อีคอมเมิร์ซสินค้าอุปโภคบริโภคยอดโต

อีคอมเมิร์ซสินค้าอุปโภคบริโภคยอดโต

ภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อชะลอตัวในปีที่ผ่านมา สะท้อนถึงพฤติกรรมการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค(FMCG) ที่มีอัตราการเติบโตต่ำสุดในรอบ 8ปี 

อิษณาติ วุฒิธนากุล ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท กันตาร์ เวิร์ลดพาเนล (ไทยแลนด์) หรือ KWP กล่าวว่ารายงานวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคด้านการจับจ่ายกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค(FMCG) พบว่าอัตราการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคของครัวเรือนไทยทั่วประเทศผ่านช่องทางค้าปลีกดั้งเดิมและค้าปลีกสมัยใหม่ ในปี 2559 เติบโต 1.7% ด้วยมูลค่า 4.4 แสนล้านบาท ถือเป็นการขยายตัวต่ำสุดในรอบ 8 ปี นับจากปี 2552  

โดยหมวดสินค้าของใช้ในครัวเรือน (Household) เติบโต 3.2% กลุ่มของใช้ส่วนบุคคล(Personal Care) เติบโต 2.9% และกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม (Food&Beverage) เติบโต 0.8%  ปัจจัยการขยายตัวต่ำด้านการจับจ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคปีก่อนมาจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ปัญหาหนี้ครัวเรือน ที่กระทบต่อกำลังซื้อ

ปัจจัยลบที่เกิดขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่เหตุการณ์น้ำท่วมปี 2554   ปัญหาการเมืองปี 2556  หนี้ครัวเรือนและรายได้ตกต่ำปี 2557  มาถึงภัยแล้งที่ส่งผลด้านเกษตรกรรมปี 2559  ล้วนส่งผลให้ผู้บริโภคขาดความมั่นใจในการจับจ่าย 

"ตัวเลขจับจ่ายอุปโภคบริโภคปีก่อนที่เติบโตต่ำสุดในรอบ 8 ปี มองว่ามาถึงจุดต่ำสุดแล้ว จะเริ่มกลับมาฟื้นตัวในปีนี้ คาดเติบโตราว 2-3%  จากปัจจัยเศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวดีกว่าปีก่อน”

เน้นจับจ่ายสินค้าราคาถูก

อย่างไรก็ตามหากพิจารณาพฤติกรรมการซื้อสินค้าปีก่อน ในกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม พบว่าในแง่ “มูลค่า” เติบโตต่ำ เพียง 0.8% แต่ในด้านปริมาณ ขยายตัว 9.7% สะท้อนถึงกำลังซื้อผู้บริโภคระมัดระวังจับจ่าย โดยหันมาซื้อสินค้าที่มีราคาถูก แต่เน้นปริมาณแทน

นอกจากนี้ยังพบว่าจำนวนการซื้อสินค้าในช่องทางการจำหน่ายต่างๆ ปี2559 ลดลง เทียบปีก่อน เช่นเดียวกับจำนวน“หมวดสินค้า”  กำลังซื้อที่ลดลงปีก่อน ยังสะท้อนมาจากสัดส่วนตัวเลขการซื้อสินค้าที่มีการจัดโปรโมชั่น ที่เพิ่มขึ้น จากปี 2554 อยู่ที่ 24% ปี 2559 เพิ่มเป็น 35%  โดยผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าที่จัดรายการลดราคาสินค้าเพื่อความคุ้มค่าในการใช้จ่ายมากขึ้น

ปีที่ผ่านมากำลังซื้อของผู้บริโภคในเขตเมืองและต่างจังหวัดอยู่ในภาวะตกต่ำใกล้เคียงกัน ดังนั้นในจังหวะที่ภาวะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวปีนี้และกำลังซื้อยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ กลยุทธ์การทำตลาดของสินค้าและแบรนด์ต่างๆ จึงควรให้ความสำคัญกับ“ราคา” และ“ขนาดบรรจุภัณฑ์”ที่คุ้มค่าต่อหน่วย  ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจซื้อ 

“กลยุทธ์การตลาดที่แตกต่างและตรงกลุ่มเป้าหมายของนักช้อปเฉพาะราย  รวมทั้งส่วนผสมการตลาดที่แข็งแกร่งและโปรโมชั่นที่โดนใจ ถือเป็นเครื่องมือสำคัญทำให้แบรนด์และสินค้าอยู่รอดและเติบโตได้” 

