ไป “สกลฯ” สนมั้ย CRAFT

ไป “สกลฯ” สนมั้ย CRAFT

ถ้าการใช้ชีวิตแบบ Slow Life มันไกลความเป็นจริงมากเกินไป งั้น Minimalist สักหน่อยเป็นไร

บ่อยครั้งที่การเดินทางทำให้เราได้พบ “งานทำมือ” ดีๆ จนไม่สามารถปล่อยผ่านไปได้ สกลนคร ก็เข้าข่ายนั้น


แดดแรงแต่ไม่ร้อนเมื่อเราเดินทางมาถึงสกลนคร จังหวัดที่รุ่มรวยไปด้วยอารยธรรมโบราณจนได้ชื่อว่า “เมืองพุทธศาสน์ พระธาตุห้าแห่ง แหล่งอารยธรรมสามพันปี”


และอาจเป็นเพราะที่นี่มี “ราก” ของศาสตร์และศิลป์ที่สืบทอดกันมายาวนาน เราจึงได้พบงานหัตถกรรมดีๆ ที่กระจายอยู่ในทุกมุมเมือง โดยเฉพาะ “ผ้าย้อมคราม” ที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองนี้


แต่...ไม่เพียงแค่ “คราม” เท่านั้นที่ทำให้สกลนครเป็นที่รู้จัก เพราะที่นี่ยังมีงาน Craft “ทำมือ” หรือในภาษาอีสานใช้คำว่า “เฮ็ดมือ” รอให้นักท่องเที่ยวเข้ามาสัมผัสอีกมากมาย พร้อมจะไปเยือนสกลนครกันหรือยัง


…...……


หลายปีมานี้เราค่อนข้างชื่นชอบ “ธีม” การท่องเที่ยวหลายๆ ธีมที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) พยายามคิดและประชาสัมพันธ์ โดยเฉพาะแนวคิดของกองการตลาดและสำนักงานในภูมิภาคต่างๆ มีทีเด็ดอะไรก็งัดมาใช้กันแบบไม่กลัวเปลือง


อย่างภาคอีสานซึ่งเป็นดินแดนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ก็สะท้อนเอกลักษณ์ต่างๆ ออกมาในรูปแบบของการละเล่น ประเพณี วิถีชีวิต รวมถึงงานฝีมือที่ถือว่ามีอัตลักษณ์ แสดงความเป็นตัวตนของคนอีสานที่เรียบง่ายแต่งดงามออกมาได้เป็นอย่างดี


“DIY อีสานเฮ็ดมือ” เป็นหนึ่งในธีมการท่องเที่ยวภาคอีสานที่น่าสนใจ เพราะเป็นการดึงเอาคุณค่าที่มีอยู่ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ออกมาแสดงให้ทุกคนได้ตระหนักถึงความสำคัญ


เมื่อก่อนเราอาจเคยมองงานฝีมือเหล่านั้นเป็นแค่ “ของฝาก” ที่ “ต้องซื้อ” กลับบ้านไป ไม่ได้มองถึงที่มา สนใจแต่ปลายทางว่าออกมาเป็นอย่างไร แต่วันนี้การท่องเที่ยวพัฒนาไปมาก เป็นการชักชวนให้เรากลับไปค้นหา “ราก” ของคนอีสาน และความงดงามที่ซ่อนซุกและส่งผ่านออกมาเป็นงาน “เฮ็ดมือ”


สกลนครเองก็เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่ผู้คนมีใจรักในงานฝีมือ โดยเฉพาะภูมิปัญญาการย้อมครามที่ส่งผ่านกันมารุ่นต่อรุ่น เดี๋ยวนี้เทรนด์ Indigo (คราม) กำลังมา ใครพลาดอาจจะถูกผลักให้ตกยุคได้ ซึ่งครามที่ว่านี้เป็นพืชท้องถิ่นที่ปลูกกันอย่างแพร่หลายอยู่ในท้องถิ่นอีสาน เป็นพืชทนแล้ง ทนเค็มดี ชาวสกลนครนิยมนำมาย้อมผ้าจนได้เป็นผืนผ้าสีฟ้าสดใส


อย่าเพิ่งมองว่าผ้าพื้นเมืองจะต้องมีแพทเทิร์นเชยๆ ตัดเย็บออกมาแล้วสวมใส่ได้เฉพาะผู้สูงวัย เพราะเดี๋ยวนี้งานหัตถศิลป์หลายๆ อย่าง มีการพัฒนาด้านการออกแบบและเติมแต่งความคิดสร้างสรรค์ลงไป ทำให้ได้งาน Minimalist Style หรือเรียบง่ายแต่เท่ เก๋ไก๋ในแบบที่เรียกว่า “น้อยแต่มาก” นั่นเอง

