สพฉ.เล็งติดตั้งAED ทั่วประเทศช่วยผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้น

สพฉ.เล็งติดตั้งAED ทั่วประเทศช่วยผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้น

สพฉ.สรุป 2 ปี รณรงค์ติดตั้งเครื่อง AED บางพื้นที่ ช่วยชีวิตผู้ป่วยภาวะหัวใจวายและหัวใจหยุดเต้นรอดแล้วกว่า 20 คน

ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์เป็นช่วงเดือนแห่งความรักที่ทุกคนจะได้ดูแลจิตใจของกันและกัน  นอกจากการดูแลทางด้านความรู้สึกแล้ว ในส่วนของการดูแลหัวใจแข็งแรงก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เราควรให้ความสำคัญด้วย ล่าสุดสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลถึงการรณรงค์เรื่องการติดตั้งเครื่อง AED หรือเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติในตลอดระยะเวลาสองปีที่ได้ดำเนินโครงการ

นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)กล่าวว่า ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันโดยในปีพ.ศ. 2559 ที่ผ่านมามีผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นมากถึง 495 คน และยังพบผู้ป่วยจากภาวะเจ็บแน่นทรวงอกหรือมีปัญหาด้านหัวใจอีกกว่า12,304 คน  จากตัวเลขเหล่านี้เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า เรามีผู้ป่วยฉุกเฉินที่เจ็บป่วยด้วยภาวะหัวใจวายและหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันในอัตราที่มาก และน่าเสียดายที่ผู้ป่วยบางส่วนก็เสียชีวิตนอกโรงพยาบาลก่อนที่จะถึงมือแพทย์ ซึ่งผู้ป่วยที่เสียชีวิตนอกโรงพยาบาลด้วยภาวะหัวใจวายและหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันนั้นเทียบเท่ากับการเสียชีวิตของผู้ป่วยจากอุบัติเหตุ ดังนั้นการแก้ปัญหาภาวะหัวใจวายหรือหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันเราต้องเตรียมคนในประเทศของเราให้พร้อมรับมือกับภาวะการเจ็บป่วยด้วยโรคดังกล่าวนี้ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงอาทิพื้นที่สาธารณะที่ผู้คนพลุกพล่านอย่างสนามบิน รถไฟ สถานที่ท่องเที่ยวขนาดใหญ่ ห้างสรรพสินค้า ที่ออกกำลงกายที่มีคนมาใช้บริการมากๆ  หรือสถานที่ที่มีการจัดวิ่งมาราธอน

เลขาธิการ สพฉ.กล่าวว่า ทั้งนี้ในต่างประเทศนั้นการรับมือกับผู้ป่วยภาวะหัวใจวายหรือหยุดเต้นเฉียบพลันนอกโรงพยาบาลนั้นไม่สามารถจะรอแต่เจ้าหน้าที่กู้ชีพได้เพียงอย่างเดียว  ซึ่งจากสถิติของประเทศญี่ปุ่นหรือสหรัฐอเมริกานั้นพบว่าหากประชาชนสามารถใช้เครื่องAED ในการช่วยชีวิตผู้ป่วยสลับกับการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐานหรือ CPR ก่อนที่ทีมแพทย์จะเดินทางเข้าให้ความช่วยเหลือก็จะสามารถเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้กับประชาชนในประเทศของเขาได้และจะสามารถช่วยผู้ป่วยให้รอดได้มากถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจากเดิมถ้าเราเริ่มต้นช่วยผู้ป่วยแล้วรอเจ้าหน้าที่กู้ชีพมารับเพียงอย่างเดียวโอกาสรอดชีวิตของผู้ป่วยก็จะมีเพียงแค่ 27 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าใช้เครื่อง AED มาช่วยด้วยโอกาสในการรอดชีวิตของผู้ป่วยก็จะมากขึ้นไปด้วย

ดังนั้นใน 2 ปีที่ผ่านมาเราก็เลยจัดทำยุทธศาสตร์ในเรื่องของการดูแลผู้ป่วยที่ภาวะหัวใจวายหรือหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันอยู่ 4 เรื่องหลัก ๆ ได้แก่ 1. การประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรู้ปัญหาและเห็นความสำคัญของการเตรียมตัว โดยเราได้จัดงานใหญ่ในวันวาเลนไทน์เมื่อ 2 ปีที่แล้วที่หัวลำโพง และเราก็จัดกิจกรรมในลักษณะดังกล่าวนี้ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด ซึ่งเราต้องการให้ประชาชนเห็นความสำคัญในการใช้งานเครื่อง AED   2. เราได้สร้างการกระจายตลาดของเครื่อง AED เพื่อให้เครื่อง AED มีราคาที่ถูกลงและให้หาซื้อได้ง่ายซึ่งเดิมในประเทศไทยมีอยู่ 2-3 บริษัทเท่านั้นที่นำเครื่อง AED มาจำหน่าย เราก็ทำให้เกิดการเพิ่มจำนวนขึ้นโดย 7 บริษัทใหญ่ๆ ที่จำหน่ายเครื่อง AED ก็เข้ามาจำหน่ายที่ประเทศไทยหมด ซึ่งจะทำให้เกิดการแข่งขันและทำให้ราคาของเครื่อง AED ถูกลงด้วย ซึ่งบริษัทต่างๆ เหล่านี้ก็จะมีการทำ CSR ด้วยการมอบเครื่องไปในที่ต่างๆ และจะทำให้เกิดการกระจายเครื่อง AED ในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทยด้วย

