โรคยอดฮิตในยุคดิจิทัล

โรคยอดฮิตในยุคดิจิทัล

ในยุคดิจิตอลที่มีความทันสมัยของเทคโนโลยี ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่สะดวกสบายขึ้น คนในยุคนี้จึงใช้เวลากับเทคโนโลยีดิจิทัลในแต่ละวันนานหลายชั่วโมง

ในยุคดิจิทัลที่มีความทันสมัยของเทคโนโลยี ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่สะดวกสบายขึ้น ไปสถานที่ที่ไม่รู้จักก็มีแผนที่บอกนำทาง อยากรู้ข้อมูลอะไรก็ค้นหาง่ายดายแค่เพียงปลายนิ้ว เพราะข้อมูลทุกอย่างอยู่ในรูปแบบดิจิทัลทำให้ใช้งานง่าย คนในยุคนี้จึงใช้เวลากับเทคโนโลยีดิจิตอลในแต่ละวันนานหลายชั่วโมง พฤติกรรมก็จะนั่งอยู่ในท่าเดิมๆ ซ้ำๆ เช่น นั่งเก้าอี้ ก้มศีรษะเป็นเวลานาน ใช้สายตาและนิ้วในการทำงานมาก จึงส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายจนเกิดเป็นโรคต่างๆ ตามมา

เพ็ญพิชชากร แสนคำ ผู้จัดการคลินิกกายภาพบำบัดอริยะ ชั้น 1 ไลฟ์เซ็นเตอร์ (อาคารคิวเฮ้าส์ ลุมพินี) ได้ให้ข้อมูลว่า ระบบต่างๆ ในร่างกายมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงและเกี่ยวเนื่องกัน โดยเฉพาะการก้มคอมากๆ ร่วมกับการจ้องมองจอสมาร์ทโฟน หรือจอคอมพิวเตอร์ต่อเนื่องกันนานๆนั้น ทำให้มีผลกระทบได้ทั่วทั้งร่างกาย เช่น กล้ามเนื้อตาอ่อนแรง หลังค่อมเกิดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ ทำให้ปวดศีรษะ เสี่ยงต่อการเป็นโรคคอเสื่อมได้ง่าย ร่างกายขาดความสมดุล เพราะไม่ค่อยมีการเคลื่อนไหวส่งผลต่อระบบไหลเวียน ระบบการขับของเสีย ซึ่งจะกล่าวโดยละเอียด ได้ดังต่อไปนี้

• โรคเกี่ยวกับตา ตาแห้ง ตาพร่า ปวดตา ปวดกระบอกตา สายตาสั้น การจ้องหน้าจอเป็นเวลาต่อเนื่องกันนานๆ จะมีผลต่อสายตาของเราเป็นอย่างมาก เพราะแสงสีของภาพที่ฉูดฉาด การเคลื่อนที่เร็ว ส่งผลให้จอประสาทตาล้า กล้ามเนื้อรอบตาต้องเกร็งตัว ตาแห้งเนื่องจากต้องจ้องมองภาพจอสีต่อเนื่อง ไม่เพียงแต่จะรู้สึกได้ทันทีหลังจากการเล่นเท่านั้น แต่การมีพฤติกรรรมแบบนี้ตลอดเวลาจะส่งผลให้จอประสาทตาเสื่อมเร็ว หากเลื่ยงที่จะจ้องจอนานไม่ได้อาจต้องเปลี่ยนอิริยาบถ หรือหลับตาพักสัก 2-3 นาทีเพื่อไม่ให้จอประสาทตาและกล้ามเนื้อตาล้าจนเกินไป