จริงๆ ถ้าเป็นงานครามสมัยใหม่ก็ต้องยกให้ Maan Craft ที่สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่น หลอมรวมเข้ากับความรู้ของนักออกแบบรุ่นใหม่อย่าง ปราชญ์ นิยมค้า หรือ แมน หนุ่มสกลรุ่นใหม่ผู้หลงใหลงานศิลปะจนสร้างสรรค์ผลงานผ้ามัดย้อมทำมือจากสีธรรมชาติ โดยเฉพาะคราม ที่เป็นสีประจำบ้านเกิดของเขา

KramSakon ก็เป็นที่รู้จักในแง่ของสถานที่ผลิตและจำหน่ายผ้าย้อมครามที่มีเอกลักษณ์ ไม่เพียงเท่านั้นที่นี่ยังเป็นศูนย์การเรียนรู้สำหรับผู้สนใจการทำผ้าคราม วันที่เราเดินทางไปเยือนยังมีคุณพ่อคุณแม่รุ่นใหม่พาลูกๆ มาฝึกย้อมครามจนกลายเป็นเรื่องสนุกสนานของเด็กๆ ไป

จริงๆ จุดเริ่มต้นของครามสกลเกิดจากความคิดของ เจษฎา กัลยาบาล ผู้จัดการร้านครามสกล ที่ต้องการออกแบบของที่ระลึกประจำจังหวัด จนสุดท้ายมาพบว่าสกลนครมีคนทำงานครามอยู่มากกว่าครึ่ง จึงพยายามเพิ่มมูลค่าให้สินค้าพื้นเมือง จนปัจจุบันกลายเป็นศูนย์ประสานงานที่สร้างโอกาสในการพัฒนาชุมชนไปแล้ว

บ้านไม้สองชั้นหลังนั้น นอกจากจะจำหน่ายงานครามดีไซน์เก๋แล้ว ด้านบนยังแบ่งพื้นที่บางส่วนเป็นห้องพัก สำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจอยากพักค้างคืนเพื่อศึกษางานย้อมครามอย่างเต็มที่ด้วย ถ้าใครอยากเรียนรู้แวะไปดูงานก่อนค่อยตัดสินใจ ร้านครามสกลตั้งอยู่ในชุมชนบ้านพะเนาว์ ตำบลห้วยยาง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร

แต่ถ้าต้องการแบบสืบจาก “ราก” จริงๆ แนะนำให้แวะไปเรียนรู้กับ ครูพิระ ประเสริฐก้านตง ครูช่างศิลปหัตถกรรมปี 2557 และเป็นประธาน กลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านคำข่า ตำบลไร่ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร

ครูพิระ บอกว่า ผ้าย้อมคราม คือผ้าฝ้ายทอมือย้อมสีธรรมชาติที่มีประวัติยาวนานกว่า 4,000 ปี เป็นกระบวนการย้อมที่ไม่ก่อให้เกิดความร้อน ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ 100 เปอร์เซ็นต์ ฉะนั้นจึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ที่สำคัญยังกันยุง และป้องกันแสง UV ได้ด้วย

“ที่นี่เราจะเน้นการทอผ้าย้อมครามแบบออร์แกนิค ฝ้ายเราก็ปลูกเอง เป็นฝ้ายสีน้ำตาลกับฝ้ายสีขาว จริงๆ เราเน้นทำงานฝ้ายเข็นมือ คือทอผ้าเป็นผืน ส่วนผ้ามัดย้อมจะเป็นตัวเสริม ซึ่งสีที่เราเอามาย้อมทั้งหมดมาจากธรรมชาติ แน่นอนว่า หลักๆ คือคราม ซึ่งจะให้สีฟ้า สีน้ำเงิน แต่สีอื่นๆ ที่เราทำก็มีอย่างต้นเขให้สีเหลือง สีน้ำตาลจากประดู่ หรือสีน้ำตาลตุ่นๆ เทาๆ จากมะเกลืออะไรแบบนี้”

เล่าไปครูพิระก็หย่อนมือลงไปในหม้อคราม พร้อมกับบอกว่า หม้อครามจะต้องเป็นหม้อดิน หรือโอ่งดินเท่านั้น เพราะเป็นภาชนะจากธรรมชาติ ช่วยระบายความร้อนได้ดี และก่อนจะย้อมได้ก็ต้องใส่ส่วนผสมต่างๆ ลงไป ทั้งคราม ปูนขาว และน้ำด่าง หมักทิ้งไว้คล้ายๆ กับการเลี้ยงจุลินทรีย์ ซึ่งส่วนผสมในหม้อครามทั้งหมดจะไม่มีสารเคมีเลย