นพ.อนุชา กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า  ในส่วนของข้อที่ 3. นั้นเราได้ฝึกอบรมให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนสามารถใช้งานเครื่อง AED เป็น  และเรายังได้จัดทำคู่มือมีแนวทางที่จะทำให้ประชาชนเรียนรู้เรื่องห่างโซ่การรอดชีวิต โดยเมื่อประชาชนเจอเหตุการณ์ให้รีบโทรแจ้งสายด่วน  1669 และเข้าประเมินอาการของผู้ป่วยว่าหายใจหรือไม่อย่างไร หากพบผู้ป่วยไม่หายใจก็ให้ทำการปั๊มหัวใจหรือ CPR สลับกับการนำเครื่อง AED เข้ามาทำการช่วยเหลือ และรอเจ้าหน้าที่กู้ชีพมารับเพื่อนำไปส่งต่อยังโรงพยาบาล และเข้าสู่โรงพยาบาลเพื่อทำการรักษาต่อไป ซึ่งในช่วง 4-5 เดือนที่เราออกมารณรงค์ในเรื่องนี้เราได้มีการมอบเครื่อง AED ให้กับสถานีขนส่งหมอชิต และอีกหลายๆที่ ก็ทำให้เกิดปรากฏการณ์ผู้จำหน่ายตั๋วที่สถานีขนส่งหมอชิตสามารถมาช่วยปั๊มหัวใจและใช้งานเครื่อง AED ช่วยให้ผู้ป่วยอายุ 60 รอดชีวิตได้   

ในส่วนของข้อที่ 4. นั้นเราจะให้หลักสูตรนี้เกิดความยั่งยืนโดยได้ร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการจัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันในการนำหลักสูตรการปฐมพยาบาลเบื้องต้นและการใช้งานเครื่อง AED บรรจุไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อให้เด็กๆ นักเรียน นักศึกษาสามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นและใช้งานเครื่อง AED ได้ และเรายังได้ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับเซเว่นอีเลฟเว่น โดยบรรจุหลักสูตรการเรียนการสอนเรื่อง CPR และการใช้งาน AED ลงในโรงเรียนของเซเว่นอีเลฟเว่นด้วย  นอกจากนี้ในส่วนการดำเนินการในด้านของนโยบายนั้นเราได้ประสานร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมืองและสภานิติบัญญัติแห่งชาติร่างระเบียบให้อาคารที่มีคนอยู่อาศัยและเข้าออกในจำนวนที่มากนั้นตองทำการติดตั้งเครื่อง AED ด้วย  และในส่วนของงานวิชาการนั้นเวลาที่มีการประชุมหรือจัดงานวิชาการต่าง ๆ เราก็จะสอดแทรกเรื่องความสำคัญของการใช้งานเครื่อง AED เข้าไปด้วย

“ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่พวกเราได้ช่วยกันดำเนินการรณรงค์ สร้างความพร้อมในการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคหัวใจและมีการติดตั้ง AED ในสถานที่สำคัญที่มีคนอยู่อาศัยและใช้บริการเป็นจำนวนมากอาทิโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพอาดัง เกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล  ศูนย์ประสานงานกู้ภัยอุทยานแห่งชาติที่ 2 กาญจนบุรี  เรือหลวงจักรีนฤเบศร สถานีขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ สถานีรถไฟจังหวัดเชียงใหม่ สนามบินจังหวัดสุราษฏร์ธานี สถานที่ออกกำลังกายสวนลุมพินี ทำเนียบรัฐบาล สถานีขนส่งผู้โดยสายใต้ใหม่ ศูนย์ฝึกอบรมปฐมพยาบาล สภากาชาดไทย สถานีรถไฟหัวลำโพง ตำรวจจราจรโครงการพระราชดำริ ท่าอากาศยานอุดรธานี ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานหาดใหญ่ สถานีขนส่งผู้โดยสารเอกมัย ศาลาว่าการกทม. กระทรวงศึกษาธิการ รัฐสภา กระทรวงการต่างประเทศ

นอกจากนี้คนไทยช่วยกันปั๊มหัวใจพร้อมกับการใช้งานเครื่อง AED สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันรอดมาแล้วมากว่า 20 ราย เป้าหมายต่อไปของเราคือเราจะรณรงค์ให้มีการติดตั้งเครื่อง AED ทั่วประเทศไทยเพื่อช่วยให้หัวใจของคนไทยแข็งแรงและเพิ่มโอกาสรอดชีวิตจากภาวะหัวใจวายและหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันให้กับคนไทยได้ ” เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกล่าว