ไฮเปอร์มาร์เก็ตขยายตัว

อิษณาติ กล่าวว่าช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีแนวโน้มเติบโตในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คือ “ไฮเปอร์มาร์เก็ต”  ซึ่งปัจจุบันครองสัดส่วนราว 18.4% เนื่องจากเป็นกลุ่มที่นำเสนอโปรโมชั่นกระตุ้นกำลังซื้อต่อเนื่อง ตอบโจทย์ความคุ้มค่าในการจับจ่าย เช่นเดียวกับช่องทางร้านสะดวกซื้อ ที่มีสัดส่วน 10.8% ยังเติบโตจากการขยายสาขาของเชนร้านสะดวกซื้อ ขณะที่ร้านโชหวย ที่ครองส่วนแบ่ง 33.1% มีแนวโน้มลดลงในปี 2558-2559

ในกลุ่มไฮเปอร์มาร์เก็ต พบว่า “เทสโก้ โลตัส” มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งรูปแบบ เทสโก้ เอ็กซ์เพรส และเทสโก้ ตลาด  จากกลยุทธ์การนำเสนอสินค้าที่โฟกัสกลุ่มเป้าหมายครอบครัว ซึ่งเป็นกำลังซื้อหลักของสินค้าอุปโภคบริโภค ขณะที่“บิ๊กซี” มีทิศทางถดถอย จากการสำรวจกลุ่มผู้บริโภคที่เคยซื้อสินค้าจากบิ๊กซี พบว่ามีการเปลี่ยนช่องทางไปซื้อสินค้าในทุกช่องทางค้าปลีกทั้งรูปแบบดั้งเดิมและค้าปลีกสมัยใหม่ เช่นเดียวกับร้านโชหวย ที่ผู้บริโภคจับจ่ายลดลง และหันไปซื้อจากช่องทางโมเดิร์นเทรดเพิ่มขึ้น

 ทั้งนี้ กลุ่มสินค้าที่มีอัตราการเติบโตในปีที่ผ่านมา คือกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับอาหารที่ซื้อกลับไปรับประทานและปรุงที่บ้าน เช่น กระทิสำเร็จรูป เครื่องปรุงรส  ข้าว ผลไม้กระป๋อง รวมทั้ง เบียร์ ที่มีอัตราการซื้อเข้าบ้านมากขึ้น ซึ่งอาจมาจากการลดการจับจ่ายและดื่มสังสรรค์นอกบ้าน จากการระมัดระวังใช้จ่ายในปีที่ผ่านมา

อีคอมเมิร์ซ FMCG ยอดพุ่ง

อิษณาติ กล่าวว่าจากสถิติการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านช่องทางออนไลน์ หรืออีเมิร์ซ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีอัตราขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งด้านสัดส่วนครัวเรือนที่ซื้อสินค้าและมูลค่า โดยปี 2555 ครัวเรือนซื้อสินค้าออนไลน์อยู่ที่ 0.4% มูลค่า 67 ล้านบาท

ปี2559 สัดส่วนซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านช่องทางออนไลน์อยู่ที่ 7.3% มูลค่า 2,474 ล้านบาท หากเปรียบเทียบอัตราการเติบโตแบบปีต่อปี เรียกว่าเพิ่มขึ้นเป็น“เท่าตัว” หรือหากเทียบช่วง 5 ปีที่ผ่านมาโตเป็นพันเปอร์เซนต์

หากเปรียบเทียบข้อมูลช้อปออนไลน์ ปี2558 ที่มีมูลค่า 1,183 ล้านบาท และปี 2559 ที่มีมูลค่า 2,474 ล้านบาท หรือเติบโตราว 109% พบว่ามูลค่าที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวมาจากผู้บริโภคที่ลดสัดส่วนการซื้อช่องทางปกติ(ออฟไลน์) ได้แบ่งงบประมาณก้อนเดิมมาซื้อผ่านออนไลน์

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มนักช้อปออนไลน์เดิมที่ซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น 32% และกลุ่มที่ซื้อช่องทางออฟไลน์ เพิ่มงบประมาณซื้อผ่านออนไลน์เพิ่มขึ้น 38%

จากการพัฒนาด้านเทคโนโลยี สัดส่วนประชากรไทยใช้อินทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้น รวมทั้งปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนโยบาย “ประเทศไทย4.0” จะทำให้สัดส่วนครัวเรือนไทยซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นในปีนี้ คาดการณ์อยู่ที่ 10%

ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อชะลอตัว ส่งผลให้การจับจ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคปีที่ผ่านมา ขยายตัวเพียง 1.7% ต่ำสุดในรอบ 8 ปี โดยช่องทางจำหน่ายปกติทั้งรูปแบบดั้งเดิมและค้าปลีกสมัยใหม่บางช่องทางมียอดจับจ่ายลดลง และบางประเภทขยายตัวไม่สูง

ขณะที่การซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ หรือธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ยังเติบโตในอัตราสูง สะท้อนพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคนี้ที่ใช้เทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกและรวดเร็วผ่านบริการชอปปิง ออนไลน์มากขึ้น

ดังนั้นผู้ประกอบการต้องปรับตัว พัฒนาช่องทางออนไลน์ เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตในยุคไทยแลนด์ 4.0