“หมั่นดูหม้อครามด้วยนะ ที่นี่จะเรียกหม้อนิล ต้องหมั่นดูทั้งความชื้น ความเป็นกรดด่าง เรื่องนี้ต้องใช้ทักษะและความชำนาญ ถ้าหม้อนิลผิดปกติไปจะย้อมไม่ติดแบบนี้เราเรียกหม้อนิลหนี หรือหม้อนิลหาย หมายถึงหม้อนิลนั้นใช้ไม่ได้แล้ว ย้อมไม่ติดแล้ว นี่เป็นตัวพิสูจน์ความเป้นมืออาชีพของคนย้อมครามเลย”

แม้จะมีสีคล้ายกัน แต่ครูพิระบอกว่า “คราม” กับ “ฮ่อม” (หม้อฮ่อม) เป็นพืชคนละตระกูล ฮ่อมชอบความชื้น ขึ้นมากตามพื้นที่ใกล้แหล่งน้ำทางภาคเหนือ แต่ครามชอบแล้ง ชอบแดด และทนความเค็มของดินได้ จึงพบว่าขึ้นเป็นวัชพืชอยู่ทั่วไปในภาคอีสาน แต่กรรมวิธีการนำมาย้อมคล้ายๆ กัน มีการรักษาไม่ให้หม้อนิลหนีเหมือนๆ กัน

ถ้าใครอยากรู้ลึกกว่านี้อาจจะต้องลงพื้นที่ไปเรียนรู้อยู่กับครูสักสัปดาห์ แล้วจะรู้ว่า ที่ครูพูดมา ไม่ง่ายเลย

ชอปปิงผ้ามัดย้อมจากบ้านคำข่าพอหอมปากหอมคอ เราพาไปเสียเงินกันต่อที่ กลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติบ้านนาเชือก(มูลควาย) ซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลแร่ อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร บอกแบบนี้บางคนอาจไม่รู้จัก แต่ถ้าบอกว่า “ผ้าหมักมูลควาย” สาวกเส้นใยธรรมชาติคงต้องร้องอ๋อ…

อุไรวรรณ โซ่เมืองแซะ สมาชิกกลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติบ้านนาเชือก(มูลควาย) เล่าให้ฟังว่า แต่ก่อนชาวบ้านนาเชือกก็ย้อมผ้ากันด้วยสีธรรมชาติปกติธรรมดา จนกระทั่งมีพระอาจารย์นักคิดและพัฒนาแห่งวัดป่าภูมิธนารักษ์ธรรมาราม เห็นว่าชาวบ้านเลี้ยงควายกันมาก น่าจะนำมูลควายมาใช้ประโยชน์ได้ ผ้าหมักมูลควายจึงกลายเป็นเรื่องใหม่ที่ชาวบ้านกับพระช่วยกันคิดขึ้นมา

“เราใช้เฉพาะมูลควาย เพราะควายกินหญ้าทั้งต้น ในมูลจึงไม่มีแก๊ส ผิดกับวัวที่เล็มหญ้าแค่ปลายยอด เวลานำมูลวัวมาใช้จะเกิดแก๊สมาก ทำให้ย้อมแล้วสีไม่ค่อยติดกับเส้นฝ้าย ซึ่งการเก็บมูลควายเราจะเก็บในช่วง 06.00-08.00 น. เท่านั้น หลังจากนี้จะไม่ค่อยดี เก็บแล้วก็เอามาหมักไว้ 2 คืน ก่อนจะตักเอามาต้ม กรองเอาแต่น้ำ เอาไปต้มใส่เครื่องสมุนไพรอย่างใบมะกรูด ตะไคร้ลงไป แล้วถึงจะเอาเส้นฝ้ายลงไปย้อม”

อุไรวรรณ เล่าพลางตักมูลควายจากบ่อซีเมนต์ที่หมักไว้ กลิ่นที่ลอยมาพร้อมกับลมที่โชยเบาๆ ทำให้เราต้องยกมืออุดจมูก ก่อนจะพากันเข้ามาต้มน้ำมูลวัวในเพิงที่อยู่ใกล้ๆ