• อาการปวดศีรษะ อาการปวดคอ-บ่า-ไหล่ การนั่งทำงานอยู่ในท่าเดิมๆ ร่วมกับจ้องมองเทคโนโลยีต่างๆเป็นเวลานานทำให้มีอาการปวดศีรษะ ปวดคอ บ่า ไหล่ได้ อีกทั้งความเครียดจากการทำงาน และครอบครัว ก็ส่งผลทำให้เกิดอาการดังกล่าวได้เช่นเดียวกัน ที่สำคัญคือ โครงสร้างของกระดูกสันหลังและคอนั้นก้มไปด้านหน้ามาก เกิดแรงกดที่กระดูกสันหลังช่วงคอ กล้ามเนื้อบริเวณรอบคอและฐานกระโหลกศีรษะก็เกร็งตัวมากกว่าปกติ ซึ่งบริเวณนี้เป็นส่วนที่มีหลอดเลือดและเส้นประสาทไปเลี้ยงบริเวณศีรษะจำนวนมาก เมื่ออยู่ในท่าก้มมาก จึงทำให้จำกัดการไหลเวียนดังกล่าวได้ สาเหตุดังกล่าวทำให้เกิดอาการปวดศีรษะรุนแรง ปวดคอ บ่า ไหล่ได้ ดังนั้นอาจต้องปรับร่างกายให้เหมาะสมด้วยการลุกขึ้นยืน หรือเดินเพื่อให้ร่างกายได้ขยับบ้าง ยืดเหยียดกล้ามเนื้อคอเบาๆ หมุนหัวไหล่ทุกๆชั่วโมง นั่งอยู่ในท่าที่ถูกต้องตัวไม่ห่างจากจอมากไป นั่งหลังตรง เปิดหัวไหล่นิดๆ ขณะที่นั่งทำงาน จะทำให้สามารถนั่งหน้าจอได้โดยไม่มีอาการปวดมารบกวนค่ะ

• โรคระบบทางเดินอาหาร ทั้งอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย รับประทานอาหารไม่เป็นเวลาทำให้เป็นโรคกระเพาะ และส่วนใหญ่มักทานแล้วนั่งอยู่กับที่ร่างกายไม่มีการเคลื่อนไหวทำให้ลำไส้ไม่มีการเคลื่อน ระบบการย่อยทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ จึงทำให้เกิดอาการท้องอืดได้ ดังนั้นหลังจากทานข้าวควรลุกขึ้นเดินสัก 3-5 นาที หรือเปลี่ยนอิริยาบถไปเป็นการขยับเคลื่อนไหวตัวจะแก้ปัญหาอาการทางระบบนี้ได้

• โรคภูมิแพ้ ทั้งแพ้อากาศ แพ้ผิวหนัง ส่วนใหญ่คนในยุคนี้จะอยู่แต่ในห้องแอร์ ไม่ค่อยได้รับอากาศถ่ายเท ร่างกายมีภูมิต้านทานต่ำ ยิ่งหากต้องนั่งอยู่ในท่าที่หลังค่อมมากๆ ก็ยิ่งไปจำกัดการขยายตัวของปอด การหายใจไม่เต็มประสิทธิภาพ ระบบการถ่ายเทอากาศในร่างกายทำงานได้น้อยลง ออกซิเจนที่ไหลเวียนไปเลี้ยงร่างกายก็ลดลง เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดภูมิแพ้ต่างๆ จึงควรหลีกเลี่ยงการนั่งท่าหลังค่อม ควรนั่งให้ถูกต้อง นั่งหลังตรง ยืดตัวตัวตรง อาจเช็คท่าทางตัวเองด้วยการหายใจเข้าลึกๆ ยาวๆ พร้อมกับยืดอกผายไหล่ ทุกๆชั่วโมง อาจ จะช่วยแก้ปัญหาอาการนี้ได้

• โรคนิ้วล็อก ชานิ้ว การที่เรานั่งใช้นิ้วเล่นอยู่หน้าจอตลอดเวลา นิ้วเราอยู่ในท่าหงิกงอ ต่อเนื่องเป็นชั่วโมงๆ ยิ่งหน้าจอที่เล็ก ยิ่งทำให้ต้องเกร็งนิ้วมากเป็นพิเศษ ทำให้ข้อมือต้องเกร็งอยู่กับที่ เกิดการอักเสบที่เอ็นหรือปลอกหุ้มเอ็นในข้อมือได้ จึงควรยืดเหยียดนิ้วมือ แขนและหัวไหล่ทุกๆ ชั่วโมง ตัวอย่างเช่น มือประสานกัน เหยียดนิ้วและแขนให้ตึง เหยียดขึ้นเหนือศีรษะให้สุดแขนแล้ว ปล่อยมือและเหยียดแขนทั้งสองข้างไปด้านหลังช้าๆ จะทำให้กล้ามเนื้อแขน เส้นประสาทที่แขนและมือมีการยืดเหยียด เคลื่อนไหว เป็นการป้องกันภาวะนิ้วล็อคและชานิ้วได้

ดังนั้นเราจึงควรรู้ให้เท่าทันโรคของดิจิทัลในยุคนี้ เพื่อจะได้ป้องกันและดูแลรักษาได้ทันแต่เนิ่นๆ