เติบโตจากไตรมาสก่อนหน้าสอดคล้องกับรายได้คาดเพิ่มขึ้นจากแรงหนุนหลักของธุรกิจผลิตชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าเติบโตอีกครั้งจากการเข้าสู่ช่วง High season ของธุรกิจแอร์ ส่งผลต่อเนื่องถึงธุรกิจ OEM ที่เห็นออเดอร์จากลูกค้าหลักอย่าง Fujitsu เพิ่มขึ้น กอปรกับราคาทองแดงที่สูงขึ้น 8% จากช่วงไตรมาส 4 ปี 2559 ราคา 5,300 ดอลลาร์/ตัน ปัจจุบัน 5,700 ดอลลาร์/ตัน ช่วยหนุนให้ราคาขายสูงขึ้น

สุณี เสรีภาณุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทแม็คกรุ๊ป (MC) กล่าวว่าบริษัทอยู่ระหว่างการจัดตั้งบริษัทย่อยแห่งใหม่ เพื่อรองรับการขยายธุรกิจการจัดจำหน่ายสินค้าไลฟ์สไตล์ประเภทผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและเครื่องหอมอื่นๆ โดยเป็นการดำเนินการภายใต้บริษัทย่อยบริษัทใหม่ คือ บริษัท อโรมาธิค แอ็คทีฟ จำกัด ซึ่งมีทุนจดทะเบียน 8 ล้านบาท โดยมี บริษัท แม็คกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นในสัดส่วน 55% และอีก 45% ถือหุ้น โดยวิริยะ พึ่งสุนทร

บริษัทเชื่อว่าจะสามารถสร้างการเติบโตของยอดขายสินค้าไลฟ์สไตล์ประเภทผลิตภัณฑ์บำรุงผิวได้เป็นอย่างดี โดยบริษัทตั้งเป้าสัดส่วนยอดขายจากสินค้ากลุ่มนี้ไม่ต่ำกว่า 5% ของยอดขายรวมใน 5 ปีข้างหน้า

นักวิเคราะห์รายหนึ่ง กล่าวว่า การที่บริษัทจดทะเบียนมีการแตกไลน์ธุรกิจ มาสู่ธุรกิจที่ไม่ถนัด หรือนอนคอร์นั้น ต้องพิจารณาเป็นรายบริษัทไป บางรายอาจจะไม่ถนัดในธุรกิจใหม่ แต่มีพาร์ทเนอร์ที่ดี ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการบริหารแหล่งที่มาของรายได้ และบางบริษัทแม้จะดูเหมือนแตกไลน์ไปทำธุรกิจใหม่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิมเลย แต่บริษัทนั้นๆ อาจจะมีสินทรัพย์ที่สามารถสร้างประโยชน์ร่วมระหว่างธุรกิจเก่าและใหม่ได้ ยกตัวอย่างบริษัท อาร์เอส ที่ทำสื่อบันเทิงมาโดยตลอด แต่เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทก็ได้ต่อยอดไปสู่ธุรกิจผลิตภัณฑ์ความงาม โดยอาศัยประโยชน์จากการที่ช่องดิจิทัลที่เข้าถึงคนรับชมได้ตรงตามกลุ่มเป้าหมาย

บทวิเคราะห์ บล.เอเชียพลัส ระบุว่า ธุรกิจผลิตภัณฑ์ความงามของอาร์เอส (RS) มีการเพิ่มกลยุทธ์การขายผ่านช่องทางเทเลเซลมากขึ้น โดยใช้สื่อช่อง 8 และช่อง 2 เพิ่มรายการ Product Placement มากขึ้น รวมถึงเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ และเพิ่มกำลังการให้บริการ Call Center มากขึ้น หนุนให้ยอดขายผ่าน telesales ขึ้นมาอยู่ที่เฉลี่ย 1 ล้านบาทต่อวัน จากช่วงปกติเดิมที่อยู่ที่ 4 แสนบาทต่อวัน และยังขายผ่านช่องทางโมเดิร์นเทรด โดยจะทยอยเพิ่มห้างที่จำหน่ายทุกไตรมาส ขณะที่งบการตลาดปีนี้ลดเหลือ 20 ล้านบาท จากปีก่อนที่ 90 ล้านบาท