“เรารวมกลุ่มย้อมมูลควายกันตั้งแต่ปี 2553 ก็ทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เด่นๆ คือทำเป็นตุ๊กตาควาย สีที่ย้อมออกมาจะคล้ายๆ สีโคลน สีช็อคโกแลต เป็นสีธรรมชาติ หรือออกเขียวนิดๆ ความนุ่มถือว่านุ่มนะ แต่คงไม่เท่าผ้าหมักโคลน อันนี้มีการนำไปวิจัยในเชิงวิทยาศาสตร์แล้ว และหมู่บ้านเราก็เป็นหมู่บ้านแม่ข่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย”

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของบ้านนาเชือก มีทั้งผ้าทอธรรมดา และแปรรูปเป็นสินค้ารูปแบบต่างๆ เช่น ที่นอนปิกนิก ผ้าห่ม ผ้าพันคอ หมวก พรม ผ้าม่าน หมอนตุ๊กตาควาย กระเป๋าผ้า ฯลฯ สินค้าแต่ละอย่างดีไซน์งดงามเทียบชั้นงานดีไซน์ระดับโลกได้เลยจริงๆ

ปิดทริปสกลเฮ็ดมือด้วยงานเซรามิกเก๋ๆ ที่ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพบ้านกุดนาขาม ตำบลเจริญศิลป์ อำเภอเจริญศิลป์ จังหวัดสกลนคร ซึ่งที่นี่เป็นโครงการพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ก่อตั้งเมื่อปี 2526 เพื่อแก้ปัญหาความยากจนในพื้นที่โดยการสนับสนุนการสร้างอาชีพใหม่ๆ เพื่อให้ราษฎรไม่ต้องละทิ้งถิ่นฐานไปหางานที่อื่นทำ

งานฝีมือที่ส่งเสริมมีทั้งงานทอผ้าไหม งานปักผ้า ดอกไม้ประดิษฐ์ งานวาดภาพ แกะสลักไม้ ตัดเย็บเสื้อผ้า ฯลฯ ที่ที่จัดว่าเด่นที่สุดก็คืองานเซรามิก

นักท่องเที่ยวสามารถแวะเข้าไปชมงานเซรามิกพร้อมลงมือทำเองได้ เพราะศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพบ้านกุดนาขามมีจัดเวิร์คช็อปสำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่มเล็กๆ โดยจะมีเจ้าหน้าที่พาชมกระบวนการทำเซรามิก ตั้งแต่การเตรียมดิน การขึ้นรูปทรง การเขียนลาย จนสุดท้ายให้ลงมือทำด้วยตัวเอง

ความสนุกอยู่ที่การได้ลงมือรังสรรค์ผลงานของตัวเองนี่แหละ เพราะจะเป็นผลงานชิ้นเดียวในโลก และเป็นงาน Craftที่เราภาคภูมิใจ
ออกแบบลวดลาย สร้างสรรค์กันให้หนำใจ ให้สมกับที่ได้มา “เยี่ยมสกล ยลงานเฮ็ดมือ”

………….

การเดินทาง

จังหวัดสกลนคร อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ647 กิโลเมตร สามารถเดินทางได้หลายวิธี ถ้าเป็นรถยนต์ จากกรุงเทพฯ ให้ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 เดินทางถึงสระบุรีแล้วเลี้ยวขวาเข้าถนนมิตรภาพ(ทางหลวงหมายเลข 2) วิ่งไปเรื่อยๆ ผ่านนครราชสีมา เลี้ยวเข้าอำเภอบ้านไผ่ ขอนแก่น ไปจนถึงบ้านท่าพระ แล้วเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 23 ผ่านมหาสารคาม กาฬสินธุ์ แล้วเข้าทางหลวงหมายเลข 213 เข้าสู่สกลนคร

รถโดยสารประจำทาง มีบริการทุกวัน สอบถามที่ สถานีขนส่งสายตะวันออกเฉียงเหนือ(หมอชิต2) โทร. 0 2936 0657, 0 2936 1880 หรือ www.transport.co.th ส่วนรถไฟต้องไปลงที่สถานีอุบลราชธานี แล้วต่อรถไปอีก 159 กิโลเมตร สอบถาม โทร. 1690, 0 2220 4334 และ www.railway.co.th แต่ถ้าไวหน่อยก็แนะนำให้ใช้บริการเครื่องบิน สายการบินแอร์เอเชียมีเส้นทางบินดอนเมือง-สกลนครทุกวัน สอบถาม โทร. 0 2515 9999 หรือ www.airasia.com และสายการบินนกแอร์ โทร. 1318

สอบถามรายละเอียดการท่องเที่ยวเพิ่มเติมได้ที่ ททท.สำนักงานนครพนม โทร.0 4251 3490-1